backup og meta

คลอดติดไหล่ สาเหตุ อาการ และการรักษา

คลอดติดไหล่ สาเหตุ อาการ และการรักษา

คลอดติดไหล่ (Shoulder Dystocia) หมายถึงการที่ไหล่และส่วนลำตัวของทารกติดอยู่ภายในช่องคลอดในขณะที่ส่วนศีรษะคลอดออกมาแล้วส่งผลให้ไม่สามารถออกมาจากครรภ์มารดาได้ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากขนาดตัวของทารกใหญ่เกินไป หรือคลอดเร็วเกินไป ทารกยังไม่กลับตัวอย่างเต็มที่ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน อาจส่งผลให้คุณแม่เสียเลือดมาก และอาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิดได้

[embed-health-tool-bmi]

คำจำกัดความ

คลอดติดไหล่ คืออะไร

คลอดติดไหล่ เกิดขึ้นเมื่อไหล่ข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้างของทารกติดอยู่ด้านหลังกระดูกหัวหน่าวของแม่ระหว่างการคลอด ส่งผลให้ไม่สามารถออกมาจากครรภ์มารดาได้จำเป็นต้องใช้หัตถการเพิ่มเติมเพื่อช่วยคลอดนอกเหนือจากท่าทำคลอดปกติ โดยภาวะนี้ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ระหว่างการคลอด ที่คุณหมอจำเป็นต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพื่อลดความเสี่ยงและอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับคุณแม่และลูกน้อย

คลอดติดไหล่ พบได้บ่อยแค่ไหน

ภาวะคลอดติดไหล่ เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้ทำให้การคลอดล่าช้าผิดปกติ ซึ่งสามารถพบได้ใน 0.2-3 % หรือประมาณ 1 ใน 200 คน

อาการ

อาการของภาวะคลอดติดไหล่

ภาวะคลอดติดไหล่ ส่วนมากมักไม่มีสัญญาณหรืออาการใด ๆ ปรากฏออกมาให้เห็น คุณหมอจะสามารถรู้ว่าการคลอดนั้นมี ภาวะคลอดติดไหล่ ก็ต่อเมื่อศีรษะของทารกออกมาแล้ว แต่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายยังไม่ออกมาตามปกติของการคลอด เหมือนเต่าที่หดคออยู่ในกระดอง

สาเหตุ

สาเหตุของภาวะคลอดติดไหล่

สาเหตุของการเกิดภาวะคลอดติดไหล่ อาจมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คุณหมอต้องติดตามและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่

  • ทารกที่ตัวใหญ่หรือตัวโต (Macrosomia) ยิ่งทารกตัวโต หรือน้ำหนักมากเท่าไรยิ่งมีโอกาสเกิด ภาวะคลอดติดไหล่ มากขึ้นเท่านั้น ทารกมีน้ำหนักมากกว่า 8 ปอนด์ หรือประมาณ 3,700 กรัม บางเกณฑ์อาจไปถึง 4,000-4,500 กรัม
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวาน อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ทารกตัวโต และทารกอาจมีไหล่ที่กว้างกว่าทารกของคุณแม่ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน
  • การคลอดที่เร็วเกินไป อาจจะทำให้เกิด ภาวะคลอดติดไหล่ เนื่องจากทารกยังไม่มีการหมุนไหล่ไปอยู่ในทิศทางแนวเอียง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของภาวะคลอดติดไหล่

คุณแม่ตั้งครรภ์บางคนอาจมีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีภาวะคลอดติดไหล่มากกว่าคนอื่น ได้แก่

  • เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • การตั้งครรภ์แฝด ไม่ว่าจะเป็นแฝดสอง หรือสามก็ตาม
  • เคยประสบเหตุการณ์คลอดติดไหล่จากครั้งก่อน
  • คุณแม่ตั้งครรภ์เป็นโรคอ้วน
  • ช่วงเวลาตั้งครรภ์ คุณแม่มีน้ำหนักขึ้นเกินเกณฑ์มาตรฐานที่คุณหมอกำหนด
  • เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่นขณะคลอด

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในนี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยภาวะคลอดติดไหล่

คุณหมอจะวินิจฉัยว่า ทารกในครรภ์อาจจะมี ภาวะคลอดติดไหล่ ขณะคลอด เมื่อเห็นศีรษะของทารก แต่ไม่สามารถคลอดเอาตัวทารกออกมาได้ แม้จะพยายามลองใช้เทคนิคจัดการเมื่อเกิดภาวะคลอดติดไหล่เพียงเล็กน้อยแล้วก็ตาม นอกจากนั้น หากคุณหมอเห็นว่า ลำตัวของทารกในครรภ์ไม่สามารถออกมาจากครรภ์ได้ง่าย ๆ และต้องหาวิธีการคลอดในรูปแบบอื่น คุณหมอก็อาจจะวินิจฉัยว่าเกิด ภาวะคลอดติดไหล่ ได้เช่นกัน

การรักษาภาวะคลอดติดไหล่

หากคุณหมอทำการวินิจฉัยแล้วว่า อาจเกิดการคลอดติดไหล่ เมื่อเห็นศีรษะของทารกแต่ร่างกายยังไม่สามารถออกมาได้ โดยทางการแพทย์ใช้คำว่า “HELPERR” นั่นก็คือ

  • H (Help) คุณหมอจะขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากพยาบาลหรือคุณหมอคนอื่น ๆ รวมทั้งสหสาขาวิชาชีพที่จำเป็น ได้แก่ วิสัญญีแพทย์ ในกรณีที่จำเป็นต้องมีการทำหัตถการที่ต้องมีการระงับความรู้สึกเพิ่มเติม กุมารแพทย์ เพื่อดูแลทารกหลังช่วยคลอดออกมาได้ เป็นต้น
  • E (Episiotomy) การทำหัตถการ โดยการกรีดหรือตัดฝีเย็บระหว่างทวารหนักกับช่องคลอด โดยต้องมีการตัดฝีเย็บให้กว้างขึ้น รวมทั้งต้องมี (Empty bladder) คือการสวนปัสสาวะออกให้มากที่สุด
  • L (Legs) คุณหมออาจขอให้คุณแม่ช่วยงอเข่าทั้งสองข้างเข้าหาท้อง หรือผู้ช่วยอาจเป็นคนช่วยดัน เพื่อเป็นการขยายอุ้งเชิงกรานให้กว้างมากขึ้น
  • P (Suprapubic Pressure) คุณหมอจะกดและดันบริเวณท้องน้อยเพื่อกระตุ้นให้ไหล่ของทารกหมุนอยู่ในทิศทางที่สมควร และกดให้ไหล่ทารกที่ติดอยู่กับกระดูกเชิงกรานหลุดออก
  • E (Enter) การช่วยหมุนไหล่ของทารกไปยังตำแหน่งที่เหมาะที่ควร
  • R (Remove) ใช้มือผู้ทำคลอดใส่ไปด้านหลังของไหล่หลังทารก แล้วผลักไหล่หลังไปด้านหน้า 180 องศา เพื่อให้ไหล่หมุนและเปลี่ยนตำแหน่ง
  • R (Roll the patient) การเปลี่ยนท่าตำแหน่งการคลอดของคุณแม่

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะคลอดติดไหล่

เมื่อเกิดภาวะคลอดติดไหล่ อาจส่งผลกระทบทั้งต่อคุณแม่และลูกน้อยได้ ซึ่งได้แก่

  • ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณแม่ เช่น การตกเลือด คือ การที่เลือดออกมามากหลังจากคลอดแล้ว เนื้อเยื่อของคุณแม่อาจมีการฉีกขาดไม่ว่าจะเป็นปากมดลูก ทวารหนัก มดลูก หรือช่องคลอด
  • ปัญหาที่อาจส่งผลต่อลูกน้อย ได้แก่ กระดูกไหปลาร้าหรือแขนอาจจะหักได้ เส้นประสาทที่แขนได้รับบาดเจ็บจนอาจทำให้เกิดภาวะอัมพาตที่บริเวณแขนข้างนั้น ๆ ได้ ภาวะขาดอากาศหายใจอาจจะเกิดขึ้นหากเป็นกรณีที่มีความรุนแรงมาก ๆ ซึ่งพบได้น้อย

การเกิดภาวะคลอดติดไหล่ เป็นภาวะที่ป้องกันได้ยาก เพราะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นกับใครได้บ้าง แต่หากจัดการบางอย่าง เช่น น้ำหนักของคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นไปตามเกณฑ์ แทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจช่วยลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการคลอดติดไหล่

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่อาจสามารถช่วยป้องกันการเกิดภาวะคลอดติดไหล่ได้ 100% แต่การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางอย่าง อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะคลอดติดไหล่ได้ ดังนี้

  • เข้ารับการตรวจกับคุณหมอเป็นประจำตลอดช่วงที่ตั้งครรภ์ เพื่อตรวจดูพัฒนาการของทารกในครรภ์ และตรวจหาความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์
  • สำหรับคุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวาน ควรควบคุมโรคเบาหวานให้ดี เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What is shoulder dystocia?. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/shoulder-dystocia. Accessed August 3, 2021

Shoulder Dystocia. https://www.aafp.org/afp/2004/0401/p1707.html. Accessed August 3, 2021

Shoulder dystocia: an Evidence-Based approach. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3279180/. Accessed January 31, 2022.

Shoulder Dystocia. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK470427/. Accessed January 31, 2022.

SHOULDER DYSTOCIA. https://www.marchofdimes.org/complications/shoulder-dystocia.aspx. Accessed January 31, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/07/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะแทรกซ้อนของทารกคลอดก่อนกำหนด ที่ส่งผลต่อสุขภาพลูกน้อย

ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ที่พบได้บ่อยมีอะไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 14/07/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา