การตั้งครรภ์ตามปกติจะมีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ตั้งครรภ์จนถึงวันคลอดประมาณ 40 สัปดาห์ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ไตรมาส โดยการ ตั้งครรภ์ระยะแรก หรือไตรมาสที่ 1 เป็นระยะที่คุณแม่ควรดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เนื่องจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงจนทำให้มีอาการไม่สบายหรือแพ้ท้องได้ง่าย คุณแม่ควรงดพฤติกรรมที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งของคุณแม่และทารกในครรภ์ หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บหรือการติดเชื้อ และควรฝากครรภ์ทันทีเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ เพื่อให้คุณหมอสามารถติดตามพัฒนาการของทารกและให้คำแนะนำได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่สามารถดำเนินการตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัยไปจนถึงวันคลอด
[embed-health-tool-due-date]
การตั้งครรภ์ระยะแรก หรือ ไตรมาสที่ 1
การตั้งครรภ์ระยะแรก หรือ ไตรมาสที่ 1 คือ ช่วงอายุครรภ์ 1-13 สัปดาห์ หรือ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เป็นระยะที่คุณแม่ควรดูแลตัวเองอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นไตรมาสที่ร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างมากเพื่อปรับตัวเข้าสู่การตั้งครรภ์ ทั้งยังเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์กำลังพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ และก่อตัวเป็นทารกที่สมบูรณ์ หากคุณแม่ได้รับการกระทบกระเทือนทางร่างกายหรือจิตใจ เช่น รับสารพิษจากการสูบบุหรี่ สูดดมควันบุหรี่มือสอง ติดเชื้อแบคทีเรีย เครียดเรื้อรัง อาจกระทบต่อสุขภาพและพัฒนาการของทารกได้มากกว่าไตรมาสที่ 2 และ 3
อาการของคุณแม่ ตั้งครรภ์ระยะแรก
อาการของคุณแม่ ตั้งครรภ์ระยะแรก ที่พบได้บ่อย อาจมีดังนี้
- หน้าอกคัดตึง ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง อาจทำให้มีอาการหน้าอกคัดตึง ขยายใหญ่ขึ้น ทั้งยังอาจสังเกตเห็นว่าลานนมใหญ่ขึ้นและคล้ำขึ้น
- อาการแพ้ท้อง เช่น คลื่นไส้ อาการผะอืดผะอม อาเจียน ไม่สบายตัว เป็นอาการพบได้บ่อยในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก และจะค่อย ๆ หายไปในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 12 สัปดาห์หรือปลายไตรมาสแรก
- อารมณ์แปรปรวน ระดับฮอร์โมนที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ในช่วงนี้อาจทำให้อารมณ์แปรปรวนได้ ยิ่งหากมีอาการก่อนเป็นประจำเดือน (PMS) ตั้งแต่ยังไม่ตั้งครรภ์ ก็อาจทำให้อาการแย่กว่าปกติได้
- เหนื่อยง่ายกว่าปกติ ร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ระยะแรกจะทำงานหนักมากขึ้นเพื่อปรับตัวเข้าสู่การตั้งครรภ์ และรองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ จึงส่งผลให้คุณแม่เหนื่อยง่ายและต้องการพักผ่อนมากขึ้น โดยอาการนี้จะดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่รกพัฒนาอย่างสมบูรณ์แล้ว
- ถ่ายปัสสาวะบ่อย แม้ในช่วงแรกหน้าท้องจะยังไม่ใหญ่มาก แต่มดลูกของคุณแม่จะค่อย ๆ ขยายตัวเพื่อรองรับการตั้งครรภ์ จึงอาจไปกดทับกระเพาะปัสสาวะและทำให้เต็มเร็วขึ้น นอกจากนี้ ร่างกายจะผลิตเลือดมากขึ้นเพื่อลำเลียงเลือดไปหล่อเลี้ยงมดลูก ทำให้ร่างกายมีของเหลวมากขึ้นและจำเป็นต้องถ่ายปัสสาวะบ่อย ๆ
- สิวขึ้นและสภาพผิวเปลี่ยนไป ฮอร์โมนอาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากขึ้น และอาจส่งผลให้รูขุมขนอุดตันจนเกิดสิว นอกจากนี้ ยังอาจทำให้สภาพผิวเปลี่ยนไป และมักเห็นปัญหาผิวชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป เช่น ผิวแห้งและระคายเคืองง่าย สีผิวไม่สม่ำเสมอ หน้าท้องมีรอยแตกลาย
- มีอาการท้องผูก ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่สูงขึ้นอาจทำให้กระบวนการย่อยอาหารทำงานช้าลง และทำให้คุณแม่มีอาการท้องผูก
การดูแลสุขภาพขณะตั้งครรภ์ระยะแรก
การดูแลสุขภาพขณะตั้งครรภ์ระยะแรก อาจทำได้ดังนี้
ฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์
คุณแม่ควรไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด การฝากครรภ์จะช่วยให้ทราบถึงภาวะสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ สามารถตรวจคัดกรองความผิดปกติขณะตั้งครรภ์ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือมีโรคทางพันธุกรรมที่อาจส่งต่อมายังทารก และติดตามพัฒนาการของทารกได้ตลอดการตั้งครรภ์
ในการฝากครรภ์ครั้งแรก คุณหมออาจคำนวณวันคลอด และตรวจสุขภาพเบื้องต้น ดังนี้
- ตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง วัดระดับความดันโลหิต
- ตรวจภายใน (Pelvic exam) เพื่อหาความผิดปกติภายในอุ้งเชิงกราน
- ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted infections หรือ STIs) ได้แก่ โรคHIV โรคซิฟิลิส และโรคไวรัสตับอักเสบบี
- ตรวจปัสสาวะ เพื่อหาแบคทีเรีย โปรตีน น้ำตาล ที่อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ
- ตรวจเลือด เพื่อตรวจหาหมู่เลือด การคัดกรองโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ได้แก่ ธาลัสซีเมีย
- ตรวจอัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์
หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพ
ขณะตั้งครรภ์ระยะแรก คุณแม่ควรปรับพฤติกรรมให้ดีต่อสุขภาพ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และที่สำคัญ ต้องไม่ลืมหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจกระทบต่อสุขภาพของตัวเองและทารกในครรภ์ เช่น
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การสูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติด
- การใช้ยาเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจหรือระงับปวด เช่น ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioids)
- การเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่เพิ่มแรงกดบริเวณท้องและทำให้ร่างกายได้รับแรงกระแทก เช่น บาสเกตบอส ฟุตบอล
- การกระโดดเชือก
- การบริโภคอาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น ปลาดิบ หอยลวก ลาบก้อย หมึกช็อต เนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่ทั่วถึง นมที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ เพราะทำให้เสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคอื่น ๆ
- การรับประทานปลาที่มีสารปรอทสูง เช่น ปลาไทล์ฟิช ปลาหัวเมือก ปลากระโทงดาบ ปลาอินทรี ฉลาม