นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการใช้ยาตามคำแนะนำของคุณหมอแล้ว อีกหนึ่งวิธีสำหรับ รับมือเบาหวานชนิดที่ 2 คือ การให้ความสำคัญในเรื่อง ของอาหาร เนื่องจากอาหารจะส่งผลโดยตรงต่อระดับน้ำตาลในเลือด หากผู้ป่วยเบาหวานเลือกรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูง และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะเส้นประสาทเสียหาย ภาวะเบาหวานขึ้นตา โรคติดเชื้อ โรคไต ซึ่งอาจทำให้สุขภาพและคุณภาพชีวิตในระยะยาวลดลง
[embed-health-tool-bmi]
อาหาร สำคัญอย่างไรกับ เบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวาน หมายถึง ผู้ที่มีค่าน้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ หรือมีภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) ร่างกายจึงไม่สามารถจัดการกับระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างเหมาะสม
สิ่งสำคัญสำหรับการ รับมือเบาหวานชนิดที่ 2 จึงเป็นการระมัดระวังไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงมากจนเกินไป โดยเฉพาะหลังจากการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ ผู้ป่วยควรคำนึงถึง ค่าดัชนีน้ำตาล (GI) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สามารถบอกได้ว่า อาหารแต่ละชนิดจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานพุ่งขึ้นสูงเท่าไหร่ หากต้องการควบคุมเบาหวานได้ดี จึงควรเลือกรับประทานอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ เนื่องจากไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นมากจนเกินไปหลังรับประทาน
อาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานควรรับประทาน
ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกรับประทานอาหาร ดังนี้
- โปรตีน ควรเน้นโปรตีนที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา ไข่ ที่ปรุงโดยไม่ผ่านการทอด ถั่วต่าง ๆ ธัญพืชเต็มเมล็ด เต้าหู้ นมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมไขมันต่ำ
- ผัก ควรรับประทานผักเพิ่มขึ้น โดยในแต่ละมื้อแนะนำให้รับประทานผักในสัดส่วนประมาณ ½ จาน และควรเลือกผักชนิดที่มีแป้งน้อย เช่น ผักใบชนิดต่าง ๆ บรอกโคลี มะเขือเทศ
- ผลไม้ เลือกรับประทานผลไม้สดที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น ฝรั่ง เบอร์รี่ ส้ม กล้วย แอปเปิ้ล แก้วมังกร หลีกเลี่ยงผลไม้ที่ผ่านการแปรรูป เช่น กระป๋องหรือน้ำผลไม้ ผลไม้อบแห้ง เนื่องจากอาจมีการเติมน้ำตาลเพิ่มในกระบวนการการผลิตและยังสูญเสียวิตามินที่มีประโยชน์
- อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตจำพวกแป้ง ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารจำพวกแป้งที่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวขาว แป้งสาลี ขนมปังขาว พาสต้า แนะนำให้เน้นรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนแทน เช่น ข้าวหรือแป้งที่ไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ธัญพืช มันเทศ ข้าวโอ๊ต ซึ่งมีใยอาหารมากกว่า ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงน้อยกว่า ทั้งนี้ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน
หากผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสมได้ หรือเลือกรับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูงบ่อย ๆ จนทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังนี้
- ภาวะเส้นประสาทเสียหาย ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจะส่งผลให้หลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาทเสียหาย ส่งผลให้การทำงานของเส้นประสาทนั้น ๆ ผิดปกติไป ซึ่งมักเกิดกับเส้นประสาทส่วนปลายก่อน เช่น ทำให้เกิดอาการชา รู้สึกเจ็บปวด แสบร้อน บริเวณปลายนิ้วมือและนิ้วเท้า
- ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic Retinopathy) ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังส่งผลให้หลอดเลือดทั่วทั้งร่างกายเสียหาย รวมถึงหลอดเลือดที่บริเวณจอตาด้วย ทำให้จอประสาทตาบวมหรือเสื่อม รวมทั้งทำให้เกิดโรคทางตาอื่น ๆ เช่น โรคต้อหิน โรคต้อกระจก และอาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้
- ภาวะไตวายเรื้อรัง หากควบคุมโรคเบาหวานได้ไม่ดีอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต หรือนำไปสู่ภาวะไตวายได้
- โรคหัวใจและหลอดเลือด หากไม่ควบคุมโรคเบาหวานให้ดี จะส่งผลให้หลอดเลือดทั้งร่างกายเสื่อมลง รวมทั้งหลอดเลือดที่หัวใจและสมองด้วย จึงอาจนำไปสู่การเกิดภาวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต
- แผลเบาหวาน หากควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี อาจส่งผลให้แผลหายช้ากว่าคนทั่วไปได้ เนื่องจากเส้นเลือดและเส้นประสาททำงานบกพร่อง รวมทั้งยังทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จึงเสี่ยงติดเชื้อง่ายขึ้นด้วย
เพื่อการรับมือเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ดีและเหมาะสม ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรหมั่นตรวจระดับน้ำตาลด้วยตนเองเป็นประจำ โดยอาจสุ่มตรวจทั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังรับประทานอาหาร เพื่อให้ทราบค่าระดับน้ำตาลของตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้ควบคุมเบาหวานได้ดีขึ้น และแนะนำให้จดบันทึกค่าน้ำตาลในเลือดทุกครั้ง เพื่อเป็นข้อมูลให้คุณหมอสามารถติดตามผล รวมทั้งปรับการรักษาให้ได้เหมาะสมยิ่งขึ้น
Meal Plan E-Book พร้อมให้ดาวน์โหลด คลิกเลย