อาการ เบาหวาน ขึ้น หมายถึงอาการที่ผู้ป่วยเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งหากปล่อยไว้เป็นเวลานานโดยไม่ทำการรักษา อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น เส้นประสาทเสียหาย มีปัญหาด้านการมองเห็น กระดูกและข้อเสื่อม โรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ด้วยการใช้ยารักษาเบาหวานตามคำแนะนำของคุณหมอ เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ออกกำลังกายเป็นประจำ และควรวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ
[embed-health-tool-bmi]
สาเหตุของอาการเบาหวานขึ้น
สาเหตุของอาการเบาหวานขึ้น เกิดจากร่างกายได้รับน้ำตาลกลูโคสจากอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตในปริมาณมาก เช่น ขนมปังขาว ข้าวขาว พาสต้า ขนมหวาน น้ำอัดลม แต่อินซูลินภายในร่างกายไม่สามารถจัดการกับน้ำตาลเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม ทั้งจากการที่มีปริมาณของอินซูลินไม่พอ หรือจากการที่มีภาวะดื้ออินซูลิน จนส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษา อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้
สัญญาณเตือนของอาการเบาหวานขึ้น
สัญญาณเตือนของอาการเบาหวานขึ้น มีดังนี้
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 180-200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ปวดศีรษะ
- มองเห็นภาพซ้อน ตาพร่ามัว
- อาการชาที่มือและเท้า
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- รู้สึกร่างกายขาดน้ำ กระหายน้ำมาก
- คันผิวหนังเนื่องจากผิวแห้ง
- ปัสสาวะบ่อย
หากปล่อยให้น้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงส่งผลให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด และอาจก่อให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
- คลื่นไส้ อาเจียน
- หายใจถี่เร็ว
- ริมฝีปากแห้ง และอาจมีกลิ่นปาก หรือกลิ่นลมหายใจ
- ปวดท้อง
ควรพบคุณหมอทันทีหากระดับน้ำตาลในเลือดไม่ยอมลดลงแม้ว่าจะใช้ยารักษาเบาหวานแล้ว มีไข้สูงนานกว่า 1 วัน รวมถึงมีอาการท้องร่วง อาเจียนบ่อยครั้ง
วิธีป้องกันอาการเบาหวานขึ้น
วิธีป้องกันอาการเบาหวานขึ้น อาจทำได้ดังนี้
- ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที เป็นเวลา 5 วัน/สัปดาห์ เช่น การวิ่ง เดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน โยคะ อาจช่วยกระตุ้นการผลิตอินซูลินภายในร่างกาย และอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
ควรเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีไขมันดี แคลอรี่ต่ำ และมีใยอาหารสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า อัลมอนด์ ถั่วลิสง มะเขือเทศ ผักใบเขียว ขนมปังโฮลวีต เพื่อช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาล ไขมัน และคอเลสเตอรอลจากอาหาร และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและแป้งสูงในปริมาณมาก เช่น ขนมหวาน น้ำอัดลม ข้าวขาว เพื่อป้องกันไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากเกินไป
- หยุดสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ที่อาจนำไปสู่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
- ตรวจน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ
ควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ เพื่อให้แน่ใจว่าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยอาจใช้เครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดตรวจด้วยตัวเอง พร้อมกับจดบันทึกค่าน้ำตาลในเลือดที่ได้แต่ละครั้ง เพื่อแจ้งให้คุณหมอทราบภายหลัง โดยการวัดระดับน้ำตาลในเลือดสามารถทำได้ 3 วิธีดังนี้
- การตรวจน้ำตาลในเลือดแบบสุ่ม เป็นการวัดระดับน้ำตาลที่สามารถตรวจในช่วงเวลาใดก็ได้และไม่จำเป็นต้องอดอาหารและเครื่องดื่ม
- การตรวจน้ำตาลในเลือดหลังจากอดอาหาร ก่อนการตรวจเลือดควรอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเจือจางของเลือด
- การตรวจเบาหวานจากการให้รับประทานกลูโคส คือ การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก่อนและหลังดื่มสารละลายกลูโคส โดยการตรวจครั้งที่ 1 ควรอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ก่อนตรวจ หลังจากนั้นให้ตรวจเลือดครั้งที่ 2 โดยให้ดื่มสารละลายกลูโคสประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อนจะตรวจ และควรจดบันทึกให้ละเอียด