backup og meta

Overt DM คือ ภาวะเบาหวานที่เป็นมาก่อนตั้งครรภ์ สาเหตุ อาการ การรักษา

Overt DM คือ ภาวะเบาหวานที่เป็นมาก่อนตั้งครรภ์ สาเหตุ อาการ การรักษา
Overt DM คือ ภาวะเบาหวานที่เป็นมาก่อนตั้งครรภ์ สาเหตุ อาการ การรักษา

Overt DM หรือ Pregestational DM คือ ภาวะเบาหวานที่คุณแม่นั้นเป็นมาก่อนตั้งครรภ์ สามารถเป็นได้ทั้งเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ที่อาจเกิดจากการที่ร่างกายผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ หรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ไม่สามารถนำอินซูลินมาใช้เผาผลาญน้ำตาลในเลือดได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หากไม่รับการรักษาหรือควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ได้

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

Overt DM คืออะไร

Overt DM ย่อมาจาก Overt Diabetes Mellitus คือ ภาวะเบาหวานที่เป็นมาตั้งเเต่ก่อนตั้งครรภ์ โดยพบได้ในคุณแม่ที่มีประวัติเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ด้วย

ซึ่งหากไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมาย อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อทั้งสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ เช่น

  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ คือ ภาวะที่คุณเเม่มีความดันโลหิตสูงมากจนอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น การคลอดก่อนกำหนด อาการชัก หมดสติ เเละเสียชีวิต
  • ทารกมีขนาดตัวใหญ่ ส่งผลให้คลอดยากกว่าปกติ
  • ทารกตัวเหลืองหรือเป็นดีซ่าน
  • ทารกอาจเสี่ยงต่อภาวะหายใจลำบาก
  • ทารกมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนหรือโรคเบาหวานเมื่อโตขึ้น ได้มากกว่าเด็กทั่วไป
  • ทารกอาจมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหลังคลอด ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการชัก

สาเหตุของ Overt DM

สาเหตุของ Overt DM แบ่งออกตามชนิดของโรคเบาหวานที่คุณแม่เป็นก่อนที่จะตั้งครรภ์เป็น ดังนี้

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากตับอ่อนผลิตฮอร์โมน อินซูลิน ได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเองที่ไปทำลายเซลล์ในตับอ่อนที่มีหน้าที่ผลิตอินซูลิน จึงทำให้น้ำตาลในเลือดสูง เเละเกิดเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีสาเหตุมาจากร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ลดลง หรือที่เรียกว่าดื้ออินซูลิน จึงทำให้ไม่อาจนำน้ำตาลมาเผาผลาญเปลี่ยนเป็นพลังงานได้เหมาะสม จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินเกณฑ์ นำไปสู่โรคเบาหวานชนิดที่ 2

อาการของ Overt DM

อาการของ Overt DM อาจสังเกตได้ดังนี้

  • กระหายน้ำบ่อย
  • ปัสสาวะบ่อย
  • ความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น หิวบ่อย
  • รู้สึกอ่อนเพลีย และเหนื่อยง่าย
  • ไม่มีอาการแสดง (หากระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงมากนัก คุณเเม่มักจะยังไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ)

การรักษาอาการ Overt DM

การรักษาอาการ Overt DM อาจทำได้ดังนี้

ฉีดอินซูลิน

นับเป็นการรักษาหลักของภาวะ overt DM ซึ่งโดยส่วนมากแล้วคุณเเม่มักจะจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วย อินซูลิน (แต่ก็มีคุณเเม่บางส่วนที่สามารถควบคุมอาหารเเล้วระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์เป้าหมาย ก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาฉีดอินซูลินในการรักษา) ภาวะ overt DM นี้ ควรรีบควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมายให้ได้เร็วที่สุด เพื่อความปลอดภัยของคุณเเม่ และ ลูกน้อยในครรภ์ ดังนั้นหากคุณหมอพิจารณาเเล้วว่าต้องรับการรักษาด้วยยาฉีดอินซูลิน จึงควรเริ่มการรักกษาให้เร็วที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นตั้งเเต่เมื่อทราบว่า ตั้งครรภ์ โดยคุณหมอจะกำหนดขนาดยาและชนิดของอินซูลินที่ใช้ฉีดซึ่งจะเเตกต่างกันไปในเเต่ละบุคคลเเละจะมีการปรับตามความเหมาะสมไปตามภาวะสุขภาพ รวมถึงอายุครรภ์  โดยชนิดของอินซูลินที่ใช้ในคุณเเม่มีภาวะ overt DM มีดังนี้

  • อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็ว (Rapid-Acting Insulin) จะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 15 นาทีหลังฉีด จึงแนะนำให้ฉีดอินซูลินชนิดนี้ก่อนรับประทานอาหาร 10 – 15 นาทีและออกฤทธิ์ได้นาน 2-4 ชั่วโมง มักใช้เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลภายหลังรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ และใช้ร่วมกับอินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง
  • อินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้น (Regular or Short-Acting Insulin) จะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 30 นาทีหลังฉีด ดังนั้นจึงแนะนำให้ฉีดอินซูลินชนิดนี้ก่อนรับประทานอาหาร 30 นาที และออกฤทธิ์ได้นาน 3-6 ชั่วโมง มักใช้เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลภายหลังรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ และใช้ร่วมกับอินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง
  • อินซูลินชนิดออกฤทธิ์นานปานกลาง (Intermediate-Acting Insulin) จะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2-4 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ได้นาน 12-18 ชั่วโมง คุณหมอจะใช้อินซูลินชนิดนี้เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลโดยตลอดทั้งวัน มักใช้จะต้องฉีด 2 ครั้ง คือ ช่วงช้า และ ก่อนนอน เเละใช้ร่วมกับอินซูลินที่ออกฤทธิ์เร็วหรือออกฤทธิ์สั้น

รับประทานยา

โดยทั่วไปเเล้วจะไม่แนะนำในคุณเเม่ตั้งครรภ์ใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดรับประทาน เนื่องจากยาส่วนมากไม่มีข้อมูลยืนยันเเง่ความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ เเต่อาจมียาบางชนิด ที่มีข้อมูลว่าสามารถใช้ได้ระหว่างตั้งครรภ์ คือ ยาเมตฟอร์มิน (Metformin) เเละไกบูไรด์ (Glyburide)

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตัวเอง

  • เพิ่มการขยับหรือเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้นด้วยการเดิน ทำงานบ้าน หรือออกกำลังกายระดับเบา อย่างน้อยวันละ 30 นาที เช่น ว่ายน้ำ โยคะ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคุณเเม่ และ ทารกในครรภ์ โดยอาจขอคำแนะนำเพิ่มเติมคุณหมอได้
  • เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ไขมันดี และเนื้อสัตว์ไร้ไขมัน และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง เช่น อาหารแปรรูป ของทอด ของหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำและจดบันทึกข้อมูลระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงช่วงเวลาการตรวจ เพื่อประเมินว่าสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญให้คุณหมอสามารถปรับเพิ่ม / ลด ปริมาณยาฉีดอินซูลินให้เหมาะสมกับคุณแม่ได้มากที่สุด
  • ตรวจสุขภาพประจำปี และตรวจคัดกรองโรคเมื่อวางแผนตั้งครรภ์ และในระหว่างตั้งครรภ์ควรเข้าพบคุณหมอตามกำหนดทุกครั้ง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Diabetes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes/symptoms-causes/syc-20371444.Accessed August 10, 2022.

Pregestational Diabetes Mellitus. https://www.acog.org/clinical/clinical-guidance/practice-bulletin/articles/2018/12/pregestational-diabetes-mellitus.Accessed August 10, 2022.

Overt Diabetes in Pregnancy. https://link.springer.com/article/10.1007/s13300-022-01210-6.Accessed August 10, 2022.

Diabetes During Pregnancy: Risks to the Baby. https://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?ContentTypeID=90&ContentID=P02354.Accessed August 10, 2022.

gestational diabetes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/gestational-diabetes/diagnosis-treatment/drc-20355345.Accessed August 10, 2022.

Types of Insulin. https://www.cdc.gov/diabetes/basics/type-1-types-of-insulin.html.Accessed August 10, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

12/01/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

เป็นเบาหวานตอนท้อง ควรทำอย่างไร

ผลไม้ที่คนเป็นเบาหวานกินได้ และผลไม้ที่ควรเลี่ยง มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 12/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา