backup og meta

เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes Mellitus)

เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes Mellitus)

เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes Mellitus) เป็นภาวะที่ระดับกลูโคสหรือน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ ผู้ป่วยโรคนี้จึงจำเป็นต้องฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

คำจำกัดความ

เบาหวานชนิดที่ 1 คืออะไร

เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes Mellitus) เป็นภาวะที่ระดับกลูโคสหรือน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ได้เพียงพอ ผู้ป่วยโรคนี้จึงจำเป็นต้องฉีดอินซูลินอย่างสม่ำเสมอเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

ภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน หรืออายุ ไม่ถือว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และโรคเบาหวานชนิดนี้ มักถูกเรียกว่า “โรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น’ (Juvenile-onset diabetes) เพราะมักเกิดในเด็กและวัยรุ่นมากที่สุด

อินซูลิน (Insulin) มีความสำคัญในการควบคุมปริมาณน้ำตาลกลูโคสในเลือด เมื่อร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ตามปกติ และมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้กับอวัยวะสำหรับต่าง ๆ ได้ เช่น หัวใจ ดวงตา ตับ ระบบประสาท เหงือก ฟัน ผู้ป่วยโรคนี้จึงควรเข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อการควบคุมโรค และลดความเสี่ยงในการเกิดอาการแทรกซ้อนได้

 พบได้บ่อยได้แค่ไหน

เบาหวานชนิดที่ 1 พบได้น้อยกว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และมักจะเกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาตับอ่อน หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 โรคนี้มักพบในเด็กและวัยรุ่น โดยเฉพาะเด็กอายุ 4-7 ปี และ 10-14 ปี

อาการ

อาการของเบาหวานชนิดที่ 1

สัญญาณและอาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 อาจเกิดขึ้นเฉียบพลัน โดยอาการที่พบได้ทั่วไป ได้แก่

  • มองเห็นไม่ชัด
  • ปัสสาวะบ่อย
  • รู้สึกกระหายน้ำ และหิวมาก
  • ติดเชื้อบ่อย
  • รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
  • แผลหายช้า
  • เป็นเหน็บชาที่เท้าบ่อย ๆ
  • น้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือไม่ทราบสาเหตุ

สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการอื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ โปรดปรึกษาแพทย์

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากสังเกตได้ถึงสัญญาณ หรืออาการตามรายละเอียดข้างต้น หรือมีข้อสงสัยใด ๆ โปรดปรึกษาแพทย์

ร่างกายของแต่ละคนแสดงอาการแตกต่างกัน จึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุด

สาเหตุ

สาเหตุของเบาหวานชนิดที่ 1

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 มีสาเหตุมาจากเบต้าเซลล์ (Beta cells) ของตับอ่อนถูกระบบภูมิคุ้มกันทำลาย ตับอ่อนจึงผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอ เมื่อขาดอินซูลิน ร่างกายจึงไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ และกลายเป็นภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

โรคบางชนิด เช่น โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic fibrosis) ที่ส่งผลกระทบต่อตับอ่อน การผ่าตัดนำตับอ่อนออก หรือการติดเชื้อที่ตับอ่อนขั้นรุนแรง ก็อาจส่งผลให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้เช่นกัน แต่สาเหตุเหล่านี้พบได้ไม่บ่อยนัก

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานชนิดที่ 1

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1 มีหลายประการ เช่น

  • ประวัติในครอบครัว หากคนใกล้ชิดในครอบครัว (พ่อแม่พี่น้อง) ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ก็จะเพิ่มขึ้น
  • กรรมพันธุ์ การมียีนบางชนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้
  • อายุ แม้โรคเบาหวานชนิดที่ 1 จะพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่ช่วงวัยที่พบโรคนี้ได้มากที่สุด ได้แก่ เด็กอายุ 4-7 ปี และเด็กอายุ 10-14 ปี

นอกจากปัจจัยเสี่ยงข้างต้นแล้ว ปัจจัยต่อไปนี้ ก็อาจทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้เช่นกัน แต่หลักฐานยืนยันยังไม่แน่ชัด และยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไปว่าเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 จริงหรือไม่

  • การสัมผัสกับไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr virus) ไวรัสคอกแซกกี้ (Coxsackie virus) ไวรัสคางทูม (Mumps virus) ไซโตเมกาโลไวรัส (Cytomegalovirus)
  • ภาวะวิตามินดีต่ำ
  • การดื่มน้ำที่มีไนเตรต (Nitrates)
  • เด็กบริโภคธัญพืชและกลูเตนเร็วเกินไป (อายุยังไม่ถึง 4 เดือน) หรือช้าเกินไป (อายุเกิน 7 เดือน)
  • มารดาเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ขณะตั้งครรภ์
  • เด็กเป็นดีซ่านแต่กำเนิด

การวินิจฉัยโรคและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยเบาหวานชนิดที่ 1

แพทย์จะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 หากเข้าเกณฑ์ต่อไปนี้

  • ระดับกลูโคสในพลาสมา (Fasting plasma glucose) มากกว่าหรือเท่ากับ 7.0 มิลลิโมล/ลิตร (126 มก./เดซิลิตร)
  • มีอาการของโรคเบาหวานและผลจากการสุ่มวัดระดับของน้ำตาลในเลือด (โดยไม่อดอาหาร) มากกว่าหรือเท่ากับ 11.1 มิลลิโมล/ลิตร (200 มก./เดซิลิตร)
  • ระดับกลูโคสในพลาสมา 2 ชั่วโมง ในขณะทำการทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล (Oral Glucose Tolerance Test หรือ OGTT) มากกว่าหรือเท่ากับ 11.1 มิลลิโมล/ลิตร (200 มก./เดซิลิตร)
  • ค่าการตรวจน้ำตาลสะสมในเลือด (Hemoglobin A1c) มากกว่า 6.5%

หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ควรเข้าพบคุณหมอตามนัดหมายทุกครั้ง เพื่อตรวจสุขภาพ หรือรับคำแนะนำ ดังต่อไปนี้

  • ตรวจวัดระดับความดันโลหิต
  • ตรวจสอบดวงตาด้านหลังด้วยการใช้เครื่องมือส่องไฟพิเศษ
  • ตรวจน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1C test) ทุก ๆ 6 เดือนหากสามารถควบคุมโรคเบาหวานได้
  • ตรวจสอบผิวหรือกระดูกบริเวณขาและเท้า และเข้ารับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีตรวจสอบโรคเส้นประสาทที่เกิดจากเบาหวาน (Diabetic Nerve Disease) โดยสังเกตได้จากอาการชา หากมีอาการดังกล่าวบ่อย ๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตามรายการต่อไปนี้เป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งด้วย

  • ตรวจวัดระดับของคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์
  • ตรวจสมรรถภาพของไต เช่น อัตราการกรองของไต (Glomerular filtration rate) ยูเรียไนโตรเจนในเลือด (Blood urea nitrogen) ไมโครอัลบูมินูเรีย (Microalbuminuria) เซรั่มครีอะตินีน (Serum creatinine) เพื่อตรวจสอบว่าไตทำงานได้ปกติ
  • ไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจฟันและทำความสะอาดฟันอย่างละเอียด และอย่าลืมแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบด้วยว่าป่วยเป็นโรคเบาหวาน

การตรวจสุขภาพเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์ช่วยหาวิธีควบคุมโรคเบาหวาน และป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ดีขึ้น

การรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 อาจเกิดได้ฉับพลันและรุนแรง ฉะนั้น หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ อาจต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และตรวจร่างกายทุกสัปดาห์ จนกว่าจะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี

วิธีรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ที่นิยมใช้ ได้แก่

1.อินซูลิน

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ให้หายขาดได้ อินซูลินจึงเป็นวิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ผู้ป่วยสามารถฉีดอินซูลินได้ที่บ้าน ปกติแล้วฉีด 2-3 ครั้งต่อวัน แต่ควรสอบถามวิธีปรับขนาดยาอินซูลินกับแพทย์เป็นประจำ เพื่อจะได้เฝ้าสังเกตระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างเหมาะสม การใช้อินซูลินเกินขนาด อาจนำไปสู่ภาวะอันตรายอย่าง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia)

อินซูลินมีทั้งหลายประเภท เช่น

  • ประเภทออกฤทธิ์เร็ว (Rapid-acting Insulin) – เริ่มออกฤทธิ์หลังฉีด 15 นาที และออกฤทธิ์ได้นาน 2-4 ชั่วโมง
  • ประเภทออกฤทธิ์ในช่วงปกติ (Regular or Short-acting Insulin) – เริ่มออกฤทธิ์หลังฉีด 30 นาที และออกฤทธิ์ได้นานขึ้น 3-6 ชั่วโมง
  • ประเภทออกฤทธิ์นาน (Long-acting Insulin) – จะออกฤทธิ์ในการรักษานานมากกว่า 24 ชั่วโมงขึ้นไป แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการดูดซึมหลายชั่วโมง

แพทย์อาจสั่งยาให้ผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันออกไป เพื่อให้เหมาะสมกับอาการโรคเบาหวานของผู้ป่วยรายนั้น ๆ มากที่สุด

2. อาหารที่ดีต่อสุขภาพ

อาหารที่ดีต่อสุขภาพจะช่วยควบคุมระดับของน้ำตาลกลูโคสในเลือด สิ่งสำคัญคือ ผู้ป่วยต้องควบคุมการบริโภคแป้งและน้ำตาลในอยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่เสมอ หากไม่แน่ใจว่าควรบริโภคอย่างไร ควรปรึกษานักโภชนาการ

3. การออกกำลังกาย

หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะการออกกำลังกายช่วยส่งเสริมสุขภาพโดยรวม ทั้งยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วย นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรดูแลเท้า และตรวจดวงตาเป็นประจำ เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนในอนาคต

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองเพื่อจัดการกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองตามเคล็ดลับต่อไปนี้ อาจช่วยให้รับมือกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ดีขึ้น

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และรับประทานแต่ละมื้อในเวลาเดียวกันทุกวัน
  • ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ตรวจวัดระดับของน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ อาจต้องตรวจน้ำตาลในเลือด 4-8 ครั้งต่อวัน หากมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ ทั้งอาหารเหลวและอาหารแข็ง ควรปรึกษาแพทย์ทันที
  • หากระดับของน้ำตาลในเลือดแปรปรวน โปรดติดต่อแพทย์ทันที
  • หากมีอาการชัก ไม่ยอมตื่น หรือหมดสติ ต้องได้รับการปฐมพยาบาลและนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
  • ตรวจสุขภาพเท้าทุกวัน หากพบความผิดปกติใด ๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Type 1 diabetes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/type-1-diabetes/symptoms-causes/syc-20353011. Accessed October 26, 2021.

About type 1 diabetes. https://www.nhs.uk/conditions/type-1-diabetes/about-type-1-diabetes/. Accessed October 26, 2021.

Type 1 Diabetes. https://www.cdc.gov/diabetes/basics/type1.html. Accessed October 26, 2021.

Type 1 diabetes. U.S. National Library of Medicine. https://medlineplus.gov/ency/article/000305.htm. Accessed October 26, 2021.

Type 1 Diabetes. https://www.diabetes.org/diabetes/type-1. Accessed October 26, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/10/2021

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานชนิดที่ 1 มีอะไรบ้าง

เบาหวานชนิดที่ 1 และ เบาหวานชนิดที่ 2 แตกต่างกันอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 26/10/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา