backup og meta

พัฒนาการทารกในครรภ์ แต่ละไตรมาส

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 31/03/2022

    พัฒนาการทารกในครรภ์ แต่ละไตรมาส

    พัฒนาการทารกในครรภ์ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ไข่ที่ผ่านการปฏิสนธิฝังตัวในผนังมดลูก พัฒนาการเป็นตัวอ่อนและทารกในครรภ์ โดยการตั้งครรภ์มีระยะเวลาประมาณ 9 เดือน แบ่งออกเป็น 3 ไตรมาสแต่ละไตรมาสแบ่งออกเป็น 3 เดือน ซึ่งระยะเวลาการตั้งครรภ์มักอยู่ระหว่าง 38-42 สัปดาห์

    พัฒนาการทารกในครรภ์ แต่ละไตรมาส

    การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทารกในครรภ์แต่ละไตรมาส มีดังนี้

    ไตรมาสแรก คือ ระยะเวลาตั้งแต่การปฏิสนธิจนถึง 12 สัปดาห์ หรือช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์  

    เดือนที่ 1

    • การปฏิสนธิ เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 2-4 นับจากวันแรกของรอบเดือนรอบสุดท้าย โดยไข่จะทำการผสมกับอสุจิและสร้างเป็นตัวอ่อน ค่อย ๆ เคลื่อนไปตามท่อนำไข่ เพื่อสร้างเอนทิตี (Entity) หรือไซโกต (Zygote) ที่ประกอบด้วยโครโมโซม 46 แท่ง โดยรับมาจากแม่และพ่ออย่างละ 23 แท่ง ซึ่งช่วยกำหนดเพศและลักษณะทางกายภาพของทารก จากนั้นไซโกตจะเคลื่อนตัวจากท่อนำไข่ไปยังมดลูกพร้อมกับแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนหรือที่เรียกว่าโมรูลา (Morula) เมื่อเซลล์แบ่งตัวแล้วจะเข้าไปฝังในเยื่อบุโพรงมดลูก โดยจะเจริญไปเป็นตัวอ่อนเอ็มบริโอ (Embryo) เรียกว่ากระบวนการฝังตัวอ่อน
    • รกที่มีหน้าที่ในการลำเลียงสารอาหารจากแม่สู่ทารกในครรภ์ กำลังพัฒนาขึ้น

    เดือนที่ 2

    • เนื้อเยื่อหัวใจเริ่มพัฒนา
    • ลักษณะภายนอก เช่น แขน ขา นิ้วมือ นิ้วเท้า จมูก หู ใบหน้า กำลังพัฒนา
    • เนื้อเยื่อชั้นใน เช่น ปอด ลำไส้ กระเพาะอาหาร เริ่มพัฒนาขึ้น
    • ระบบประสาทเริ่มพัฒนา เช่น สมอง กระดูกสันหลัง รวมถึงเนื้อเยื่อประสาทอื่น ๆ ของระบบประสาทส่วนกลาง

    เดือนที่ 3

    • ศีรษะส่วนบนมีขนาดใหญ่ขึ้น
    • อวัยวะบนหน้าของทารกเกือบจะสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นใบหน้า จมูก หู ริมฝีปากบนเป็นรูปร่างมากขึ้น รวมถึงแขน ขา นิ้วมือ นิ้วเท้า แต่ดวงตายังคงปิดอยู่ 
    • ทารกเริ่มสามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อบางส่วน เช่น กำมือ ขยับแขนขา
    • เริ่มเห็นพัฒนาการของอวัยวะเพศ แต่ยังไม่มากพอที่จะบอกเพศของทารกในครรภ์
    • เริ่มมีการสร้างเซลล์เม็ดแดงในตับ
    • ทารกในครรภ์อาจมีความยาวประมาณ 2 ½ นิ้ว น้ำหนักประมาณ 14 กรัม

    หากผ่านช่วงไตรมาสแรก ความเสี่ยงในการแท้งบุตรอาจลดลง

    ไตรมาสที่ 2 อาการแพ้ท้องและอาการของการตั้งครรภ์ในระยะแรกเริ่มลดลง

    เดือนที่ 4

    • ลำคอ แขน ขาของทารกพัฒนาสมบูรณ์มากขึ้น
    • ดวงตาอาจเริ่มสามารถขยับได้เล็กน้อย
    • ขนและเส้นผมเริ่มงอก
    • ทารกเริ่มเคลื่อนไหวมากขึ้น เช่น เริ่มดูดนิ้วมือได้ แต่อาจยังไม่เพียงพอที่คุณแม่รับรู้ได้
    • เนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อและกระดูกยังคงก่อตัว ทำให้โครงกระดูกสมบูรณ์และแข็งแรง
    • อวัยวะเพศของทารกเริ่มชัดเจนขึ้น อาจสามารถรับรู้ได้เมื่ออัลตราซาวด์
    • ร่างกายของทารกเริ่มมีการผลิตและขับปัสสาวะ
    • ทารกในครรภ์มีความยาวประมาณ 6 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 110 กรัม

    เดือนที่ 5

    • ทารกเริ่มพลิกตัวไปมาในน้ำคร่ำ
    •  หัวใจเริ่มสูบฉีดเลือด
    • เริ่มมีเล็บเท้าขึ้น
    • เริ่มมีการสร้างไขมันสีขาวขุ่นที่เรียกว่าไขทารก ห่อหุ้มภายนอกเพื่อปกป้องผิวหนังของทารก
    • ระบบย่อยอาหารเริ่มทำงาน
    • ทารกอาจเริ่มได้ยินเสียงจากภายนอก ซึ่งคุณแม่และคุณพ่ออาจสามารถพูดหรือคุยเล่นกับทารกในครรภ์ได้
    • ทารกในครรภ์มีความยาวประมาณ 6 ⅓ นิ้ว น้ำหนักประมาณ 320 กรัม

    ส่วนมากคุณหมอจะแนะนำให้อัลตราซาวด์ในช่วงครรภ์ประมาณ 20 สัปดาห์ เพื่อตรวจสอบรก และพัฒนาการต่าง ๆ ของโครงสร้างทารกในครรภ์ รวมถึงการเต้นของหัวใจและการเคลื่อนไหวของร่างกาย

    เดือนที่ 6

    • เคลื่อนไหวดวงตาได้เร็วขึ้น
    • เริ่มมีการสร้างเซลล์เม็ดเลือด ส่งผลให้ผิวหนังมีรอยย่นและแดง
    •  ปอด ระบบทางเดินอาหาร ระบบภูมิคุ้มกันเริ่มพัฒนา
    • มีเส้นผมและคิ้วขึ้นมาชัดเจน
    • เริ่มเห็นรอยบนฝ่ามือ ฝ่าเท้า ซึ่งจะพัฒนากลายเป็นลายนิ้วมือ ลายมือ และลายเท้า
    • สำหรับทารกเพศชาย อัณฑะอาจเริ่มมีการพัฒนาขึ้นในช่วงนี้
    • คุณแม่อาจเริ่มรู้สึกถึงแรงดิ้นของทารกในครรภ์
    • ทารกในครรภ์มีความยาวประมาณ 8 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 630 กรัม

    ไตรมาสที่ 3 เป็นช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์

    เดือนที่ 7

    • ทารกในครรภ์สามารถตอบสนองต่อเสียงได้ โดยการเคลื่อนไหวร่างกาย และปรับเปลี่ยนท่าทางเพื่อตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยินได้
    • ทารกเริ่มลืมตาและมองเห็น
    • เริ่มควบคุมจังหวะการหายใจและอุณหภูมิของร่างกายได้
    • ผิวดูเรียบเนียนขึ้นเมื่อมีไขมันมากขึ้น
    • ปอดของทารกจะเริ่มผลิตสารลดแรงตึงผิวในปอด ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้ถุงลมภายในปอดขยายตัว และป้องกันถุงลมยุบตัวมากเกินไป
    • ระบบประสาทของทารกยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
    • ทารกในครรภ์มีความยาวประมาณ 9-10 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 820-1,000 กรัม

    เดือนที่ 8

    • เริ่มมีการสร้างเม็ดเลือดแดงภายในไขกระดูก
    •  รูม่านตาของทารกสามารถเปลี่ยนขนาด เพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เกิดจากแสง
    • ระบบกล้ามเนื้อพัฒนามากขึ้น ทำให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ประสานงานกันได้ดีขึ้น
    • อวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายเริ่มพัฒนาอย่างสมบูรณ์
    • เริ่มหันศีรษะไปยังปากทางมดลูก หากทารกยังไม่กลับหัว คุณหมออาจให้คำแนะนำถึงสิ่งที่ควรทำ และแนวทางในการรับมือ
    • ทารกในครรภ์อาจมีความยาวประมาณ 12 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 2,100 กรัม

    เดือนที่ 9

    • เล็บของทารกจะยาวขึ้นจนถึงปลายนิ้ว
    • เห็นหน้าอกของทารก
    • ต่อมหมวกไตจะสร้างฮอร์โมนเร่งความสมบูรณ์ของปอด เพื่อเตรียมการหายใจครั้งแรกหลังคลอด รวมถึงอวัยวะและระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายพัฒนาอย่างสมบูรณ์
    • ทารกในครรภ์อาจดิ้นน้อยลงแต่ไม่มากนัก
    • ทารกอาจจะเคลื่อนอยู่ในตำแหน่งพร้อมคลอด
    • ทารกในครรภ์มีความยาวประมาณ 14 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 3,400 กรัม

    อย่างไรก็ตาม พัฒนาการทารกในครรภ์อาจมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ดังนั้น จึงควรเข้ารับการตรวจครรภ์กับคุณหมอเป็นประจำ เพื่อคอยสังเกตดูพัฒนาการของทารกและความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น หากคุณแม่ตั้งครรภ์สังเกตมีอาการที่ผิดปกติ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างเหมาะสม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 31/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา