backup og meta

GDMA1 คืออะไร เกี่ยวข้องกับหญิงตั้งครรภ์อย่างไร

GDMA1 คืออะไร เกี่ยวข้องกับหญิงตั้งครรภ์อย่างไร

GDMA1 คืออะไร? GDMA1 คือภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ชนิด A1 ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด และเมื่อตรวจเจอแล้ว คุณหมอจะแนะนำให้ดูแลตัวเองด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย เพื่อรักษาให้ระดับน้ำตาลในเลือดของคุณเเม่อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เเละ ป้องกันการเกิดภาวะเเทรกซ้อนที่อาจส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพของคุณเเม่และทารกในครรภ์

[embed-health-tool-due-date]

GDMA1 คืออะไร

GDMA1 ย่อมาจาก Gestational Diabetes Mellitus A1 หมายถึง ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ชนิด A1 ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด หรือราว 90 เปอร์เซ็นต์ของภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ทั้งหมด

นอกจาก A1 แล้ว เบาหวานขณะตั้งครรภ์ยังมีอีกชนิด คือ A2 โดยข้อแตกต่างระหว่าง 2 ชนิดนี้คือ หากคุณเเม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้เองโดยไม่ต้องใช้ยา จะนับเป็นชนิด A1 เเต่หากปรับพฤติกรรมสุขภาพเเล้วยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ จำเป็นต้องใช้ยารักษาร่วมด้วย จะนับเป็นชนิด  A2 

ทั้งนี้ เบาหวานขณะตั้งครรภ์มักพบได้ในอัตรา 2-10 เปอร์เซ็นต์ ของคุณเเม่ที่ตั้งครรภ์ทั้งหมด และมักเป็นเพียงชั่วคราว กล่าวคือ ภาวะเบาหวานจะหายได้เองหลังคลอดบุตร

เนื่องจากสาเหตุของภาวะนี้ คือ ฮอร์โมนฮิวแมน พลาเซนต้า แลกโตรเจน (Human Placental Lactogen หรือ HPL) ซึ่งหลั่งจากรก และมีคุณสมบัติต้านฤทธิ์กับฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักที่ควบคุมสมดุลระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป

GDMA1 ตรวจเจอได้อย่างไร

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกระยะของการตั้งครรภ์ (ส่วนมากเเล้วมักพบในคุณเเม่ที่มีอายุครรภ์ในไตรมาส 2 เเละ 3) โดยทั่วไป คุณหมอมักจะทำการตรวจคัดกรองภาวะนี้ในช่วงอายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์

สำหรับวิธีการตรวจนั้น จะแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

Glucose Challenge Test หรือ Glucose Tolerance Test

Glucose Challenge Test หรือ Glucose Tolerance Test คือ การตรวจความสามารถในการจัดการน้ำตาลของร่างกาย เเละเป็นวิธีที่ใช้ในการตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เเบ่งเป็น 2 ขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนที่ 1

คุณเเม่ที่เข้ารับการตรวจไม่จำป็นต้องงดอาหารมา จากนั้นคุณหมอจะให้ดื่มสารละลายกลูโคส 50 กรัม แล้วรอเป็นเวลา 1 ชั่วโมง โดยระหว่างนี้จะห้ามรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มใด ๆ จากนั้นจึงเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับน้ำตาล ซึ่งแปลผลได้ ดังนี้

  • ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สุขภาพปกติ ไม่มีภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ 
  • ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ระหว่างสูงตั้งเเต่ 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป นับว่ามีความเสี่ยงที่จะมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจยืนยันในขั้นตอนที่ 2 โดยคุณหมอจะนัดมาตรวจซ้ำในวันถัด ๆ ไป 

ขั้นตอนที่ 2

การตรวจขั้นตอนนี้ คุณเเม่จะต้องงดอาหารมาอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนเจาะเลือด และมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • รับการเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลครั้งเเรก 
  • ดื่มสารละลายกลูโคส 100 กรัม และงดอาหารและน้ำเป็นเวลา 3 ชั่วโมง
  • จากนั้นทุก ๆ 1 ชั่วโมงได้เเก่ชั่วโมงที่ 1, 2 เเละ 3 คุณหมอจะเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับน้ำตาลหลังกลืนน้ำตาลหากค่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ต่อไปนี้ตั้งแต่ 2 ค่าขึ้นไป จะวินิจฉัยว่ามีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • ระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหาร ควรน้อยกว่า 95 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคส 1 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคส 2 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 155 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคส 3 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็น GDMA1

คุณเเม่ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คือ  

  • อายุมากกว่า 25 ปี (ดังนั้นคุณเเม่ที่มีอายุมากกว่า 25 ปีทุกคน จึงจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์)
  • ดัชนีมวลกายก่อนตั้งครรภ์ มากกว่า 22.9 ในคนเอเชีย
  • ไม่ค่อยออกกำลังกาย 
  • เคยคลอดบุตรที่น้ำหนักตัวตั้งเเต่ 4 กิโลกรัมขึ้นไป
  • เคยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อน
  • มีคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
  • มีภาวะสุขภาพที่สัมพันธ์กับการเป็นโรคเบาหวานในอนาคต เช่น เมแทบอลิก ซินโดรม (Metabolic Syndrome)

ทั้งนี้ คุณหมอจะแนะนำให้คุณเเม่ที่มีความเสี่ยงของภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เข้ารับการตรวจคัดกรองในช่วงสัปดาห์ที่ 24-28 ของการตั้งครรภ์

GDMA1 ส่งผลต่อคุณเเม่และทารกในครรภ์อย่างไร

การเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ทั้งชนิด A1 หรือ A2 อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคุณเเม่ รวมถึงทารกในครรภ์ ได้ดังนี้

ผลกระทบต่อสุขภาพของคุณเเม่

  • เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ซึ่งเป็นภาวะที่รุนเเรงและอาจทำให้เเท้งบุตร เเละ คุณเเม่มีอากาารชัก หรือ ถึงเเก่ชีวิตได้ 
  • เพิ่มความเสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคต 

ผลกระทบต่อทารกในครรภ์

  • ทารกอาจมีน้ำหนักตัวมากและขนาดตัวใหญ่กว่าปกติ ส่งผลให้คลอดแบบธรรมชาติได้ยาก เกิดภาวะเเทรกซ้อนระหว่างคลอดมากขึ้น หรืออาจต้องใช้วิธีผ่าคลอด
  • เพิ่มความเสี่ยงภาวะน้ำคร่ำมากผิดปกติ (Polyhydramnios) ซึ่งอาจทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด
  • เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำของทารกเเรกคลอดซึ่งอาจรุนเเรงจนทำให้ชัก ซึม หรือ เสียชีวิตได้ 
  • เพิ่มความเสี่ยงของโรคอ้วน เเละโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ในอนาคต เมื่อทารกเติบโต

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Glucose tolerance test. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/glucose-tolerance-test/about/pac-20394296. Accessed January 19, 2023

Risk assessment of gestational diabetes mellitus type A2 in socioeconomically disadvantaged women. https://www.ajog.org/article/S0002-9378(21)02019-6/fulltext. Accessed January 19, 2023

Pregnancy and Diabetes. https://www.hopkinsguides.com/hopkins/view/Johns_Hopkins_Diabetes_Guide/547126/all/Pregnancy_and_Diabetes#:~:text=GDMA1%20refers%20to%20gestational%20diabetes,gestational%20diabetes%20requiring%20hypoglycemic%20agents. Accessed January 19, 2023

Pregnancy with Diabetes Mellitus. https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lessons/pregnancy-with-diabetes-mellitus/. Accessed January 19, 2023

Glucose challenge test. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/glucose-challenge-test/about/pac-20394277. Accessed January 19, 2023

Gestational Diabetes Mellitus (GDM). https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/diabetes/gestational-diabetes. Accessed January 19, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

25/02/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ที่ตรวจครรภ์แบบหยด ใช้งานอย่างไร และวิธีอ่านผลการตรวจครรภ์

ท้อง 1 สัปดาห์ ตรวจเจอ ไหม และวิธีตรวจครรภ์มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 25/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา