คุณแม่ที่มี น้ำหนัก ครรภ์ น้อยกว่าเกณฑ์ อาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ เช่น การคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย และถึงแม้ภาวะน้ำหนักครรภ์น้อยกว่าเกณฑ์จะพบได้น้อยกว่าภาวะน้ำหนักครรภ์เกินเกณฑ์ แต่คุณแม่ที่น้ำหนักครรภ์น้อยกว่าเกณฑ์ก็ควรดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมเช่นกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพทั้งขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด และหากเป็นไปได้ คุณแม่ควรเพิ่มน้ำหนักให้เหมาะสมตามเกณฑ์ตั้งแต่ช่วงเตรียมตั้งครรภ์ เพื่อให้สามารถตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย ช่วยให้ทารกมีพัฒนาการที่สมบูรณ์และเหมาะสมตามอายุครรภ์
[embed-health-tool-due-date]
น้ำหนัก ครรภ์ น้อยกว่าเกณฑ์ คือเท่าไหร่
ตามปกติแล้ว คุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาสแรกจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากตอนก่อนตั้งครรภ์ประมาณ 1-2 กิโลกรัมเนื่องจากครรภ์ยังไม่ขยายใหญ่มากนัก และน้ำหนักของคุณแม่ตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้นประมาณสัปดาห์ละ 0.5 กิโลกรัม (500 กรัม) ไปจนถึงวันคลอด อย่างไรก็ตาม น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอาจแตกต่างไปในคุณแม่แต่ละคน หากในช่วงก่อนตั้งครรภ์ คุณแม่มีรูปร่างผอมก็อาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นไม่มากนักขณะตั้งครรภ์ หรือคุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวค่อนข้างเยอะอยู่แล้ว และมีน้ำหนักครรภ์เพิ่มขึ้นไม่มาก ก็อาจไม่แน่ใจว่าน้ำหนักครรภ์ของตัวเองเหมาะสม มากเกินเกณฑ์ หรือน้อยกว่าเกณฑ์หรือไม่ การคำนวณหาน้ำหนักครรภ์ที่เหมาะสมจึงอาจช่วยให้ทราบถึงสุขภาพขณะตั้งครรภ์ได้ในระดับหนึ่ง
โดยทั่วไป น้ำหนักที่เหมาะสมขณะตั้งครรภ์สามารถอ้างอิงได้จากค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ก่อนตั้งครรภ์ ดังต่อไปนี้
- ค่า BMI น้อยกว่า 18.5 ถือว่า น้ำหนักก่อนตั้งครรภ์น้อยกว่าเกณฑ์ ควรเพิ่มน้ำหนักขณะตั้งครรภ์ประมาณ 13-18 กิโลกรัม
- ค่า BMI 18.5-24.9 ถือว่า น้ำหนักก่อนตั้งครรภ์ตามเกณฑ์ ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ประมาณ 11-15 กิโลกรัม
- ค่า BMI 25-29.9 ถือว่า น้ำหนักก่อนตั้งครรภ์เกินเกณฑ์ ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ประมาณ 6.8-11.3 กิโลกรัม
- ค่า BMI ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป ถือว่า เป็นโรคอ้วน ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ประมาณ 4.9-9 กิโลกรัม
สำหรับคุณแม่ที่ท้องลูกแฝด ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ประมาณ 16.5-24.5 กิโลกรัม
หากคุณแม่ตั้งครรภ์คำนวณน้ำหนักครรภ์แล้วพบว่าตัวเองมีน้ำหนักครรภ์น้อยกว่าเกณฑ์ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารเพื่อให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสมตามเกณฑ์ โดยเน้นรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีสารอาหารครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการเพิ่มน้ำหนักด้วยของทอด ของหวาน หรือปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติม
น้ำหนัก ครรภ์ น้อยกว่าเกณฑ์ ส่งผลกระทบต่อคุณแม่อย่างไร
น้ำหนักครรภ์น้อยกว่าเกณฑ์ อาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ได้ ดังนี้
- การแท้งบุตร คุณแม่ที่น้ำหนักน้อยตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์อาจเสี่ยงแท้งบุตรในช่วงไตรมาสที่ 1 (เดือนที่ 1-3 ของการตั้งครรภ์) มากกว่าคนที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์
- การพยายามตั้งครรภ์ครั้งต่อไป ผู้ที่มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์มักต้องใช้เวลามากกว่าคนที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์กว่าจะตั้งครรภ์ได้สำเร็จ เนื่องจากน้ำหนักที่น้อยเกินไปจะกระทบต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์ ทำให้การตกไข่ผิดปกติหรือไม่มีการตกไข่เลย ทั้งยังทำให้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ซึ่งส่งผลให้ตั้งครรภ์ได้ยากขึ้น
น้ำหนักครรภ์น้อยกว่าเกณฑ์ ส่งผลเสียต่อทารกอย่างไร
คุณแม่ที่มีน้ำหนักครรภ์น้อยกว่าเกณฑ์ อาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพทารกได้ดังนี้
- ทารกคลอดก่อนกำหนด เมื่อคุณแม่มีน้ำหนักครรภ์น้อยกว่าเกณฑ์ อาจทำให้เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด หรือคลอดก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ และทารกแรกเกิดมักจะตัวเล็กกว่าปกติ เนื่องจากระบบอวัยวะต่าง ๆ ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทำให้เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น พัฒนาการล่าช้า ปอดพัฒนาไม่สมบูรณ์ ติดเชื้อง่าย
- ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย น้ำหนักครรภ์ที่น้อยเกินไป อาจส่งผลให้ทารกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จนเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์ หรือน้อยกว่า 2,500 กรัม และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพและกระทบต่อพัฒนาการของเด็กเมื่ออายุมากขึ้น
การดูแลตัวเองเมื่อ น้ำหนัก ครรภ์ น้อยกว่าเกณฑ์
คุณแม่ที่น้ำหนักครรภ์น้อยกว่าเกณฑ์ สามารถดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- เปลี่ยนมารับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนให้หลากหลาย เน้นธัญพืชเต็มเมล็ด ผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ โปรตีนไม่ติดมัน
- ควรตั้งเป้าในการเพิ่มน้ำหนักอย่างช้า ๆ อย่าให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นรวดเร็วเกินไป และไม่ควรเพิ่มน้ำหนักด้วยการรับประทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เพราะส่งผลเสียต่อสุขภาพและทำให้ทารกไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต
- รับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ 5-6 มื้อ/วัน เพื่อให้ย่อยได้ง่ายขึ้น ไม่เสี่ยงเกิดอาการจุกเสียด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรือขาดสารอาหาร
- รับประทานอาหารว่างที่มีประโยชน์ เช่น โยเกิร์ต ถั่ว ลูกเกด ไอศกรีม ผลไม้แห้ง แครกเกอร์ แอปเปิล กล้วย
- เพิ่มอาหารที่ให้พลังงาน เช่น น้ำเกรวี่ ชีส เนย เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานมากขึ้นโดยไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
- ปรึกษาคุณหมอที่ดูแลครรภ์เพื่อวางแผนเพิ่มน้ำหนักครรภ์และดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพที่สุด
- ติดตามการเพิ่มน้ำหนักครรภ์อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ และตรวจสอบเป็นประจำว่ามีค่าดัชนีมวลกายเหมาะสมแล้วหรือไม่ อาจช่วยให้วางแผนการเพิ่มน้ำหนักได้ง่ายขึ้น