เบาหวาน คือหนึ่งในโรคเรื้อรังที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เพราะอาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนร้ายแรงอื่น ๆ เช่น ตาบอด ภาวะไตล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคหัวใจ การถูกตัดขา โรคนี้เกิดจากการที่ตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้อย่างเพียงพอซึ่งทำให้ร่างกายเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 หรือเมื่อร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินได้อย่างเป็นปกติในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งเรียกภาวะดังกล่าวว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
[embed-health-tool-bmi]
ประเภทของเบาหวาน
เบาหวานเกิดขึ้นได้เมื่อร่างกายมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูง โดยปกติแล้วเบาหวานแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ตามสาเหตุในการเกิดโรค นอกจากนั้นแล้ว เบาหวานยังอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่นที่จำเพาะได้ด้วย รายละเอียดของเบาหวานประเภทชนิดต่าง ๆ มีดังนี้
- เบาหวานชนิดที่ 1
เบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้ตับอ่อนหยุดผลิตอินซูลินซึ่งมีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด พบได้ในเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานชนิดนี้จะอยู่ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เลยจึงจำเป็นต้องฉีดอินซูลินเข้าสู่ร่างกาย 4-5 ครั้งต่อวันเป็นประจำทุกวัน ยังไม่มีวิธีป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากการเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ได้
- เบาหวานชนิดที่ 2
ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินในการควบคุมระดับน้ำตาลให้เป็นปกติได้ หรือเรียกว่าภาวะดื้ออินซูลิน ผู้ป่วยเบาหวานร้อยละ 90-95% มักป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 โดยเป็นผลมาจากการที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป รวมทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือภาวะเครียดและซึมเศร้า พบมากในวัยผู้ใหญ่ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ เบาหวานชนิดที่ 2 นี้สามารถป้องกันได้หรืออาจลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการลดน้ำหนัก การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์สุขภาพ และออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ
- เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์
เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์อาจเกิดขึ้นได้แม้ว่าผู้หญิงรายนั้นจะไม่เคยมีประวัติป่วยเป็นเบาหวานมาก่อน เนื่องจากร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน รวมทั้งน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน มีสาเหตุใกล้เคียงกับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 หากป่วยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจส่งผลปัญหาสุขภาพต่อทารกในครรภ์ได้ หรืออาจทำให้ทารกเสี่ยงเป็นโรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกินเมื่อโตขึ้น แต่ทั้งนี้ ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มักหายไปหลังคลอดบุตรแล้ว แต่อาจทำให้เสี่ยงสูงที่จะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ต่อไปได้
เบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ
เป็นเบาหวานชนิดที่พบได้ยากซึ่งมีสาเหตุแตกต่างจากเบาหวานชนิดอื่น ๆ พบได้ประมาณร้อยละ 1-2 % ของผู้ป่วยเบาหวาน แต่อาการของโรคนั้นใกล้เคียงกัน โดยเบาหวานชนิดนี้เกิดจากการกลายพันธุ์หรือความผิดปกติของยีนที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ครอบครัวของผู้ป่วยมักมีประวัติป่วยเป็นเบาหวานในเกือบทุกรุ่นและมักพบในคนอายุน้อยโดยเฉพาะเด็กซึ่งได้รับยีนเบาหวานจากครอบครัวและอาจทำให้ป่วยเป็นเบาหวานก่อนอายุ 25 ปี แม้ว่าจะไม่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตอยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็ตาม
อินซูลินกับเบาหวาน
อินซูอินคือฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อร่างกาย ผลิตโดยตับอ่อน ทำหน้าที่ลำเลียงกลูโคสจากเลือดไปสู่เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายเพื่อสร้างพลังงาน หากไม่มีอินซูลินในร่างกายจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และมักส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาทและหลอดเลือด หากร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ จำเป็นต้องฉีดอินซูลินทดแทนเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยเบาหวานทุกวันเพื่อรักษาสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือด แต่หากเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำเป็นต้องควบคุมและดูแลพฤติกรรมการบริโภค โดยเฉพาะอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล คาร์โบไฮเดรต และไขมัน
ยาที่ใช้ในการรักษาเบาหวาน
ยารักษาโรคเบาหวานจำเป็นต้องให้แพทย์สั่งเท่านั้น โดยยารักษาเบาหวานแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
- ยาฉีดอินซูลิน คือ อินซูลินทดแทนหรืออินซูลินสังเคราะห์ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ฉีดเข้าร่างกาย มักใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 รวมทั้งผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 บางรายที่มีภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับไตหรือตับ
- ยาในกลุ่มซัลโฟนีลยูเรีย เป็นยารับประทานกลุ่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนในร่างกาย โดยเฉพาะ เช่น ยาไกลพิไซด์ (Glipizide) ยาไกลเมพิไรด์ (Glimepiride)
- ยาในกลุ่มที่ไม่ใช่ซัลโฟนีลยูเรีย เป็นยาในกลุ่มที่ออกฤทธ์ต้านการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อช่วยลดระดับน้ำตาล เช่น ยาเมทฟอร์มิน (Metformin) DPP-4 inhibitor ซึ่งเป็นยากลุ่มฮอร์โมนมีคุณสมบัติช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาล โดยออกฤทธิ์ควบคุมการหลั่งฮอร์โมนกลูคากอนซึ่งผลิตจากตับอ่อน SGLT-2 inhibitor เป็นยารักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักใช้เสริมร่วมกับยาในกลุ่มอื่น GLP-1 ยาสำหรับใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือด และใช้ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีหรือยาอื่น ๆ
ยาอื่น ๆ ที่ใช้รักษาผู้ป่วยเบาหวาน
เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่มักมีภาวะความดันโลหิตสูง รวมทั้งไขมันในเลือดสูง และอาจเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจทำให้แพทย์อาจจำเป็นต้องสั่งยาตัวอื่นร่วมด้วย โดยยาเหล่านั้น ได้แก่
ยาในกลุ่มสแตติน หรือกลุ่มยาสแตติน เป็นยาที่มีคุณสมบัติช่วยลดไขมันในเลือด ลดความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและหลอดเลือดตีบตัน ป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากไขมันในเลือดสูง ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์บางอย่างที่ผลิตคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี และยังช่วยลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี เช่น ยาซิมวาสแตติน (Simvastatin) ยาฟลูวาสแตติน (Fluvastatin) ยาอะทอร์วาสแตติน (Atorvastatin)
ยาลดความดันโลหิต โดยปกติแพทย์จะใช้ยามากกว่า 2 ชนิดในการช่วยลดความดันโลหิต ยาลดความดันส่วนใหญ่ที่แพทย์จ่ายมักมุ่งเน้นในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น
- กลุ่มยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitors) ) เป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษา ป้องกัน และบรรเทาภาวะโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจวาย
กลุ่มยาขับปัสสาวะไธอะไซด์ไดยูเรติก (Thiazide-like diuretics) เป็นกลุ่มยาที่เข้าไปออกฤทธิ์กับไตโดยตรงและกระตุ้นการขับเกลือโซเดียมออกมาทางปัสสาวะ มักใช้รักษาโรคหัวใจวาย และความดันโลหิตสูง
- กลุ่มยา Angiotensin II receptor blocker (ARB) ออกฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของสารแองจิโอเทนซิน 2 (Angiotensin II) ที่ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ
- กลุ่มยา Calcium-channel blocker (CCB) โดยยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ที่เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจและเซลล์ผนังหลอดเลือด ทำให้หัวใจเต้นช้าลง หลอดเลือดแดงขยายตัว ช่วยลดความดันโลหิตได้
- กลุ่มยา Beta-blocker (BB) ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ช่วยลดการกระตุ้นหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้าลง และความดันโลหิตลดลง
วิธีรักษาเบาหวาน
เบาหวานเป็นโรคร้ายแรง ไม่สามารถรักษาได้ด้วยตนเอง จำเป็นต้องให้แพทย์วางแผนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระดับน้ำตาลในเลือด ระยะเวลาในการเป็นเบาหวาน โรคแทรกซ้อนอื่น ๆ พฤติกรรมการบริโภค พฤติกรรมการออกกำลังกาย อาการกลัวเข็มฉีดยา และอาจต้องใช้แพทย์เฉพาะทางในหลายสาขา เช่น นักโภชนาการ จักษุแพทย์ ซึ่งเบาหวานแต่ละชนิดมีวิธีการรักษาแตกต่างกันไป ดังนี้
วิธีรักษาเบาหวานชนิดที่ 1
ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 จำเป็นต้องได้รับอินซูลินทดแทนเข้าร่างกายทุกวัน ซึ่งการนำอินซูลินเข้าร่างกายนั้นสามารถทำได้โดยการฉีดยาอินซูลินเท่านั้น ซึ่งมีทั้งการฉีดด้วยเข็ม การฉีดด้วยปากกา และการฉีดด้วยตัวปั๊ม ซึ่งวิธีเหล่านี้มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป แพทย์ผู้รักษาจะทำหน้าที่วางแผนและเลือกวิธีที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยเบาหวานแต่ละราย รวมทั้งการเลือกใช้ยารับประทานร่วมด้วย
วิธีรักษาเบาหวานเบาหวานชนิดที่ 2
การรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 นอกเหนือจากการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง หรือการใช้อินซูลิน เพื่อช่วยลดรักษาระดับน้ำตาลในเลือดแล้วนั้น จำเป็นต้องมีการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันให้เหมาะสมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมอาหาร การเพิ่มกิจกรรมการออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวร่างกาย การเข้าโปรแกรมลดหรือควบคุมน้ำหนักส่วนเกิน รวมทั้งการเฝ้าระวังระดับน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิด
วิธีรักษาเบาหวานเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์
แพทย์อาจให้ยารับประทานเช่นเดียวกับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด แต่สิ่งสำคัญที่สุด หญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องเลือกสรรอาหารที่ร่างกายได้รับ โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบสามมื้อต่อวัน พยายามเลือกรับประทานอาหารที่ให้โปรตีนไขมันต่ำอย่างปลา และรับประทานผักให้มากขึ้น รวมทั้งผลไม้หรือธัญพืชแทนของหวานและของว่างชนิดอื่น ๆ งดเครื่องดื่มที่ให้ความหวานอย่างน้ำอัดลม อาจเลือกดื่มน้ำผลไม้ปั่นแต่ไม่เติมน้ำตาลลงไปเพิ่ม
แนวทางอื่น ๆ ในการรักษาเบาหวาน
นอกเหนือไปจากการรับประทานยาเพื่อรักษาโรคเบาหวานรวมทั้งการฉีดยาอินซูลินเข้าร่างกายแล้วนั้น แพทย์อาจใช้วิธีการอื่น ๆ ในการรักษาผู้ป่วยเบาหวาน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย อาการของโรค โรคแทรกซ้อน รวมทั้งความต้องการของผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งปัจจุบันนี้มีนวัตกรรมและทางเลือกเพิ่มขึ้น ได้แก่
- การผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคอ้วน เพื่อให้ปริมาณน้ำหนักส่วนเกินลดลง และทำให้ปริมาณระดับน้ำตาลกลูโคสในร่างกายปรับคืนสู่สมดุล
- ตับอ่อนเทียม การติดตั้งเครื่องมือซึ่งทำหน้าที่เลียนแบบตับอ่อนในการผลิตอินซูลินภายในร่างกาย ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องให้อินซูลินแบบต่อเนื่อง เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลต่อเนื่อง และระบบประมวลผลเพื่อคำนวนการให้อินซูลิน
- การปลูกถ่ายตับอ่อน ใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 เท่านั้น โดยใช้วิธีการผ่าตัดนำตับอ่อนเดิมออก แล้วนำตับอ่อนจากผู้บริจาคอวัยวะ เปลี่ยนเข้าไปใหม่ ทำให้ร่างกายสามารถผลิตอินซูลินได้ด้วยตนเองแต่ยังอาจต้องใช้ยาบางตัวร่วมด้วยต่อไปในการรักษา