backup og meta

วัคซีนคนท้อง ที่ควรฉีด และวัคซีนที่คนท้องควรเลี่ยง

วัคซีนคนท้อง ที่ควรฉีด และวัคซีนที่คนท้องควรเลี่ยง

วัคซีนคนท้อง ที่ควรฉีดขณะตั้งครรภ์ ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แม้วัคซีนจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ก็สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและช่วยบรรเทาความรุนแรงของโรคได้อย่างมาก อย่างไรก็ตาม คนท้องควรหลีกเลี่ยงวัคซีนชนิดที่ทำมาจากเชื้อเป็น ซึ่งอาจทำให้คนท้องติดเชื้อและส่งผลต่อสุขภาพของตัวเองและเด็กในท้องได้

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

วัคซีนคนท้อง ที่ควรฉีด มีอะไรบ้าง

วัคซีนคนท้อง ที่ควรฉีดเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพของทั้งคุณแม่และเด็กในท้อง มีดังนี้

  • วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรนชนิดไร้เซลล์สำหรับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ (Tdap หรือ TdaP)

เป็นวัคซีนเชื้อตายที่ทำจากเชื้อไวรัสที่ถูกฆ่าด้วยความร้อน สารเคมี หรือรังสีในระหว่างกระบวนการสร้างวัคซีนเรียบร้อยแล้ว จึงปลอดภัยทั้งกับคุณแม่และเด็กในท้อง เป็นวัคซีนรวมของทั้งสามโรคดังกล่าว แม้คุณแม่จะเคยได้รับวัคซีนชนิดนี้แล้วโดยเฉพาะวัคซีนบาดทะยักในช่อวงก่อนท้อง แต่จำเป็นไปฉีดวัคซีนชนิดนี้ที่เป็นวัคซีนชนิดรวมอีกครั้งในช่วงอายุครรภ์ 27-36 สัปดาห์ เพื่อต้องการให้คุณแม่สร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคที่สำคัญคือ โรคไอกรน และมีการส่งต่อภูมิคุ้มกันผ่านรกไปให้กับทารกใครรภ์ ซึ่งจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคกับทารกเลยตั้งแต่แรกคลอด และนอกจากนี้หากคุณแม่ติดเชื้อโรคคอตีบอาจทำให้คุณแม่และเด็กในท้องเป็นอันตรายถึงชีวิต หรือคุณแม่อาจไปฉีดวัคซีนชนิดนี้ในช่วงให้นมก็ได้เช่นกัน และเนื่องจากภูมิคุ้มกันของเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือนยังอ่อนแอจนไม่สามารถฉีดวัคซีนชนิดนี้ได้ การฉีดวัคซีนชนิดนี้ในช่วงตั้งครรภ์จึงอาจเหมาะสมที่สุด

คนท้องสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ในทุกระยะของการตั้งครรภ์โดยไม่ส่งผลต่อสุขภาพของตัวเองและเด็กในท้อง เนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อตายที่ไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อและสามารถช่วยป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี เนื่องจากวัคซีน 1 เข็มสามารถป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ 1 ปี และเชื้อไข้หวัดใหญ่เปลี่ยนสายพันธุ์ทุกปี

ไขัหวัดใหญ่เป็นอันตรายต่อคนท้องได้มากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากเป็นช่วงที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายและรุนแรงกว่า หากติดเชื้อขณะท้องอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น โรคปอดอักเสบ (โรคปอดบวม) โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ภาวะหัวใจวาย และอาจทำให้เด็กมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย หรือคลอดก่อนกำหนดได้อีกด้วย การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะช่วยป้องกันโรคให้เด็กได้จนถึงอายุประมาณ 6 เดือน

  • วัคซีนโควิด-19 (Coronavirus/COVID-19 vaccine)

เป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคโควิด-19 และช่วยลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 (COVID-19) หากติดเชื้อ ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโควิดทั้งหมด 4 ชนิด ได้แก่ วัคซีนสารพันธุกรรมหรือเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Recombinant viral vector vaccine) วัคซีนจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein subunit vaccine) และวัคซีนเชื้อตาย (Inactivated vaccine) วัคซีนโควิด-19 ไม่มีวัคซีนเชื้อเป็นซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อเด็กในท้อง คนท้องจึงสามารถรับวัคซีนโควิด-19 ทุกชนิดได้อย่างปลอดภัยตั้งแต่อายุครรภ์ได้ 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือนขึ้นไป ไม่จำเป็นต้องรอให้คลอดก่อน

นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนคนท้องชนิดอื่น ๆ ที่อาจเลือกฉีดเพิ่มเติมได้ เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ในรายที่ไม่เคยฉีดมาก่อนหรือสามีเป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบบี และวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ในกรณีที่คนท้องถูกสุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด

วัคซีนที่คนท้องควรหลีกเลี่ยง

วัคซีนที่คนท้องควรหลีกเลี่ยง คือ วัคซีนชนิดเชื้อเป็น (Live Vaccine) เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ และทำให้คนท้องและเด็กในท้องเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายร้ายแรง วัคซีนเชื้อเป็นที่ควรเลือกฉีดก่อนตั้งครรภ์หรือหลังคลอด มีดังนี้

  • วัคซีนอีสุกอีใส (Varicella vaccine)
  • วัคซีนไข้สมองอักเสบ (Japanese encephalitis vaccine)
  • วัคซีนคางทูม หัด หัดเยอรมัน (MMR vaccine)
  • วัคซีนโปลิโอ (Polio vaccine)
  • วัคซีนวัณโรค (BCG vaccine)
  • วัคซีนไข้เหลือง (Yellow fever vaccine)

นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนป้องกันงูสวัด และวัคซีนเอชพีวี ที่แม้จะไม่ใช่วัคซีนเชื้อเป็น แต่ก็แนะนำให้ฉีดหลังจากคลอดแล้วเช่นกัน คนวางแผนตั้งครรภ์ คนท้อง และคนให้นมบุตร ควรปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญทุกครั้งก่อนตัดสินใจฉีดวัคซีนทุกชนิด

วิธีดูแลตัวเองหลังฉีด วัคซีนคนท้อง

วิธีดูแลตัวเองหลังฉีดวัคซีนคนท้อง สามารถทำได้ดังนี้

  • หลังฉีดวัคซีน ควรนั่งสังเกตอาการผิดปกติหรืออาการข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก เป็นเวลา 15-30 นาที หากพบอาการผิดปกติใด ๆ ควรแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ทันที
  • งดใช้งานแขนข้างที่ฉีดวัคซีน งดยกของหรือหิ้วของหนัก ๆ หากปวดแขนหรือแขนบวม สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการประคบแขนด้วยผ้าชุบน้ำเย็นบิดหมาด
  • พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
  • ดื่มน้ำและของเหลวให้มาก ๆ อย่างน้อย 8-10 แก้ว/วัน
  • คนท้องสามารถกินยาบรรเทาปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อลดอาการปวดได้ตามปกติ แต่ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม คือ ครั้งละ 1 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง และใช้ยาเมื่อมีอาการเท่านั้น

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบคุณหมอ

การฉีดวัคซีนคนท้อง อาจทำให้มีอาการข้างเคียงเล็กน้อย โดยอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนที่พบได้บ่อย เช่น

  • บริเวณที่ฉีดวัคซีนมีรอยแดง บวม หรือรู้สึกเจ็บ
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดศีรษะ

แต่หากหลังฉีดวัคซีนคนท้องแล้วมีอาการผิดปกติที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการดูแลอย่างเหมาะสม

  • มีอาการชัก
  • หายใจลำบาก
  • ความรู้สึกตัวลดลง (Decreased Consciousness)
  • บริเวณที่ฉีดวัคซีนบวมหรือรู้สึกปวดรุนแรง
  • อาการปวดหรือบวมไม่หายไปภายใน 1 สัปดาห์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

วัคซีน สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์. https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1070. Accessed November 23, 2022

Vaccine Safety for Moms-To-Be. https://www.cdc.gov/vaccines/pregnancy/vacc-safety.html. Accessed November 23, 2022

Vaccinations in pregnancy. https://www.nhs.uk/pregnancy/keeping-well/vaccinations/. Accessed November 23, 2022

Which vaccines during pregnancy are recommended and which ones should I avoid?. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/expert-answers/vaccines-during-pregnancy/faq-20057799. Accessed November 23, 2022

Is It Safe to Get Vaccinations During Pregnancy?. https://www.webmd.com/baby/pregnancy-is-it-safe-to-get-vaccinations. Accessed November 23, 2022

Tdap (Tetanus, Diphtheria, Pertussis) VIS.https://www.cdc.gov/vaccines/hcp/vis/vis-statements/tdap.html. Accessed November 23, 2022

What to do before, during and after getting vaccinated for COVID-19. https://www.unicef.org/rosa/stories/what-do-during-and-after-getting-vaccinated-covid-19. Accessed November 23, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/01/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ฉีดวัคซีน และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สำคัญต่อสุขภาพอย่างไร

คนท้องฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา