backup og meta

เบาหวานหายได้ไหม ดูแลตัวเองยังไงเพื่อคุมอาการ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 21/06/2023

    เบาหวานหายได้ไหม ดูแลตัวเองยังไงเพื่อคุมอาการ

    เบาหวานหายได้ไหม คงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โรคเบาหวานนับเป็นโรคเรื้อรังอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งในระยะยาวน้ำตาลส่วนเกินอาจส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เมื่อเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่คุณหมอจะเน้นไปที่การสั่งยาให้ผู้ป่วยรับประทานเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสมและให้ผู้ป่วยดูแลสุขภาพของตนเองผ่านการเลือกรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย

    เบาหวานหายได้ไหม

    โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายได้ โดยผู้ป่วยเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป เมื่อเป็นแล้วต้องใช้ยารักษาเบาหวานหรืออินซูลินช่วยรักษาระดับน้ำตาลให้คงที่ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและออกกำลังกายเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย ไม่สูงหรือต่ำเกินไป

    ทั้งนี้ แม้ว่าโรคเบาหวานจะรักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่การวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม ปฏิบัติตามแผนการรักษาอย่างเคร่งครัด และเข้ารับการตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ จะช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ในช่วงสงบของโรค (Remission) ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีอาการใด ๆ จากโรคเบาหวานและมีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงคนทั่วไปที่ไม่เป็นเบาหวาน ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย และมีชีวิตที่ยืนยาวได้ไม่ต่างกับคนอื่น ๆ

    เกณฑ์วินิจฉัยโรคเบาหวาน

    โรคเบาหวานวินิจฉัยได้จากระดับน้ำตาลในเลือดที่ตรวจวัดได้ตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้

    • ระดับน้ำตาลในเลือดปกติ อยู่ที่ 70-99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 
  • ภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) อยู่ที่ 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • โรคเบาหวาน อยู่ที่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป
  • อาการของโรคเบาหวาน

    อาการที่พบได้บ่อยของโรคเบาหวานเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ มีดังนี้

    • เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
    • ถ่ายปัสสาวะบ่อย
    • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
    • สายตาพร่ามัว มองไม่เห็นชัดเจน
    • บาดแผลหายช้าหรือไม่หายเลย
    • ติดเชื้อง่าย เช่น การติดเชื้อที่เหงือก ผิวหนัง อวัยวะเพศ
    • มีคีโตปนในปัสสาวะ

    ทั้งนี้ อาการของโรคจะลดลงหรือหายไปเมื่อสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมาย ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวานขึ้นตา โรคปลายประสาทเสื่อมจากเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหัวใจวาย และช่วยให้มีสุขภาพที่แข็งแรงได้

    วิธีดูแลตัวเองเพื่อคุมเบาหวาน

    หากต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและคุมเบาหวานให้อยู่ในระยะสงบของโรค ควรดูแลตัวเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • รับประทานอาหารให้ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ เน้นอาหารที่สด สะอาด ปรุงสุกใหม่ ๆ มาจากแหล่งวัตถุดิบที่น่าเชื่อถือและพยายามเลือกอาหารที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารพิษน้อยที่สุด เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช พืชตระกูลถั่ว เนื้อสัตว์ไม่ติดไขมันและหนัง ไขมันดีอย่างน้ำมันมะกอก ปลาที่มีไขมัน อะโวคาโด
    • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอล น้ำตาล และโซเดียมสูง เช่น อาหารจานด่วน เบเกอรี่ ซอสปรุงรสต่าง ๆ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแปรรูปอย่างไส้กรอก เบคอน ไส้อั่ว ผักดอง อาหารแช่แข็ง ดื่มน้ำเปล่าแทนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมาก เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม ชาเขียว
    • รักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมายอยู่เสมอ และตรวจเบาหวานด้วยเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทุกวัน เพื่อติดตามผลการรักษาเบาหวาน หากพบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินไปควรปรึกษาคุณหมอเพื่อปรับเปลี่ยนแผนการรักษาให้เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของตัวเองมากที่สุด
    • กินยารักษาเบาหวานตามเวลาที่คุณหมอสั่ง และปฏิบัติตามคำแนะนำหรือข้อห้ามต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด
    • รักษาสุขภาพปาก ฟัน และเหงือกให้ดี แปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ และไปตรวจฟันเป็นประจำทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในช่องปาก ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน
    • ดูแลและทำความสะอาดเท้าเป็นประจำ ตรวจหาแผลบริเวณเท้า ฝ่าเท้า ง่ามเท้า และสวมรองเท้าที่รับกับสรีระเท้า ไม่คับแน่นจนเกินไป และป้องกันการบาดเจ็บของเท้าได้ 
    • ปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อป้องกันผลกระทบของการออกกำลังกายที่อาจหักโหมเกินไปจนส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดขณะใช้ยารักษาเบาหวาน
    • เรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคเบาหวานให้ได้ พยายามไม่คิดในแง่ลบและพยายามไม่กังวลมากเกินไปนัก เพราะความเครียดอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ ควรหากิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ทำให้รู้สึกสงบ เช่น อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ ทำสวน ฟังเพลง เดินเล่นในสวนใกล้บ้าน 
    • หากรู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ควรพูดคุยกับคุณหมอเกี่ยวกับโรคให้เข้าใจหรือปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตให้ช่วยแนะนำวิธีรับมือกับภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 21/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา