backup og meta

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความเสี่ยงสุขภาพที่คุณแม่ป้องกันได้

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความเสี่ยงสุขภาพที่คุณแม่ป้องกันได้

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ที่ส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ จัดเป็นปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะหากปล่อยไว้จนล่วงเลยไปถึงกำหนดคลอด อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อแม่และเด็กจนยากจะรักษา เพื่อป้องกันเบาหวานขณะตั้งครรภ์นั้น คุณแม่รู้หรือไม่ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรที่จะช่วยให้คุณแม่สุขภาพดีและลดความเสี่ยงของเบาหวานขณะตั้งครรภ์  

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ คืออะไร

เบาหวานขณะตั้งครรภ์คือภาวะสุขภาพชั่วคราวที่เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ และมีลักษณะโดยทั่วไปเหมือนกับโรคเบาหวานตามปกติ คือร่างกายมีปัญหาเกี่ยวกับระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่เท่านั้น แต่ยังมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ด้วย อย่างไรก็ตาม หลังจากคลอดลูก ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มักหายไปเอง แต่คุณแม่หลังคลอดบางรายอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ตามมาในภายหลัง 

แม้ว่าเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะเป็นอาการทางสุขภาพชั่วคราว แต่ก็มีผลกระทบต่อสุขภาพของแม่และเด็กในขณะตั้งครรภ์และขณะคลอดได้ ดังนี้

ผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ ดังนี้

  • ทารกมีน้ำหนักตัวมากอาจทำให้คลอดยาก 
  • คลอดก่อนกำหนด 
  • ภาวะกลุ่มอาการหายใจลำบาก (Respiratory Distress Syndrome หรือ RDS)
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) 
  • โรคอ้วน
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 
  • ทารกเสียชีวิตในครรภ์ (Intrauterine fetal death)
  • ทารกตายคลอด (Stillbirth) 

ผลกระทบต่อสุขภาพของแม่ตั้งครรภ์

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ส่งผลกระทบต่อหญิงตั้งครรภ์ทั้งระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอดได้ ดังนี้

  • ความดันโลหิตสูง
  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ 
  • อาจจำเป็นต้องมีการผ่าคลอดเนื่องจากทารกมีขนาดตัวใหญ่
  • เสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 หลังจากคลอดลูก

วิธีป้องกันเบาหวานขณะตั้งครรภ์  

การป้องกันเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีได้หลายวิธีด้วยกัน สามารถปฏิบัติตัวตามได้ง่าย ๆ ดังนี้

รักษาน้ำหนักให้สมดุล

หากวางแผนที่จะมีลูก หรือกำลังเริ่มตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก ควรรักษาระดับน้ำหนักตามเกณฑ์ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) ไม่ให้เกิน 25 BMI เพราะหากมากไปกว่านี้ จะถือว่ามีความเสี่ยงต่อเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ดังนั้น คุณแม่จึงจำเป็นต้องใส่ใจกับการเลือกรับประทานอาหารให้มากเป็นพิเศษ นอกจากจะต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อบำรุงสุขภาพตนเองและทารกในครรภ์แล้ว ยังต้องคำนึงถึงปริมาณแคลอรีที่อาจจะทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นจนเสี่ยงต่อเบาหวานขณะตั้งครรภ์อีกด้วย

ออกกำลังกาย

ระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่อาจรู้สึกว่าเคลื่อนไหวร่างกายไม่ค่อยสะดวก แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรพยายามเคลื่อนไหวร่างกายหรือการออกกำลังกาย โดยควรออกกำลังกายวันละ 30 นาที หรือพยายามทำกิจกรรมเพื่อเคลื่อนไหวร่างกายให้ได้มากที่สุด เช่น การเดิน ว่ายน้ำ โยคะ เพื่อช่วยควบคุมน้ำหนักตัวให้แข็งแรง ลดความเสี่ยงต่อสุขภาพต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

อาหารถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ของคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะนอกจากจะต้องรับประทานอาหารเพื่อให้ร่างกายของตนเองแข็งแรงแล้ว ก็ยังต้องเลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อทารกในครรภ์ด้วย และเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ควรเน้นรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง ไขมันต่ำ แคลอรี่น้อย เพื่อลดความเสี่ยงของระดับน้ำตาลในเลือดสูงที่อาจนำไปสู่ภาวะเบาหวาน

ตรวจความเสี่ยงเบาหวานขณะตั้งครรภ์

ก่อนการตั้งครรภ์ หรือช่วงแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อหาความเสี่ยงต่อสุขภาพต่าง ๆ และควรไปพบคุณหมอตามนัดหมายทุกครั้ง เพื่อรับทราบความเสี่ยงของ เบาหวานขณะตั้งครรภ์และความเสี่ยงต่อสุขภาพอื่น ๆ เพื่อประเมินแนวทางการรักษาไม่ให้ส่งผลกระทบต่อแม่และเด็ก และหลังจากคลอดแล้ว ควรไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินว่าเบาหวานขณะตั้งครรภ์หายขาดแล้วหรือไม่ หรือมีความเสี่ยงต่อเบาหวานชนิดที่ 2 หลังคลอดหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เบาหวานขณะตั้งครรภ์ยากที่จะป้องกันได้ในบางกรณี โดยเฉพาะหากภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์นั้นอยู่ในระดับที่รุนแรง ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์จึงควรดูแลสุขภาพของตนเองเป็นพิเศษ และควรตรวจหาความเสี่ยงสุขภาพตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรก  เพื่อจะได้รับมือและป้องกันเบาหวานรวมทั้งภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ขณะตั้งครรภ์ได้ทันท่วงที

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Gestational diabetes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/gestational-diabetes/symptoms-causes/syc-20355339. Accessed June 21, 2022.

Gestational Diabetes: Can I Lower My Risk?. https://www.webmd.com/diabetes/gestational-diabetes-guide/gestational-diabetes-can-i-lower-my-risk#1-2. Accessed June 21, 2022.

Ways to prevent gestational diabetes. https://www.medicalnewstoday.com/articles/325156. Accessed June 21, 2022.

Gestational diabetes. https://www.nhs.uk/conditions/gestational-diabetes/. Accessed June 21, 2022.

Gestational Diabetes. https://www.cdc.gov/diabetes/basics/gestational.html. Accessed June 21, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/03/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

เบาหวานเกิดจากอะไร

การควบคุมอาหารสำหรับผู้เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 14/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา