การ เจาะน้ำตาลปลายนิ้ว ไม่อดอาหาร เป็นวิธีตรวจระดับน้ำตาลในเลือดรูปแบบหนึ่ง โดยจะมีการวัดผล 2 ประเภท คือ การตรวจฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี (Hemoglobin A1C หรือ HbA1C) หรือการตรวจระดับน้ำตาลสะสมและการตรวจระดับน้ำตาลแบบสุ่ม ซึ่งสามารถใช้เพื่อคัดกรองและวินิจฉัยโรคเบาหวาน รวมทั้งใช้สำหรับประเมินและติดตามการควบคุมโรคเบาหวานของผู้ป่วยได้ การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดรูปแบบนี้มีข้อดี คือ ผู้ที่จะเข้ารับการตรวจไม่จำเป็นต้องอดอาหารมาล่วงหน้า
[embed-health-tool-bmi]
การเจาะน้ำตาลปลายนิ้ว ไม่อดอาหาร ใช้ในกรณีใดบ้าง
การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการ เจาะน้ำตาลปลายนิ้ว ไม่อดอาหาร อาจมีประโยชน์ดังต่อนี้
- ประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวาน คุณหมออาจสั่งตรวจน้ำตาลในเลือดในผู้ที่มีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เช่น ปวดศีรษะ สายตาพร่ามัว อ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย หิวบ่อย กระหายน้ำบ่อย รวมถึงใช้ตรวจในผู้ที่เป็นเบาหวานอยู่เดิม เพื่อบอกถึงการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- มีการใช้ยาที่อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ยากดภูมิบางชนิด จึงจำเป็นต้องตรวจเลือดเป็นระยะเพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่
- ตรวจสุขภาพเบื้องต้น เช่น การตรวจสุขภาพประจำปี หรือ การตรวจสุขภาพก่อนเข้ารับการทำงาน
เจาะน้ำตาลปลายนิ้ว ไม่อดอาหาร มีแบบไหนบ้าง
การตรวจระดับน้ำตาล โดยการเจาะน้ำตาลปลายนิ้วแบบไม่ต้องอดอาหาร (Non fasting blood tests) อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังต่อไปนี้
1. การตรวจระดับน้ำตาลสะสม HbA1c
การตรวจฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี หรือการตรวจระดับน้ำตาลสะสม (Hemoglobin A1C หรือ HbA1c) เป็นการตรวจวัดระดับน้ำตาลที่จับอยู่กับโปรตีนชื่อฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดง (Glycated hemoglobin) ซึ่งจะบ่งบอกถึงการควบคุมระดับน้ำตาลโดยเฉลี่ยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา
การตรวจฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี สามารถทำได้ด้วยการเจาะเลือดที่โรงพยาบาล ซึ่งจะให้ผลตรวจที่เชื่อถือได้มากที่สุด (ชุดตรวจ HbA1c จากการเจาะเลือดปลายนิ้วด้วยตัวเองเช่นเดียวกับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก็มีให้เลือกใช้งาน แต่ค่าที่ได้อาจคลาดเคลื่อนและไม่แม่นยำเท่ากับการตรวจที่โรงพยาบาล) การตรวจระดับฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี จะช่วยประเมินการควบคุมโรคเบาหวานของผู้ป่วยในระยะยาวได้ จึงเป็นประโยชน์ในการวางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของผู้ป่วยได้มากที่สุด และช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานในระยะยาว เช่น โรคเบาหวานขึ้นตา โรคไต โรคหัวใจ อีกทั้งการตรวจฮีโมโกลบิน เอ วัน ซียังสามารถใช้ในการคัดกรองโรคเบาหวานได้อีกด้วย
ค่าน้ำตาลสะสม หรือค่าฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี สามารถแปลผลได้ดังนี้
- ต่ำกว่า 5.7% หมายถึง ปกติ
- 5.7-6.4% หมายถึง ระดับน้ำตาลสะสมเกินเกณฑ์ หรือมีภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes)
- 6.5% ขึ้นไป หมายถึง เข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน
2. การตรวจระดับน้ำตาล ไม่อดอาหาร แบบ Random blood glucose test
การตรวจน้ำตาลในเลือดแบบสุ่ม (Random blood glucose test) สามารถตรวจได้ทั้งการตรวจปลายนิ้วและการเจาะเส้นเลือดที่แขนโดยไม่ต้องอดอาหารล่วงหน้า หากมีระดับน้ำตาลสูงกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง เข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน และคุณหมออาจนัดตรวจเพิ่มเติมอีกครั้ง เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบบอดอาหาร ซึ่งจะต้องงดอาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงานมาเป็นเวลาอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ เพื่อยืนยันอีกครั้งว่า เป็นโรคเบาหวานหรือไม่
นอกจากนี้ หากคุณหมอสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เช่น วินิจฉัยโรคเบาหวานเมื่ออายุน้อย เคยมีภาวะเลือดเป็นกรด คุณหมออาจตรวจเลือดเพิ่มเติมเพื่อตรวจหาออโตแอนติบอดี (Autoantibodies) หรือภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อ แต่กลับไปทำอันตรายเซลล์ของตับอ่อนที่ทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนอินซูลิน
โดยทั่วไป อาหารหรือเครื่องดื่มที่บริโภคเข้าไปจะไม่กระทบต่อผลลัพธ์ของการตรวจระดับน้ำตาลแบบ เจาะน้ำตาลปลายนิ้ว ไม่อดอาหาร ทั้ง 2 กรณีข้างต้น ผู้ที่จะเข้ารับการตรวจจึงไม่จำเป็นต้องงดอาหารหรือเครื่องดื่มใด ๆ ก่อนเข้ารับการทดสอบ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะเข้ารับการตรวจควรรับประทานอาหารตามปกติก่อนการตรวจ ในปริมาณพอเหมาะ ไม่มากกว่าปกติจนเกินไป และควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในช่วงก่อนเข้ารับการตรวจด้วย
ระดับน้ำตาลในเลือดแบบอดอาหาร สูงแค่ไหนเสี่ยงเบาหวาน
เกณฑ์ระดับน้ำตาลในเลือดแบบอดอาหาร แปลผลได้ดังนี้
- ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เกิน 99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าอยู่ในระดับปกติ
- ระดับน้ำตาลในเลือด 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึงระดับน้ำตาลสูงเกินเกณฑ์ ถือว่ามีภาวะก่อนเบาหวาน
- ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน
ระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยเบาหวานทั้งโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- ควรมีระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานอาหาร 90-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ควรมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหาร (1-2 ชั่วโมง) ไม่เกิน 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร