คอพอก เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ขยายใหญ่ขึ้น และส่งผลให้คอบวม นอกจากนี้ยังอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หายใจลำบาก กลืนลำบาก แน่นคอ โดยปกติโรคคอพอกจะหายไปได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษา ยกเว้นในกรณีที่อาการคอพอกรุนแรงมากจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ก็อาจทำการรักษาโดยการใช้ยา และการผ่าตัด
คำจำกัดความ
คอพอก คืออะไร
โรคคอพอก เป็นหนึ่งความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งต่อมไทรอยด์จะโตจนทำให้คอบวม แต่การเป็น โรคคอพอก ไม่ได้หมายความว่าต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ โดยปกติแล้วโรคคอพอกจะไม่มีอันตราย และมักจะหายไปเองโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา ยกเว้นแต่ว่าคอพอกจะมีขนาดใหญ่จนทำให้เกิดความรำคาญ
คอพอกพบได้บ่อยแค่ไหน
โรคคอพอกเกิดจากการสร้างฮอร์โมนที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป ส่วนใหญ่แล้วมักจะพบอาการคอพอกในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน ส่วนใหญ่จะพบได้มากในผู้หญิงที่มาอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
อาการ
อาการของคอพอก
โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการคอพอกมักจะมีเพียงอาการเดียวคือ อาการคอบวม บางครั้งอาการคอบวมก็มักจะใหญ่จนสามารถสัมผัสได้ด้วยมือเปล่า ซึ่งระดับอาการบวมและความรุนแรงของอาการนั้น จะมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ รวมด้วย เช่น
- อาการแน่นลำคอ ไอ และมีเสียงแหบ
- กลืนลำบาก
- หากอาการรุนแรงอาจทำให้หายใจได้ลำบาก
ควรไปพบหมอเมื่อใด
โรคคอพอก เป็นโรคที่เกิดอาการบวมที่ต่อมไทรอยด์ โดยปกติแล้วไม่มีอันตรายต่อร่างกาย แต่บางครั้งสัญญาณเหล่านี้อาจบ่งบอกว่าต่อมไทรอยด์นั้นมีปัญหา หากอาการคอพอกมีอาการบวมมาก ๆ อย่างผิดปกติ และไม่ยุบลง ควรไปพบคุณหมอในทันที
สาเหตุ
สาเหตุของคอพอก
ขาดไอโอดีน
สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคคอพอกนั้นมักจะเกิดขึ้นจากการที่ร่างกายขาดไอโอดีน (Iodine) ต่อมไทรอยด์นั้นต้องการไอโอดีนเพื่อสร้างฮอร์โมน สำหรับใช้ในการควบคุมการเผาผลาญของร่างกาย ซึ่งไอโอดีนสามารถพบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น อาหารทะเล นมวัว
ไฮโปไทรอยด์
ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) เป็นผลมาจากต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนน้อยเกินไป ทำให้เกิดการกระตุ้นให้ผลิตมากขึ้นจนทำให้เกิดอาการคอบวมมากขึ้น
ไฮเปอร์ไทรอยด์
ไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism) เป็นผลมาจากต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนมากเกินไป ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้าใจผิด คิดว่าเกิดการทำงานที่ผิดปกติ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันโจมตีต่อมไทรอยด์ จนทำให้เกิดอาการบวม
สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดโรคคอพอก
- การสูบบุหรี่
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
- ไทรอยด์อักเสบ
- การใช้ยาลิเทียม (Lithium)
- ได้รับไอโอดีนมากเกินไป
- การรักษาด้วยการฉายรังสี
- มะเร็งต่อมไทรอยด์
- การตั้งครรภ์
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดคอพอก
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคคอพอก มีดังนี้
- คนในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์
- ร่างกายขาดไอโอดีน
- เพศหญิง
- อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
- การตั้งครรภ์
- วัยหมดประจำเดือน
- การฉายรังสีที่คอหรือบริเวณหน้าอก
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยคอพอก
แพทย์จะทำการตรวจสอบบริเวณคอว่ามีอาการบวมหรือไม่ และจะมีวิธีการวินิจฉัยอื่น ๆ รวมด้วย เช่น
- การตรวจเลือด สามารถดูระดับฮอร์โมนในร่างกายได้ มากหรือน้อยเกินไป นอกจากนี้การตรวจเลือด สามารถติดตามดูการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้อีกด้วย
- การสแกนไทรอยด์ มักจะทำเมื่ออาการคอพอกมีความรุนแรงมาก โดยการทำไทรอยด์สแกนจะช่วยให้รับรู้ถึงขนาดและลักษณะคอพอกของเราได้
- การอัลตราซาวด์ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้สามารถเห็นรูปร่าง ลักษณะของอาการคอพอกได้ว่าเป็นเช่นใด ใหญ่ขนาดไหน หรือมีก้อนบริเวณลำคอหรือไม่
- การตรวจตัวอย่างชิ้นเนื้อบริเวณคอพอก
การรักษาคอพอก
การรักษาอาการคอพอกนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคคอพอก ซึ่งการรักษาสามารถทำได้ดังนี้
การใช้ยา
หากมีภาวะพร่องไทรอยด์ คุณหมออาจสั่งยาทดแทนฮอร์โมนไทรอยด์ หากอาการคอพอกเกิดจากการอักเสบ คุณหมออาจจ่ายยาแก้อักเสบ เช่น แอสไพริน (Aspirin) หรือคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid)
การผ่าตัด
สำหรับการรักษาคอพอกด้วยการผ่าตัด คุณหมอจะทำการผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออก หลังจากที่เอาออกจะต้องรับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์ไปตลอดชีวิต เพราะไม่มีต่อมสำหรับการสร้างฮอร์โมนแล้ว
การกลืนแร่
วิธีการกลืนแร่คือ การรักษาต่อมไทรอยด์ด้วยการกลืนแร่ไอโอดีน เพื่อทำให้ต่อมไทรอยด์หดตัว
การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่ช่วยจัดการกับอาการคอพอก
อาการคอพอกนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคคอพอกมากที่สุดคือการขาดสารไอโอดีน ดังนั้น เพื่อป้องกันการเกิดโรคคอพอก ควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไอโอดีน หรือการเติมเกลือแกงลงในอาหาร เพื่อให้ร่างกายได้รับไอโอดีนให้เพียงพอ แต่อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่รับประทานมากเกินไป