โรคเบาหวานคือภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป (หากตรวจหลังอดอาหารมาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง) อาการโรคเบาหวาน อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับระดับน้ำตาลและภาวะสุขภาพ หากพบว่ามีอาการเหนื่อยล้าง่าย น้ำหนักลดผิดปกติ ความอยากอาหารมากขึ้น หิวบ่อย กระหายน้ำบ่อยและปัสสาวะมากกว่าปกติ อาจเป็นอาการที่เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และเป็นสัญญาณของโรคเบาหวาน ควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม
[embed-health-tool-bmi]
โรคเบาหวาน คืออะไร
โรคเบาหวาน คือ โรคที่เกิดจากเซลล์ของตับอ่อนบกพร่องไปซึ่งโดยปกติแล้ว เซลล์ของตับอ่อน ชื่อ เบต้าเซลล์ (Beta cells) จะทำหน้าที่ผลิตอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักในการควบคุมระดับน้ำตาลในกระเเสเลือด ทั้งนี้โรคเบาหวานอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ โรคเบาหวานชนิดที่ 1 และโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- โรคเบาหวานชนิดที่ 1 มักพบตั้งแต่วัยเด็ก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นกับวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวได้เช่นกัน เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างภูมิไปทำลายเบต้าเซลล์ในตับอ่อนซึ่งเป็นเซลล์ที่ที่ทำหน้าที่ในการสร้างอินซูลิน จึงทำให้ผลิตอินซูลินได้ลดลงไม่เพียงพอที่จะจัดการกับน้ำตาลได้อย่างเหมาะสม จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคเบาหวานชนิดที่พบได้มากกว่า 95% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด มักเกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin resistance) ซึ่งเป็นภาวะที่เซลล์ในร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินบกพร่องไป อาจเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น ไม่ค่อยออกกำลังกาย น้ำหนักเกิน การรักษาโรคเบาหวานชนิดนี้ สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาลดระดับน้ำตาลร่วมกับการควบคุมการรับประทานอาหาร และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
โรคเบาหวานนี้ควรจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสมอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตราย เช่น
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคเส้นเลือดสมองตีบ/แตก
- โรคไตวายเรื้อรัง
- ปัญหาเกี่ยวกับจอประสาทตา หรือภาวะเบาหวานขึ้นตา
- โรคเส้นประสาทเสื่อมจากเบาหวาน
- ปัญหาสุขภาพเท้า เช่น แผลที่เท้า เท้าบวม
สัญญาณของ อาการโรคเบาหวาน ที่ควรรู้
อาการโรคเบาหวานอาจแตกต่างกันไปในเเต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับระดับของน้ำตาลในเลือดและภาวะสุขภาพ โดยอาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 จะรุนแรงมากกว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เนื่องจากมีการดำเนินโรคที่เร็วกว่า ส่วนภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) หรือผู้ที่เป็นเบาหวานเเล้ว เเต่ยังมีระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงมากนัก อาจไม่แสดงอาการอย่างชัดเจน
อาการที่อาจเป็นสัญญาณของโรคเบาหวาน มีดังนี้
กระหายน้ำมากผิดปกติ และปัสสาวะบ่อย
เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ่น ร่างกายจะขับน้ำตาลส่วนเกินทิ้งทางปัสสาวะ ทำให้ผู้ที่เป็นเบาหวาน เเล้วควบคุมได้ไม่ดี มีอาการปัสสาวะบ่อย เเละบางรายหลังจากที่เข้านอนเเล้ว ยังต้องตื่นมาปัสสาวะหลายครั้งหลังจากหลับไป จึงเท่ากับเป็นการเสียน้ำออกจากร่างกาย เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยรู้สึกกระหายน้ำเพิ่มมากขึ้นด้วย
ริมฝีปากแห้ง ผิวแห้งเเละคัน
เนื่องจากร่างกายเสียน้ำไปทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น หากดื่มน้ำทดแทนได้ไม่เพียงพอ ก็จะทำให้สมดุลน้ำในร่างกายเสียไป เกืดภาวะขาดน้ำ จึงทำให้ความชุ่มชื้นของร่างกายและผิวหนังน้อยลง อาการริมฝีปากปากแห้งแตกลอก ผิวหนังแห้ง รู้สึกคัน และระคายเคืองง่าย
น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
โดยปกติแล้ว ฮอร์โมนอินซูลินกระตุ้นให้เซลล์นำตาลในเลือดไปเผาผลาญเป็นพลังงาน เเต่ในบางภาวะ เช่น ตับอ่อนสร้างอินซุลินได้น้อยลง ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้ ร่างกายจึงต้องมาเผาผลาญ ไขมัน รวมไปถึงกล้ามเนื้อเเทน จึงทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีน้ำหนักลดลง ดูซูบผอมลงได้
ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น หิวบ่อย รู้สึกอ่อนเพลีย
ผู้ที่เป็นเบาหวานบางรายอาจมีอาการรู้สึกหิวตลอดเวลา หรือ ความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้นผิดปกติ ภาวะนี้เกิดจากร่างกายสร้างอินซูลินไม่เพียงพอ หรือเซลล์ต่อต้านอินซูลินที่ตับอ่อนสร้างขึ้น ร่างกายจึงไม่สามารถแปลงอาหารที่รับประทานไปเป็นพลังงานได้ จนร่างกายขาดพลังงาน ส่งผลให้รู้สึกหิวบ่อยหรืออ่อนเพลียกว่าปกติ
มองเห็นไม่ชัดเจน
หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลทำลายหลอดเลือดฝอยบริเวณจอประสาทตา ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่รับภาพและแสง หรืออาจทำให้เลนส์ตาบวมเป็นสาเหตุให้การมองเห็นแย่ลง
บาดแผลหายช้า
เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง อาจทำให้เส้นเลือดส่วนปลายตีบหรืออุดตันทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี รวมทั้งเกิดภาวะเส้นประสาทเสื่อมจากเบาหวาน อีกทั้งยังอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เซลล์เม็ดเลือดขาวมีประสิทธิภาพลดลง ซึ่งภาวะเหล่านี้ล้วนส่งผลให้กระบวนการซ่อมแซมบกพร่อง บาดแผลจึงหายช้ากว่าปกติ
ติดเชื้อรา
เนื่องจากน้ำตาลเป็นอาหารของเชื้อรา เเละเม็ดเลือดขาว ซึ่งมีหน้าที่จัดการกับเชื้อโรคต่าง ๆ จะทำงานได้ไม่ดีเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง จึงทำให้ราเจริญเติบโตได้ง่ายและเกิดการติดเชื้อได้เช่น การติดเชื้อราในช่องปาก ผื่นเชื้อราที่ผิวหนัง ตกขาวจากการติดเชื้อราในช่องคลอด
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคเบาหวาน
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคเบาหวาน อาจทำได้ดังนี้
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ เเละ ภาวะอ้วนลงพุง ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็น สาเหตุหลักในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ดังนั้น จึงควรดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หากมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ควรควบคุมอาหาร เพิ่มการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมทางกาย เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก อย่างสม่ำเสมอ
- ขยับร่างกายอยู่เสมอ การขยับกล้ามเนื้อบ่อย ๆ นับเป็นการออกกำลังกายวิธีหนึ่งเช่นกัน จึงอาจช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลินได้ เเละยังเพิ่มการเผาผลาญน้ำตาลที่กล้าม้นื้ออีกด้วย นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเนือยนิ่งหรืออยู่กับที่เป็นเวลาหลายชั่วโมงโดยไม่ลุกไปไหน (Sedentary lifestyle);เช่น นั่งทำงาน นั่งดูโทรทัศน์ ต่อเนื่องกันนาน ๆ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วน และโรคเบาหวานได้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- เลือกรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตชนิดดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ ธัญพืช พืชตระกูลถั่ว
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ เช่น มาการีนหรือเนยเทียม ครีมเทียม เนยขาว
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน หนังสัตว์ น้ำมันหมู กะทิ
- รับประทานโปรตีนที่มีคุณภาพดี ได้เเก่ เนื้อปลา เช่น ปลาทู ปลาช่อน ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน อย่างน้อย 2 มื้อ/สัปดาห์