โรคเบาหวาน เป็นโรคที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป และอาหารก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อระดับน้ำตาลในกระแสเลือด ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องใส่ใจอาหารที่รับประทาน เพื่อไม่ให้ระดับน้ำตาลสูงเกินไปจนทำให้หลอดเลือดและระบบร่างกายผิดปกติ ซึ่ง อาหารสําหรับคนเป็นเบาหวาน ควรเป็นอาหารที่มีใยอาหารสูง และมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ทำให้อิ่มได้นานและไม่หิวบ่อย รวมทั้งควรเป็นอาหารที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ และคงที่
[embed-health-tool-bmr]
อาหารสําหรับคนเป็นเบาหวาน มีอะไรบ้าง
อาหารสำหรับคนเป็นเบาหวานที่รับประทานในปริมาณที่เหมาะสมแล้วไม่ทำให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ อาจมีดังนี้
โปรตีน
อาหารสำหรับคนเป็นเบาหวานประเภทโปรตีนเหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ได้แก่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมันและหนัง ไข่ นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว พืชตระกูลถั่ว (เช่น ถั่วฝักยาว ถั่วพู ถั่วแดง ถั่วเหลือง) โดยผู้ป่วยเบาหวานสามารถรับประทานได้ในปริมาณที่ไม่ต่างจากคนทั่วไป แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนหลังจากเป็นโรคเบาหวานมาเป็นเวลาหลายปี เช่น โรคไตเรื้องรัง คุณหมออาจแนะนำให้จำกัดการรับประทานโปรตีน เพราะการรับประทานโปรตีนที่มากเกินไปอาจทำให้ความดันภายในไตเพิ่มขึ้น และอาจทำให้ไตทำงานหนักขึ้นเพื่อกรองของเสีย ทั้งยังอาจทำให้เนื้อไตเสียหายจนทำให้อาการแย่ลงได้
ผักและผลไม้
ผักและผลไม้อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ เช่น วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี แคลเซียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม ทั้งยังมีเส้นใยอาหารสูง จึงเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน อย่างไรก็ตาม ควรเลือกรับประทานผักและผลไม้สดที่มีค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index หรือ GI) ต่ำ เพราะจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในกระแสเลือดได้ช้าและคงที่กว่าผักและผลไม้ที่มีดัชนีน้ำตาลสูง โดยผักและผลไม้ชนิดที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน ได้แก่ กะหล่ำปลี บร็อคโคลี่ มะเขือเทศ ผักโขม ปวยเล้ง เกรปฟรุต ส้ม แอปเปิล
ไขมัน
ผู้ป่วยเบาหวานควรเน้นรับประทานไขมันไม่อิ่มตัวซึ่งเป็นไขมันดี ซึ่งอาจช่วยลดไขมันเลวหรือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low density lipoprotein หรือ LDL) ในกระแสเลือด ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยอาหารประเภทไขมันที่อาจเหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ได้แก่ อะโวคาโด อัลมอนด์ ถั่วลิสง วอลนัต เมล็ดแฟลกซ์ เมล็ดทานตะวัน เมล็ดเจีย ปลาแซลมอน น้ำมันคาโนล่า น้ำมันเมล็ดแฟลกซ์
คาร์โบไฮเดรต
คาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารจำพวกแป้งที่เป็นแหล่งพลังงานหลักให้กับร่างกาย โดยจะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาลหรือกลูโคสและหล่อเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ซึ่งคาร์โบไฮเดรตที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน ควรเป็นคาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสีที่มีเส้นใยอาหารสูง ใช้เวลาย่อยนาน และดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ช้า โดยคาร์โบไฮเดรตชนิดที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน ได้แก่ ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ควินัว
อาหารที่คนเป็นเบาหวานไม่ควรรับประทาน มีอะไรบ้าง
อาหารที่คนเป็นเบาหวานไม่ควรรับประทานมักเป็นอาหารที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ดังนี้
- อาหารน้ำตาลสูงเช่น ผลไม้กระป๋อง น้ำผึ้ง น้ำผลไม้ใส่น้ำเชื่อม ขนมหวาน รวมทั้งอาหารและเครื่องดื่มรสหวานต่าง ๆ เนื่องจากน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น ภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ โรคอ้วน โรคหัวใจและโรคหลอดเลือด
- คาร์โบไฮเดรตขัดสีเช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว ข้าวขาว ขนมอบ ขนมปังขาว เพราะมีใยอาหารต่ำ ร่างกายจึงถูกดูดซึมและย่อยสลายเป็นน้ำตาลได้เร็ว ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นทันทีหลังบริโภค
- อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวไขมันอิ่มตัวเป็นไขมันที่พบได้ในมันหรือหนังของเนื้อสัตว์ รวมถึงในเนย น้ำมันปาล์ม น้ำมันหมู น้ำสลัด และอาหารขยะ การบริโภคไขมันอิ่มตัวจะทำให้คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low-density Lipoprotein หรือ LDL) ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ทำให้คนเป็นเบาหวานเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
- อาหารที่มีไขมันทรานส์ไขมันทรานส์เกิดจากกระบวนการแปรรูปอาหาร ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อร่างกายเนื่องจากลดไขมันชนิดดีและเพิ่มไขมันชนิดไม่ดีในเส้นเลือด จึงทำเกิดภาวะไขมันสะสมตามผนังหลอดเลือด และก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โดยมีไขมันทรานส์ มักพบในเนยขาว ครีมเทียม และในผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ต่าง ๆ นอกจากนี้ ไขมันทรานส์ยังอาจทำให้เซลล์ในร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ลดลง ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินซึ่งเป็นสาเหตุของเบาหวาน และยังทำให้ผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากขึ้น
- เนื้อสัตว์แปรรูปเช่น ไส้กรอก เบคอน แฮม มักมีในเกลือปริมาณมาก จึงอาจทำให้ความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยเบาหวานแย่ลง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเบาหวานอาจบริโภคเกลือได้ แต่ไม่ควรเกิน 1 ช้อนชา/วัน
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป อาจกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ซึ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง หากบริโภคร่วมกับยาต้านเบาหวาน อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงต่ำกว่าเกณฑ์จนเป็นผลอันตรายต่อสุขภาพ