backup og meta

ปวดหน่วงท้องน้อยระหว่างตั้งครรภ์ สาเหตุ อาการ และการรักษา

ปวดหน่วงท้องน้อยระหว่างตั้งครรภ์ สาเหตุ อาการ และการรักษา

ปวดหน่วงท้องน้อยระหว่างตั้งครรภ์ อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการขยายตัวของของมดลูกตามขนาดตัวของทารกในครรภ์ ทำให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณรอบมดลูกตึง และอาจเกิดอาการปวดหน่วงได้ในบริเวณท้องน้อย สามารถบรรเทาได้ด้วยการใช้ยาแก้ปวด และการปรับเปลี่ยนอิริยาบท อย่างไรก็ตาม หากสังเกตพบความผิดปกติ ควรแจ้งคุณหมอในทันทีเพื่อสาเหตุที่แน่ชัดและทำการรักษาอย่างเร็วที่สุด

[embed-health-tool-due-date]

คำจำกัดความ

ปวดหน่วงท้องน้อยระหว่างตั้งครรภ์ คืออะไร

อาการปวดหน่วงท้องน้อยระหว่างตั้งครรภ์ คือ อาการเจ็บแปลบหรือเสียดแทงในท้องน้อยและบริเวณขาหนีบข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง อาการนี้พบบ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์ และถือเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ปกติ ทั้งนี้อาการปวดหน่วงท้องน้อยในระหว่างตั้งครรภ์มักจะมีอาการเด่นชัดขึ้นเมื่ออายุครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่สอง เนื่องจากเอ็นที่ยึดมดลูกโดนยืดตึงขึ้นจากการขยายตัวของมดลูกที่โตขึ้นนั่นเอง

ปวดหน่วงท้องน้อยระหว่างตั้งครรภ์ พบบ่อยแค่ไหน

อาการปวดหน่วงท้องน้อยระหว่างตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์

อาการ

อาการของการปวดหน่วงท้องน้อยระหว่างตั้งครรภ์

การปวดหน่วงท้องน้อยระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์เกิดความกังวลและไม่สบายตัว อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้สามารถพบได้ทั่วไปในคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยคุณแม่อาจมีอาการ เจ็บแปลบกล้ามเนื้อท้องกระตุกเฉียบพลัน ส่วนใหญ่มักเกิดกับท้องด้านขวา หรือทั้งสองด้าน และแต่ละครั้งคุณแม่อาจมีอาการเพียงแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น

อาการปวดหน่วงท้องน้อยระหว่างตั้งครรภ์ อาจเกิดจากการออกกำลังกาย หรือการเคลื่อนไหวร่างกายเหล่านี้

  • จาม
  • ไอ
  • หัวเราะ
  • กลิ้งบนเตียง
  • ลุกขึ้นยืนอย่างรวดเร็ว

สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

อาการปวดหน่วงท้องน้อยระหว่างตั้งครรภ์มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและหายได้เอง แต่หากมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ควรเข้าพบคุณหมอทันที

  • อาการปวดรุนแรง
  • มีอาการปวดต่อเนื่องนานหลายนาที
  • มีไข้
  • ตัวเย็น
  • รู้สึกเจ็บเมื่อปัสสาวะ
  • เดินลำบาก
  • มีมูกเลือดหรือเลือดออกรวมถึงน้ำใส ๆ ที่ไหลออกจากช่องคลอด

อาการปวดหน่วงท้องน้อยระหว่างตั้งครรภ์มักเกิดจากหลากหลายสาเหตุ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม โดยภาวะที่คุณแม่ควรระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด และโรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ เช่น ไส้เลื่อน ไส้ติ่งอักเสบ ความผิดปกติของกระเพาะ ตับ และไต และในบางครั้ง ก็อาจเข้าใจผิดว่าการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดคืออาการปวดหน่วงท้องน้อยระหว่างตั้งครรภ์ได้เช่นกัน

สาเหตุ

สาเหตุของอาการปวดหน่วงท้องน้อยระหว่างตั้งครรภ์

เมื่อตั้งครรภ์ เส้นเอ็นจำนวนมากจะเริ่มห่อหุ้มและพันรอบมดลูกของคุณแม่ตั้งครรภ หนึ่งในจำนวนนั้นคือเส้นเอ็นที่ยึดมดลูกที่อยู่ระหว่างขาและกระดูกเชิงกราน ซึ่งทำหน้าที่ยึดมดลูกและขาหนีบ เส้นเอ็นยึดมดลูกนี้จะมีการหดยึดและคลายตัวอย่างช้าๆ เมื่อทารกและมดลูกขยายตัวใหญ่ขึ้น เส้นเอ็นที่ยึดมดลูกจะยืดออกทำให้เกิดความรู้สึกตึง หากเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วก็สามารถทำให้เส้นเอ็นหดตัวกะทันหัน คล้ายยางรัดของดีดตัว และทำให้เกิดอาการปวดเฉียบพลันได้

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของอาการปวดหน่วงท้องน้อยระหว่างตั้งครรภ์

ใจปัจจุบันยังไม่ทราบปัจจัยความเสี่ยงที่แน่ชัด เกี่ยวกับอาการปวดหน่วงท้องน้อยระหว่างตั้งครรภ์ เพราะเป็นภาวะปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ในมดลูกที่ขยายขนาดขึ้นตามอายุครรภ์ที่มากขึ้น

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยอาการปวดหน่วงท้องน้อยระหว่างตั้งครรภ์

คุณหมออาจวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจร่างกายและตรวจดูอาการที่เกิดขึ้น เนื่องจากอาการปวดหน่วงท้องน้อยระหว่างตั้งครรภ์เป็นอาการที่พบได้บ่อย และมักจะไม่เป็นอันตรายใด ๆ จึงอาจไม่ต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่ม อย่างไรก็ตาม หากคุณหมออาจทำการตรวจเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับอาการและสภาวะที่คุณแม่กำลังเป็นอยู่

การรักษาอาการปวดหน่วงท้องน้อยระหว่างตั้งครรภ์

การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรง อย่างไรก็ดี คุณหมออาจแนะนำให้บรรเทาอาการปวดด้วยยาแก้ปวดที่จำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป ทั้งนี้ควรสอบถามแพทย์ก่อนเลือกรับประทานยา ร่วมกับการแนะนำให้ปรับเปลี่ยนท่าทางและกิจกรรมประจำวัน หลีกเลี่ยงท่าทางที่อาจทำให้อาการแย่ลง หรือหากตรวจพบสาเหตุที่ทำให้เกิดการปวดท้องอื่นๆเพิ่มเติมก็ให้การรักษาตามสาเหตุ เช่น ปวดท้องจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คุณหมออาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะเพิ่มเติม เป็นต้น

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่ช่วยจัดการกับอาการปวดหน่วงท้องน้อยระหว่างตั้งครรภ์

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองดังต่อไปนี้ อาจช่วยจัดการกับอาการปวดหน่วงท้องน้อยระหว่างตั้งครรภ์ได้

  • ออกกำลังกายเบาๆ ด้วยการยืดเหยียด เช่น โยคะสำหรับคนท้อง เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหน้าท้อง อย่างไรก็ดี ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์
  • หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว หากอยากเปลี่ยนท่า เช่น ตอนเดิน ตอนนั่ง ควรค่อยๆ เปลี่ยนท่าช้าๆ เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อตึงและเจ็บปวด
  • งอตัวหรือโก่งสะโพกเมื่อไอ จาม หรือหัวเราะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแรงดึงในเส้นเอ็น
  • ประคบอุ่น โดยใช้แผ่นความร้อน หรือผ้าชุบน้ำร้อน หรืออาจแช่น้ำอุ่นก็ได้ อย่างไรก็ดี ควรปรึกษาคุณหมอก่อนทุกครั้ง เนื่องจากความร้อนที่สูงเกินไปอาจเป็นอันตรายแก่ทารกในครรภ์
  • สังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ หากอาการเป็นรุนแรงมากขึ้น ให้พบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและรับการรักษา

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Round ligament pain during pregnancy. https://www.webmd.com/baby/guide/pregnancy-round-ligament-pain#2. Accessed November 1, 2017

Round ligament pain during pregnancy. http://americanpregnancy.org/pregnancy-health/round-ligament-pain-during-pregnancy/. Accessed November 1, 2017

What causes round ligament pain during pregnancy? https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/expert-answers/round-ligament-pain/faq-20380879. Accessed March 24, 2022.

Placental abruption. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/placental-abruption/symptoms-causes/syc-20376458. Accessed March 24, 2022.

Stomach pain in pregnancy. https://www.nhs.uk/pregnancy/related-conditions/common-symptoms/stomach-pain/. Accessed March 24, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/03/2023

เขียนโดย นบชุลี นวลอ่อน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

คนท้องทำงานบ้าน อันตรายหรือไม่ และควรหลีกเลี่ยงอะไรบ้าง

โยคะสำหรับคนท้อง มีประโยชน์ต่อสุขภาพคุณแม่และทารกอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย นบชุลี นวลอ่อน · แก้ไขล่าสุด 27/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา