backup og meta

คนท้องอาหารไม่ย่อย อาการ สาเหตุ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 31/01/2022

    คนท้องอาหารไม่ย่อย อาการ สาเหตุ และการรักษา

    คนท้องอาหารไม่ย่อย แสบร้อนกลางอก ท้องอืด จุกเสียด มีแก๊สในกระเพาะอาหาร เป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อย อาจมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารมากเกินไป การกินอาหารที่มีไขมันสูง หรือความวิตกกังวลในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งโดยปกติแล้วมักจะไม่เป็นอันตรายใด ๆ อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่ตั้งครรภ์สังเกตพบอาการผิดปกติ เช่น มือเท้าบวมกะทันหัว ปวดศีรษะไม่หาย การมองเห็นมีปัญหา ควรปรึกษาคุณหมอในทันทีเนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของภาวะที่อันตรายได้

    อาการคนท้องอาหารไม่ย่อย

    อาการอาหารไม่ย่อย คือ ความอึดอัดในช่องท้องส่วนบนที่ส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น

    • อิ่มเร็วกว่าปกติ แม้จะเพิ่งเริ่มกินอาหาร
    • แสบร้อนกลางอก
    • มีกรดไหลย้อน หรืออยากอาเจียน
    • ท้องอืด จุกเสียด หรือแน่นท้อง
    • เรอบ่อย
    • วิงเวียนศีรษะ

    หญิงตั้งครรภ์อาจประสบปัญหาอาหารไม่ย่อยได้ในทุกไตรมาสของการตั้งครรภ์ โดยระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้คนท้องเริ่มมีอาการอาหารไม่ย่อยได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ และจะยิ่งมีอาการบ่อยขึ้นในช่วงไตรมาสที่สองและสาม เนื่องจากทารกในครรภ์เริ่มดิ้น แต่นอกจากการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายแล้ว ปัจจัยภายนอกก็สามารถทำให้คนท้องอาหารไม่ย่อยได้เช่นกัน

    สาเหตุที่ทำให้คนท้องอาหารไม่ย่อย

    คนท้องอาหารไม่ย่อย ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากสาเหตุเหล่านี้

    • กินอาหารมากไป หรือกินเร็วเกินไป
    • กินอาหารไขมันสูง อาหารเผ็ด หรือช็อกโกแลต
    • ดื่มน้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม
    • เคลื่อนไหวร่างกายอย่างหนัก เช่น ออกกำลังกายทันทีหลังกินเสร็จ
    • สูบบุหรี่
    • รู้สึกวิตกกังวล
    • ก้มตัวบ่อยเกินไป
    • มีอาการอาหารไม่ย่อยเป็นประจำตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
    • เคยตั้งครรภ์มาแล้ว

    คนท้องอาหารไม่ย่อย ลูกในท้องจะเป็นอันตรายไหม

    โดยปกติแล้ว อาการคนท้องอาหารไม่ย่อยมักไม่ส่งผลกระทบกับลูกในท้อง และหากอาการไม่รุนแรงก็สามารถดีขึ้นหรือหายได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือกินยาตามแพทย์สั่ง แต่หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือกินยาแล้ว อาการจุกเสียดแสบร้อนกลางอกยังไม่หายไปไหน อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรง เช่น ครรภ์เป็นพิษ ซึ่งส่งผลกระทบต่อตับ เลือด และสมอง ทำให้แม่และทารกในครรภ์เสี่ยงมีอันตรายถึงชีวิตได้ ฉะนั้น หากคนท้องอาหารไม่ย่อย มีอาการจุกเสียดแสบร้อนกลางอกพร้อมกับอาการเหล่านี้ ควรไปพบคุณหมอทันที

    • มือ เท้า หรือใบหน้าบวมขึ้นกะทันหัน
    • ปวดศีรษะ กินยาแล้วก็ยังไม่หาย
    • ดวงตามีปัญหา เช่น ตาพร่ามัว มองเห็นแสงวาบ
    • เจ็บปวดบริเวณซี่โครงอย่างรุนแรง

    วิธีการรักษาอาการคนท้องอาหารไม่ย่อย

    หาก อาการ อาหารไม่ย่อย ที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ไม่รุนแรงนัก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินหรือการใช้ชีวิตดังต่อไปนี้ ก็อาจช่วยบรรเทาหรือป้องกันได้

    • เปลี่ยนจากการกินอาหารวันละ 3 มื้อหลัก มาเป็นอาหารมื้อย่อย ๆ โดยกินอาหารแต่ละมื้อให้น้อยลง
    • งดกินอาหารก่อนเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
    • เวลานั่งกินอาหารควรนั่งหลังตรง เพื่อไม่ให้เกิดแรงกดทับที่ช่องท้อง และเมื่อกินเสร็จแล้วควรนั่งพักอย่างน้อย 10-15 นาที อย่าเอนตัวนอนทันที
    • ลดหรืองดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน โดยเฉพาะหลังมื้อเย็น
    • สังเกตว่าอาหารชนิดใดที่กินแล้ว อาหารไม่ย่อย และหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้น
    • ดื่มนมเพื่อช่วยลดอาการแสบร้อนกลางอก
    • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งวิธีนี้ช่วยป้องกันได้ทั้งอาการอาหารไม่ย่อย และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ของทั้งแม่และเด็ก เช่น เด็กเกิดมามีปัญหาทางสมอง เด็กมีส่วนสูงและน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์
    • ไม่สูบบุหรี่ เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้คนท้องอาหารไม่ย่อย แต่ยังก่อปัญหาสุขภาพร้ายแรงให้ทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ด้วย เช่น การแท้ง โรคไหลตายในเด็ก เด็กคลอดก่อนกำหนด
    • คนท้องอาหารไม่ย่อยควรนอนตะแคงซ้าย

    แต่หากคุณแม่ท้องลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วอาการ อาหารไม่ย่อย ยังไม่ดีขึ้น หรือแย่กว่าเดิม ไม่ควรซื้อยามากินเอง แต่ต้องรีบปรึกษาคุณหมอทันที เพื่อให้คุณหมอวินิจฉัยและจ่ายยาที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับคุณและลูกในท้องให้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 31/01/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา