backup og meta

วิธีใช้ ที่ตรวจเลือด เช็กระดับน้ำตาลของผู้ป่วย เบาหวาน

วิธีใช้ ที่ตรวจเลือด เช็กระดับน้ำตาลของผู้ป่วย เบาหวาน

โรคเบาหวานเกิดจากร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน หรือตับอ่อนผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ ส่งผลให้น้ำตาลจากอาหารสะสมในกระแสเลือดสูง และไม่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานไปใช้ในอวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้ นำไปสู่ปัญหาสุขภาพและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ จอประสาทตาเสื่อม โรคหลอดเลือด ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวาน จึงควรเช็กระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้เครื่องตรวจเลือดปลายนิ้ว และจดบันทึกทุกครั้งเพื่อแจ้งให้คุณหมอทราบเมื่อเข้ารับการตรวจสุขภาพ เพื่อรับการรักษาและควบคุมโรคเบาหวานได้อย่างเหมาะสม

เหตุผลที่ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือด

การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด อาจช่วยให้ผู้ป่วยและคุณหมอร่วมกันบรรเทาอาการเบาหวาน และควบคุมอาการเบาหวานเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น เพราะค่าระดับน้ำตาลในเลือดสามารถบ่งบอกได้ว่า พฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่ปฏิบัติอยู่ เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การใช้ยารักษา แผนการรักษาในปัจจุบันได้ผลมากน้อยเพียงใด เพราะหากยังมีอาการเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ระดับน้ำตาลในเลือดสูง คุณหมออาจปรับรูปแบบการรักษาใหม่ เพื่อให้ร่างกายตอบสนองต่อการรักษาเบาหวานมากยิ่งขึ้น

ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเมื่อไหร่

การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเองของแต่ละบุคคลอาจแตกต่างกันออกไปตามชนิดของโรคเบาหวานที่เป็น ดังนี้

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1

คุณหมออาจแนะนำให้ตรวจน้ำตาลในเลือด 4-10 ครั้ง/วัน ในช่วงเวลาหรือตามสถานการณ์ ดังต่อไปนี้

    • ก่อนรับประทานอาหาร ของว่าง 
    • ก่อนและหลังออกกำลังกาย
    • ก่อนนอน
    • ช่วงเวลากลางคืนเป็นบางครั้ง
    • เริ่มใช้ยาใหม่
    • เจ็บป่วยบ่อย
    • เปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2

คุณหมออาจแนะนำให้ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดวันละหลายครั้ง ในกรณีที่มีการใช้อินซูลินรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ร่วมด้วย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของอินซูลินที่ใช้ โดยปกติอาจให้ตรวจก่อนรับประทานอาหารและก่อนนอน 

กรณีที่ใช้อินซูลินที่ออกฤทธิ์ปานกลางหรือออกฤทธิ์ยาว ควรตรวจช่วงเวลาก่อนรับประทานอาหารเช้าและเย็นเท่านั้น สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ใช้อินซูลินในการรักษา เพียงแค่ควบคุมอาหารและออกกำลังกาย อาจไม่จำเป็นต้องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุกวัน

การเตรียมตัวก่อนตรวจเลือด

การเตรียมตัวก่อนตรวจเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน มีดังนี้

  • เช็กตัวเครื่องแสดงผลว่าพร้อมใช้งานหรือไม่
  • หลังจากแกะแผ่นทดสอบ ควรปิดบรรจุภัณฑ์แผ่นทดสอบทันที เพื่อป้องกันแผ่นทดสอบที่เหลือสัมผัสกับความชื้น
  • ล้างมือด้วยน้ำอุ่นและสบู่ให้สะอาด เช็ดมือด้วยทิชชู่หรือผ้าสะอาดให้แห้งสนิท
  • นวดมือเพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนไปสู่ปลายนิ้ว
  • ไม่ควรใช้แอลกอฮอล์ก่อนเจาะ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

วิธีใช้ ที่ตรวจเลือด สำหรับผู้ป่วย เบาหวาน

อุปกรณ์ตรวจเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวานมีลักษณะตัวเครื่องที่มีหน้าจอบอกค่าระดับน้ำตาล เข็มเจาะเลือดขนาดเล็กแบบใช้แล้วทิ้ง และแผ่นทดสอบ สำหรับวิธีใช้ที่ตรวจเลือด มีดังนี้

  1. ใช้เข็มแทงบริเวณปลายนิ้ว และบีบบริเวณโคนนิ้วเพื่อให้เลือดหยดลงบนแผ่นทดสอบ
  2. ทำความสะอาดนิ้วมือที่เจาะเลือดด้วยแอลกอฮอล์และปิดแผลเพื่อหยุดเลือด
  3. ใส่แผ่นแบบทดสอบเข้าในเครื่อง และรออ่านค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่ขึ้นบนจอไม่เกิน 15 วินาที พร้อมจดบันทึกว่าได้ค่าน้ำตาลในเลือดเท่าใด ตรวจในช่วงเวลาไหน เช่น หลังจากรับประทานอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังการออกกำลังกาย ก่อนรับประทานยาหรือหลังจากรับประทานยา
  4. ทิ้งแผ่นทดสอบและเข็มทดสอบ ทำความสะอาดอุปกรณ์ และเก็บไว้ในภาชนะที่ปิดสนิท ห่างไกลจากความชื้น และสภาพอากาศร้อนหรือเย็นจัด

การอ่านค่าระดับน้ำตาลในเลือด

การอ่านค่าระดับน้ำตาลในเลือดจากที่ตรวจเลือดสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานขึ้นอยู่กับรูปแบบการเลือกตรวจ โดยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้

  1. การตรวจเลือดแบบสุ่ม เป็นการวัดระดับน้ำตาลแบบไม่จำเป็นต้องงดอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งสามารถตรวจในช่วงเวลาใดก็ได้

ผลลัพธ์ค่าระดับน้ำตาลในเลือด หากมีระดับสูงเกินกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจสุ่มสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน

  1. การตรวจเลือดแบบอดอาหาร ก่อนการตรวจเลือดควรงดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเจือจางของเลือด และสามารถวัดความเข้มข้นของระดับน้ำตาลในเลือดได้

ผลลัพธ์ค่าระดับน้ำตาลในเลือด

  • ระดับปกติ จะมีค่าน้ำตาลในเลือด 99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือต่ำกว่า
  • ภาวะก่อนเบาหวาน จะมีค่าน้ำตาลในเลือด 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • โรคเบาหวาน จะมีค่าน้ำตาลในเลือด 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือสูงกว่า
  1. การตรวจเบาหวานจากการให้รับประทานกลูโคส คือ การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก่อนและหลังดื่มสารละลายกลูโคส โดยก่อนตรวจอาจจำเป็นต้องอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง และตรวจเลือดครั้งที่ 1 หลังจากนั้นให้ดื่มสารละลายกลูโคสประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อนตรวจเลือดครั้งที่ 2

ผลลัพธ์ค่าระดับน้ำตาลในเลือด

  • ระดับปกติ จะมีค่าน้ำตาลในเลือด 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือต่ำกว่า
  • ภาวะก่อนเบาหวาน จะมีค่าน้ำตาลในเลือด 140-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • โรคเบาหวาน จะมีค่าน้ำตาลในเลือด 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือสูงกว่า

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

How and When to Test Your Blood Sugar With Diabetes. https://www.webmd.com/diabetes/guide/how-test-blood-glucose . Accessed December 27, 2021

Monitoring Your Blood Sugar. https://www.cdc.gov/diabetes/managing/managing-blood-sugar/bloodglucosemonitoring.html . Accessed December 27, 2021

Diabetes Tests. https://www.cdc.gov/diabetes/basics/getting-tested.html . Accessed December 27, 2021

Home Blood Sugar Testing. https://www.webmd.com/diabetes/home-blood-glucose-testing . Accessed December 27, 2021

Diabetes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes/diagnosis-treatment/drc-20371451 . Accessed December 27, 2021

Blood sugar test. https://medlineplus.gov/ency/article/003482.htm . Accessed December 27, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/03/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผักสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ช่วยลดน้ำตาลในเลือด

ควบคุม เบาหวาน ด้วย IF ทำได้อย่างไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 23/03/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา