backup og meta

อาหาร คนเป็น เบาหวาน ไม่ควรกิน มีอะไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 30/11/2022

    อาหาร คนเป็น เบาหวาน ไม่ควรกิน มีอะไรบ้าง

    อาหาร คนเป็น เบาหวาน ไม่ควรกิน คือ อาหารที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังบริโภค ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยเป็นไปได้ยากขึ้น และอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเบาหวานซึ่งจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ มากขึ้น โดยอาหารที่ คนเป็น เบาหวาน ไม่ควรกิน ได้แก่ คาร์โบไฮเดรตขัดสีอย่างขนมปังขาว เส้นก๋วยเตี๋ยว ข้าวขาว และอาหารที่อุดมไปด้วยน้ำตาลอย่างผลไม้กระป๋องในน้ำเชื่อม น้ำผึ้ง น้ำผลไม้ ผลไม้แห้ง

    เบาหวานคืออะไร

    โรคเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อเป็นแล้วจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เพราะตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยกว่าความต้องการของร่างกายหรือไม่ได้เลย หรืออาจเกิดจากการที่เซลล์ในร่างกายตอบสนองต่อฤทธิ์ของอินซูลินได้ไม่ดี จึงไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลไปเป็นพลังงานได้ ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดบกพร่อง ส่งผลให้น้ำตาลสะสมในกระแสเลือดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะเบาหวานขึ้นตา ภาวะความดันโลหิตสูง

    ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและเหมาะแก่สุขภาพ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลไม่ให้สูงเกินไป

    อาหาร คนเป็น เบาหวาน ไม่ควรกิน มีอะไรบ้าง

    อาหารที่คนเป็นเบาหวานไม่ควรรับประทาน มักเป็นอาหารที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังบริโภค ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ได้แก่ อาหารต่าง ๆ ต่อไปนี้

    • คาร์โบไฮเดรตขัดสี เช่น ขนมปังขาว เส้นก๋วยเตี๋ยว ข้าวขาว ขนมอบ เพราะมีใยอาหารต่ำ จึงถูกดูดซึมและย่อยสลายเป็นน้ำตาลได้เร็ว ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นทันทีหลังบริโภค
    • อาหารน้ำตาลสูง เช่น ผลไม้กระป๋องในน้ำเชื่อม น้ำผึ้ง น้ำผลไม้ ผลไม้แห้ง แยม ผลไม้เชื่อม ขนมหวาน รวมทั้งอาหารและเครื่องดื่มแต่งรสหวานต่าง ๆ เนื่องจากน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มเหล่านั้นจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังบริโภค เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคแทรกซ้อนหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคอ้วน ภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ โรคหัวใจและโรคหลอดเลือด
    • อาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ไขมันอิ่มตัวเป็นไขมันที่พบได้ในมันหรือหนังของสัตว์ รวมถึงในเนย มายองเนส น้ำมันปาล์ม น้ำมันหมู มันฝรั่งทอด น้ำสลัด และอาหารขยะ การบริโภคไขมันอิ่มตัวจะทำให้คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low-density Lipoprotein หรือ LDL) ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ทำให้คนเป็นเบาหวานเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
    • อาหารที่มีไขมันทรานส์ ไขมันทรานส์เป็นไขมันที่เกิดจากกระบวนการแปรรูปอาหาร ส่งผลเสียต่อร่างกายเนื่องจากลดไขมันชนิดดีและเพิ่มไขมันชนิดไม่ดีในเส้นเลือด และทำเกิดภาวะไขมันสะสมตามผนังหลอดเลือด ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ความดันโลหิตสูง มักพบในมาการีน เนยขาว ครีมเทียม และในผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ต่าง ๆ งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างกรดไขมันอิ่มตัวและภาวะดื้ออินซูลิน ตีพิมพ์ในวารสาร Brazilian Journal of Medical and Biological Research ปี พ.ศ. 2555 นักวิจัยได้ศึกษาภาวะสุขภาพของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 127 ราย ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมนอินซูลินและผู้ที่ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการตอบสนองต่ออินซูลินของเซลล์ในร่างกาย โดยพบข้อสรุปว่า ไขมันทรานส์มีคุณสมบัติทำให้เซลล์ในร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้แย่ลง ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน และยังทำให้คนเป็นโรคเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากขึ้น
    • เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น เบคอน แฮม ไส้กรอก ลูกชิ้น มักประกอบด้วยเกลือปริมาณมาก จึงอาจทำให้ภาวะความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยเบาหวานแย่ลงได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยเบาหวานและคนทั่วไปควรบริโภคเกลือไม่เกินวันประมาณ 1 ช้อนชา

    นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานยังควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการดื่มครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป จะกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ซึ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง หากบริโภคร่วมกับยาต้านเบาหวาน  อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ปลอดภัยจนเป็นผลอันตรายต่อสุขภาพได้

    อาหาร คนเป็น เบาหวาน ควรกิน มีอะไรบ้าง

    ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและเหมาะสมกับสุขภาพ ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว  ซึ่งได้แก่อาหารต่อไปนี้

    • ธัญพืชขัดสี เช่น ข้าวโอ๊ต คีนัว ข้าวฟ่าง ข้าวกล้อง
    • ผัก ผลไม้ เช่น ผักโขม แอปเปิ้ล อะโวคาโด สตรอว์เบอร์รี่
    • ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว พบมากในอะโวคาโด น้ำมันคาโนลา น้ำมันมะกอก ถั่วลิสง เนยถั่ว น้ำมันดอกทานตะวัน เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น
    • ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน พบมากใน น้ำมันดอกคำฝอย ถั่วเหลือง เต้าหู้ ไข่ ปลาแมกเคอเรล ปลาแซลมอน เป็นต้น
    • ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีไขมันต่ำ เช่น ไข่ไก่ ปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดหนัง
    • ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นมสด โยเกิร์ตที่ไม่เติมน้ำตาล
    • เครื่องดื่มไม่มีรสชาติหรือไม่เติมน้ำตาล เช่น น้ำเปล่า ชาเขียว กาแฟดำ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 30/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา