backup og meta

แนวทางการปฏิบัติตนเมื่อคนในครอบครัวป่วยเป็นเบาหวาน

แนวทางการปฏิบัติตนเมื่อคนในครอบครัวป่วยเป็นเบาหวาน

เมื่อคนในครอบครัวป่วยเป็นเบาหวาน จำเป็นที่สมาชิกในครอบครัวต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวาน แนวทางการรักษา วิธีปฏิบัติตนที่ถูกต้องต่อผู้ป่วยเบาหวาน ทั้งนี้ เพราะเบาหวานเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงแต่ประคองอาการ ด้วยการรับประทานยาหรือฉีดยา ปรับแผนโภชนาการและพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ และไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน นอกเหนือจากการดูแลร่างกายแล้ว การดูแลด้านจิตใจของผู้ป่วยเบาหวานก็สำคัญเช่นเดียวกัน

[embed-health-tool-bmi]

ทำความรู้จักเบาหวาน

เบาหวานเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้เมื่อฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายทำงานผิดปกติ หรือเมื่อร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ หรือไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เลย โดยปกติอินซูลินมีหน้าที่ลำเลียงน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ในร่างกาย เมื่ออินซูลินไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ส่งผลให้น้ำตาลกลูโคสจึงสะสมอยู่ในเลือดและไม่ถูกส่งต่อไปยังเซลล์ของร่างกาย เมื่อเวลาผ่านไป น้ำตาลที่สะสมอยู่ในเลือดเป็นจำนวนมากจึงสร้างปัญหาสุขภาพ เกิดเป็นโรคร้ายและเรื้อรังที่เรียกว่า เบาหวาน นั่นเอง

อาการผู้ป่วยเบาหวานชนิดต่าง ๆ

อาการในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 มักเกิดขึ้นและแสดงอาการอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 อาการจะค่อยๆ แสดงให้เห็นชัดเจนขึ้นอย่างช้า ๆ อาจใช้เวลาหลายปี แต่มีลักษณะของอาการเบาหวานร่วมกันดังนี้

  • กระหายน้ำและหิวบ่อย
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
  • ตาพร่า มองไม่ค่อยชัด
  • ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน
  • เป็นแผลแล้วหายช้า
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

นอกจากนั้นแล้ว ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เมื่ออาการเริ่มแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนและรุนแรงขึ้น อาจมีอาการเหล่านี้

  • ผิวหนังเปลี่ยนแปลง เช่น ผิวแห้งง่าย
  • มองไม่เห็น
  • ปวดเท้าหรือเท้าบวม
  • แขนขามีอาการชาหรือเป็นเหน็บ

การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน

เมื่อทราบว่าคนในครอบครัวป่วยเป็นเบาหวาน อาจทำให้สมาชิกที่เหลือรู้สึกกังวลใจเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ทั้งเรื่องการรับประทาน การจัดการเรื่องอาหาร การรับประทานยา การไปพบแพทย์ตามนัด โรคแทรกซ้อนต่าง ๆ นอกเหนือจากนั้นแล้ว ยังมีข้อควรระวังในการปฏิบัติตัวต่อผู้ป่วยเบาหวาน ดังนี้

  1. เมื่อทราบว่าคนในครอบครัวป่วยเป็นเบาหวาน ไม่ควรบ่น ดุ หรือตำหนิผู้ป่วยเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินหรือการใช้ชีวิตจนทำให้ผู้ป่วยเบาหวานรู้สึกผิด และอย่าพูดอวดอ้างถึงสิ่งที่ตนเองรู้เกี่ยวกับเบาหวาน พยายามให้กำลังใจ พูดคุย หรือปฏิบัติตนตามปกติ
  2. รู้จักที่จะปล่อยให้ผู้ป่วยทำอะไรด้วยตัวเองมากกว่าการเข้าไปจัดการแทนทั้งหมด แต่แสดงออกให้ผู้ป่วยรู้ว่า ยังมีคนในครอบครัวที่อยู่ข้าง ๆ เสมอ และพร้อมให้ความช่วยเหลือหากต้องการ
  3. ศึกษาหาความรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวาน โรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ยาที่ใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน และหมั่นสังเกตอาการ อารมณ์ หรือสัญญาณเตือนเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อาจเข้าไปสอบถามและช่วยเหลือเมื่อสังเกตเห็นความผิดปกติ
  4. ผู้ป่วยเบาหวานอาจมีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ รวมทั้งความเครียด ความวิตกกังวล ควรพยายามเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้ป่วยที่ต้องจัดการกับปัญหาสุขภาพ การรับประทานยา การฉีดอินซูลิน ซึ่งต้องใช้เวลาในการปรับตัวยอมรับกับโรคที่เกิดขึ้นว่าเบาหวานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แตไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต
  5. แม้ว่าผู้ป่วยอาจจะไม่ค่อยอยากทำอะไร แต่อย่าให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตอยู่กับที่มากเกินไป อาจออกอุบายหรือวางแผนเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ชวนกันไปซื้ออาหารเพื่อสุขภาพ ออกไปเดินเล่นด้วยกัน เพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวและรู้สึกสดชื่น

ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยเบาหวาน

เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่นอกจากจะต้องรับประทานยาแก้เบาหวานแล้ว มักมียาลดความดันโลหิตสูง ยาลดไขมันในเลือดสูง ซึ่งทำให้มียาหลายชนิดที่ต้องรับประทานให้ถูกต้องตามที่คุณหมอสั่ง ผู้ป่วยอาจหลงลืมหรือรับประทานยาผิดได้ สมาชิกในบ้านจำเป็นต้องช่วยดูแลเรื่องตารางการรับประทานยาให้ตรงเวลาและครบถ้วน รวมทั้งทำความรู้จักชนิดของกลุ่มยารับประทานที่ใช้รักษาเบาหวานและอาการอื่น ๆ

  • กลุ่มยาซัลโฟนีลยูเรีย เช่น ยาไกลพิไซด์ (Glipizide) ไกลเมพิไรด์ (Glimepiride) โดยยาในกลุ่มนี้เป็นยารับประทานที่มีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนในร่างกายโดยเฉพาะ
  • กลุ่มยาที่ไม่ใช่ซัลโฟนีลยูเรีย เช่น ยาเมทฟอร์มิน (Metformin) ยาอินโวคานา (Invokana)  ยาเหล่านี้จะออกฤทธิ์ต้านการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลให้อยู่ในภาวะปกติ นอกจากนั้น ยังมียากลุ่มฮอร์โมนอย่าง DPP-4 inhibitor มีคุณสมบัติช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาล โดยออกฤทธิ์ควบคุมการหลั่งฮอร์โมนกลูคากอนซึ่งผลิตจากตับอ่อน SGLT-2 inhibitor เป็นยารักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักใช้เสริมร่วมกับยาในกลุ่มอื่น และ GLP-1 สำหรับช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด มักใช้ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีหรือยาอื่น ๆ
  • กลุ่มยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตติน เช่น ยาซิมวาสแตติน (Simvastatin) ยาฟลูวาสแตติน (Fluvastatin) ยาอะทอร์วาสแตติน (Atorvastatin) มีฤทธิ์ในการช่วยลดไขมันในเลือด ป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากไขมันในเลือดสูง ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ผลิตคอเลสเตอรอลชนิดเลว เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี
  • กลุ่มยาลดความดันโลหิต โดยปกติแพทย์จะใช้ยามากกว่า 2 ชนิดในการช่วยลดความดันโลหิต เช่น กลุ่มยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitors) เป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษา ป้องกัน และบรรเทาภาวะโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจวาย กลุ่มยาขับปัสสาวะไธอะไซด์ไดยูเรติก (Thiazide-like diuretics) เป็นกลุ่มยาที่เข้าไปออกฤทธิ์กับไตโดยตรง ยาลดความดันส่วนใหญ่ที่แพทย์จ่ายมักมุ่งเน้นในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

วัคซีนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวานอาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย จึงจำเป็นต้องได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคเหล่านั้น ทั้งนี้ สมาชิกในครอบครัวอาจสอบถามแพทย์ถึงวัคซีนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อจะได้ช่วยกันจดบันทึกวันฉีดวัคซีน และช่วยกันเตือนผู้ป่วยเมื่อถึงวันนัด โดยปกติวัคซีนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ได้แก่

  1. วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ จำเป็นต้องฉีดปีละ 1 ครั้งเพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรง โดยเฉพาะเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงร่างกายจะได้สามารถต่อสู้กับโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
  2. วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ โดยปกติวัคซีนชนิดนี้ฉีดเพียงแค่ครั้งเดียว แต่หากมีโรคแทรกซ้อนหรืออายุมากกว่า 65 ปี อาจจำเป็นต้องได้รับการฉีดเข็มกระตุ้น
  3. วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ผู้ป่วยเบาหวานที่อายุน้อยกว่า 60 ปีและยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนชนิดนี้ จำเป็นต้องได้รับการฉีด แต่หากอายมากกว่า 60 และยังไม่เคยฉีด อาจต้องปรึกษาแพทย์เป็นกรณีไป
  4. วัคซีนโควิด-19 ผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนชนิดนี้ เพราะร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับไวรัสของโรคโควิด-19 นี้ได้เอง หากไม่ได้รับวัคซีนอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้
  5. วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน เป็นวัคซีนสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่ฉีดทุก ๆ 10 ปี

โรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน

โรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักคือ โรคแทรกซ้อนเรื้อรังและโรคแทรกซ้อนเฉียบพลัน ได้แก่

โรคแทรกซ้อนเรื้อรัง

  • โรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยเบาหวานมักมีภาวะไขมันในเลือดสูง ส่งผลให้หลอดเลือดเสื่อม อักเสบ หรือผิดปกติได้  ทำให้มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าและรุนแรงกว่าคนทั่วไป และผู้ป่วยเบาหวานมีอัตราเสียชีวิตจากการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจค่อนข้างสูงกว่าโรคอื่น ๆ 
  • เบาหวานขึ้นตา ตาจะเริ่มมองเห็นไม่ชัด ตาพร่า โดยปกติแล้วมักตรวจพบได้เมื่อตรวจวัดสายตา สามารถรักษาและป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้ 
  • โรคไต ทั้งระดับน้ำตาลในเลือดสูงและความดันโลหิตสูงอาจทำให้เกิดภาวะเบาหวานลงไต และนำไปสู่ภาวะไตวายได้ในที่สุด
  • เสื่อมสมรรภาพทางเพศ เนื่องจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือช่องคลอดติดเชื้อในผู้หญิง ส่วนในเพศชาย อาจทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัวได้ 

โรคแทรกซ้อนเฉียบพลัน

  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ การรับประทานยาและการรักษาเบาหวานอาจทำให้ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำลงมากกว่าปกติได้
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง แม้จะรับประทานยาหรือฉีดอินซูลิน แต่หากไม่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ ควรปรึกษาแพทย์
  • ภาวะเลือดมีความเข้มข้นสูง เกิดจากความเครียด อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรงและเกิดความดันโลหิตสูง เป็นอันตรายได้
  • ภาวะคีโตอะซิโดซิส หรือภาวะเลือดเป็นกรด เกิดได้ยากแต่เป็นโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงในผู้ป่วยเบาหวาน

การดูแลเท้าผู้ป่วยเบาหวาน

เท้าเป็นแผลในผู้ป่วยเบาหวานเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยและอันตราย เนื่องจากผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกเมื่อเกิดแผลที่เท้า และนำไปสู่การตัดขาได้ จึงจำเป็นที่คนในครอบครัวอาจช่วยใส่ใจและดูแลเพื่อป้องกันแผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน โดยปฏิบัติ ดังนี้ 

  • ให้ผู้ป่วยล้างเท้าในน้ำอุ่นเป็นประจำทุกวัน แต่ไม่แช่เท้าในน้ำเพราะอาจทำให้ผิวแห้งได้  
  • เช็ดเท้าให้แห้งสนิททุกครั้งหลังอาบน้ำหรือล้างเท้า โดยเฉพาะบริเวณตามซอกนิ้วเท้า  
  • ทาครีมบำรุงผิวที่เท้าและข้อเท้า หรือปิโตรเลียมเจล ไม่ควรทาน้ำมันหรือครีมบริเวณง่ามนิ้วเท้า เพราะหากชื้นเกินไปอาจติดเชื้อได้ 
  • สังเกตเท้าผู้ป่วยเป็นประจำทุกวัน ถึงอาการบวม แดง อักเสบ 
  • หากรู้สึกปวด บวม หรือมีแผลที่เท้า โดยอาการไม่หายภายใน 2-3 วัน รีบไปพบแพทย์โดยด่วน
  • ไม่เดินเท้าเปล่าไม่ว่าจะในบ้านหรือนอกบ้าน ควรสวมถุงเท้าหรือรองเท้าทุกครั้ง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Diabetes care: 10 ways to avoid complications. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes/in-depth/diabetes-management/art-20045803. Accessed March 24, 2023.

Friends, Family & Diabetes. https://www.cdc.gov/diabetes/library/features/family-friends-diabetes.html. Accessed March 24, 2023.

Helping a Loved One With Diabetes. https://www.webmd.com/diabetes/help-loved-one.Accessed March 24, 2023.

Helping a Family Member Who Has Diabetes. https://familydoctor.org/helping-a-family-member-who-has-diabetes/.Accessed March 24, 2023.

What is Diabetes?. https://www.niddk.nih.gov/health-information/diabetes/overview/what-is-diabetes. Accessed March 24, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/03/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

DTX คือ การวัดระดับน้ำตาลในเลือดจากปลายนิ้ว มีประโยชน์อย่างไร

เป็นเบาหวานไม่รู้ตัว เป็นไปได้หรือไม่


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 24/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา