backup og meta

อาการเบาหวานขึ้นเป็นอย่างไร วิธีดูแลผู้ป่วยเบาหวาน

อาการเบาหวานขึ้นเป็นอย่างไร วิธีดูแลผู้ป่วยเบาหวาน

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ที่มีสาเหตุมาจากร่างกายผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือร่างกายไม่อาจนำน้ำตาลไปใช้ได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรดูแลสุขภาพร่างกายเป็นประจำ เข้าพบคุณหมอสม่ำเสมอตามนัดและทำตามคำแนะนำ รวมไปถึงหมั่นสังเกตว่า อาการเบาหวานขึ้นเป็นอย่างไร และมีโรคแทรกซ้อนอะไรบ้างที่ควรระวัง 

[embed-health-tool-bmi]

อาการเบาหวานขึ้นเป็นอย่างไร 

อาการเบาหวานขึ้นเป็นอย่างไรนั้น ผู้ป่วยที่ไม่เคยทราบมาก่อนว่าเป็นเบาหวาน หรือผู้ป่วยเบาหวาน เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ดังนี้

  • กระหายน้ำบ่อยและดื่มน้ำมาก 
  • ปัสสาวะบ่อย บางรายอาจพบมดขึ้นปัสสาวะได้
  • น้ำหนักตัวลดลงและผอมลง ทั้งที่รับประทานอาหารมาก
  • แผลหายช้า ติดเชื้อง่าย
  • อ่อนเพลีย 
  • ชาปลายมือปลายเท้า 
  • สายตาผิดปกติ ตาพร่ามัว 
  • อาจมีอาการคันตามร่างกาย 

เมื่อเกิดอาการเบาหวานขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก ผู้ป่วยจะมีอาการซึม หอบ หรือหมดสติได้ นอกจากนี้ยังต้องระมัดระวังโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

โรคแทรกซ้อนที่ควรระวัง

อาการเบาหวานหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเกิดเป็นโรคแทรกซ้อนอื่นที่อันตรายตามมาได้ เช่น

  1. ภาวะแทรกซ้อนต่อดวงตาที่อาจส่งผลให้เกิดต้อกระจกก่อนวัยอันควร ประสาทตาหรือจอตาเสื่อม มีเลือดออกในวุ้นลูกตา เกิดอาการตามัว มองเห็นจุดดำลอยไปมา เมื่อเบาหวานขึ้นจอประสาทตา อาจรุนแรงถึงขั้นตาบอดได้ 
  2. เกิดปลายประสาทอักเสบ ปวดแสบปวดร้อน ชาตามปลายมือปลายเท้า ส่งผลให้เกิดแผลที่เท้าได้ง่าย
  3. พบโปรตีนรั่วในปัสสาวะ อาจเป็นโรคไตเสื่อม จนอาจเกิดภาวะไตวายได้ ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานจะมีอาการบวม ซีด ความดันโลหิตสูงร่วมด้วย
  4. เกิดอาการหลอดเลือดหัวใจอุดตันทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมองอุดตันหรือหลอดเลือดแตก ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต 
  5. ประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันต่ำลงจึงเกิดโรคติดเชื้อได้ง่าย เช่น วัณโรคปอด การอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ ผิวหนังเป็นเชื้อรา 

นอกจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงที่ต้องระวังแล้ว ยังมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ กรณีผู้ป่วยเบาหวานใช้ยาเกินขนาด หรือออกกำลังกายมากเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการหิว หงุดหงิด ปวดศีรษะ ใจสั่น มือสั่น เหงื่อแตก หน้ามืด หมดสติหรือชักได้ หากผู้ป่วยเบาหวานเริ่มมีอาการรุนแรงขึ้นให้รีบไปโรงพยาบาลทันที 

วิธีดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคเบาหวาน

นอกจากการรักษาโรคเบาหวานด้วยยาเบาหวานแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญ เช่น

  • ควบคุมอาหาร โดยเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอเหมาะ เปลี่ยนจากข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท หรือธัญพืชไม่ขัดสี เพื่อเพิ่มใยอาหารในแต่ละมื้อ ช่วยให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลช้าลง ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้   
  • ลดการบริโภคน้ำตาลและหลีกเลี่ยงอาหารน้ำตาลสูง เลือกเป็นผลไม้ที่ไม่หวานจัด เช่น กล้วย แอปเปิลเขียว และฝรั่ง
  • ดื่มน้ำเป็นประจำ โดยค่อย ๆ จิบตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะผู้ที่ออกกำลังกายควรจิบน้ำทุก 10-15 นาที
  • หากต้องการดื่มนมให้ดื่มนมจืดไม่เกิน 1 แก้วต่อวัน ส่วนนมเปรี้ยวจะมีปริมาณน้ำตาลสูงควรระวัง
  • ออกกำลังกายเป็นประจำช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควรเลือกการออกกำลังกายที่ไม่ใช้แรงกระแทกหนัก เช่น การเดิน การขี่จักรยาน และการว่ายน้ำ
  • ป้องกันร่างกายไม่ให้เกิดแผล โดยเฉพาะบริเวณเท้า ไม่ควรสวมรองเท้าคับ หากพบว่ามีบาดแผลที่เท้าให้พบแพทย์ทันที

เมื่อทราบแล้วว่า อาการเบาหวานขึ้นเป็นอย่างไร และพบอาการต้องสงสัยว่าเป็นโรคเบาหวาน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

กรมอนามัย แนะ ผู้เป็นเบาหวานคุมปริมาณข้าว-แป้ง เลี่ยงอาหารน้ำตาลสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ. https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/121164/. Accessed April 18, 2023.
อาหารสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวาน. https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1477. Accessed April 18, 2023.
สายตาผิดปกติจากโรคเบาหวานและการป้องกัน. https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=441. Accessed April 18, 2023.
กรมควบคุมโรค รณรงค์วันเบาหวานโลก ปี 2563 หนุนบทบาทพยาบาลร่วมสร้างพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงโรคเบาหวาน. https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=15591&deptcode=brc&news_views=640. Accessed April 18, 2023.
โรคเบาหวาน. https://www.tm.mahidol.ac.th/th/tropical-medicine-knowledge/diabetes-th.pdf. Accessed April 18, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

18/04/2023

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ขาร้อน เบาหวาน สัญญาณของภาวะเบาหวานลงเท้า

ตารางค่าน้ำตาลในเลือด ที่ควรรู้เพื่อควบคุมโรคเบาหวาน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 18/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา