backup og meta

คุณแม่ ผ่าคลอดได้กี่ครั้ง และควรผ่าคลอดในกรณีใดบ้าง

คุณแม่ ผ่าคลอดได้กี่ครั้ง และควรผ่าคลอดในกรณีใดบ้าง

การผ่าคลอด (Cesarean section หรือ C-section) เป็นการผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง มักใช้ในกรณีที่คุณแม่หรือทารกในครรภ์อาจเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพหากคลอดตามธรรมชาติ แม้การผ่าคลอดจะพบได้ทั่วไป แต่หลายคนก็อาจสงสัยว่า คุณแม่สามารถ ผ่าคลอดได้กี่ครั้ง และการผ่าคลอดควรทำในกรณีใดบ้าง โดยทั่วไปแนะนำไม่ให้คุณแม่ผ่าคลอดเกิน 3 ครั้งเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดกับคุณแม่และทารกแรกเกิด และคุณหมอจะเป็นผู้พิจารณาว่าภาวะสุขภาพของคุณแม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าคลอดหรือไม่

[embed-health-tool-due-date]

การผ่าคลอดใช้ในกรณีใดบ้าง

ทางเลือกในการผ่าคลอดอาจแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้

1. การผ่าคลอดแบบวางแผนมาก่อนล่วงหน้า จะใช้ในกรณีต่อไปนี้

  • คุณแม่เคยผ่าคลอด เพราะในบางกรณี หากเคยผ่าคลอดแล้ว ครั้งต่อไปจะเปลี่ยนไปคลอดธรรมชาติ อาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มดลูกแตก คุณหมอจึงอาจแนะนำให้ใช้วิธีผ่าคลอด
  • คุณแม่มีภาวะรกเกาะต่ำ (Placenta Previa) ที่ทำให้รกบังปากมดลูกบางส่วนหรือทั้งหมดเอาไว้ และเสี่ยงเกิดภาวะเลือดออกมากเกินไปหากคลอดธรรมชาติ
  • ทารกอยู่ในท่าก้น (Breech Presentation) เป็นท่าที่ทารกเอาก้นหรือขาเป็นส่วนนำ ไม่กลับศีรษะลงมาที่อุ้งเชิงกรานของคุณแม่ตามปกติ ทำให้ไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้
  • ทารกอยู่ในท่าขวาง (Transverse Presentation) เป็นท่าที่ทารกนอนขวางอยู่ในมดลูก ทำให้ไม่สามารถกกลับศีรษะลงมาที่อุ้งเชิงกรานของคุณแม่เพื่อคลอดธรรมชาติได้
  • คุณแม่ตั้งครรภ์แฝด โดยเฉพาะเมื่อทารกอยู่ในท่าก้น

ทั้งนี้ คุณแม่ที่มีภาวะดังกล่าวอาจไม่จำเป็นต้องผ่าคลอดเสมอไป คุณแม่สามารถปรึกษาคุณหมอเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการคลอดที่เหมาะสมกับภาวะสุขภาพและความต้องการของตัวเองได้

2. การผ่าคลอดแบบไม่ได้วางแผนมาก่อน จะใช้ในกรณีต่อไปนี้

  • ทารกอยู่ในท่าผิดปกติ ศีรษะของทารกไม่เคลื่อนลงมาที่อุ้งเชิงกรานและติดอยู่ในกระดูกอุ้งเชิงกราน
  • ทำคลอดตามปกติไม่ได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อมดลูกหดตัวได้ไม่ดี หรือปากมดลูกเปิดช้าเกินไปหรือไม่เปิดเลย
  • ทารกในครรภ์มีอาการผิดปกติ เช่น ไม่มีสัญญาณชีพจร ซึ่งจำเป็นต้องทำคลอดและได้รับการดูแลโดยเร็วที่สุด
  • คุณแม่มีภาวะสายสะดือแลบหรือสายสะดือย้อย (Umbilical cord prolapse) เป็นภาวะที่สายสะดือหย่อนลงมาอยู่ข้าง ๆ หรืออยู่ต่ำกว่าส่วนนำของทารก หรือหย่อนเข้าไปในปากมดลูก ช่องคลอด หรือโผล่ออกมาจากปากช่องคลอดหลังจากน้ำคร่ำแตก
  • คุณแม่มีปัญหาสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูง หากคลอดธรรมชาติอาจทำให้คุณแม่และทารกเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพได้

คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถ ผ่าคลอดได้กี่ครั้ง

ในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันว่า คุณแม่สามารถผ่าคลอดได้สูงสุดกี่ครั้ง แต่โดยทั่วไปจะแนะนำให้ผ่าคลอดไม่เกิน 3 ครั้ง เนื่องจากการผ่าตัดแต่ละครั้งจะทำให้เกิดแผลเป็นและพังผืดที่เนื้อเยื่อมดลูก ซึ่งส่งผลให้ผ่าคลอดครั้งต่อไปได้ยากขึ้น เลือดออกมากขึ้น และอาจเสี่ยงทำให้อวัยวะใกล้เคียงได้รับบาดเจ็บ

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Pakistan Journal of Medical Sciences ฉบับเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยในการผ่าคลอดหลายครั้ง เผยว่า แม้จะยังไม่มีงานวิจัยที่ระบุว่าการผ่าคลอด 5 ครั้งขึ้นไปทำให้อัตราการเสียชีวิตในคุณแม่และทารกในครรภ์สูงขึ้นหรือเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพมากกว่าการคลอดธรรมชาติ แต่ยิ่งผ่าคลอดบ่อยเท่าไหร่ ก็อาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสูติกรรมได้ขึ้นมากเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถแนะนำคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ว่า คุณแม่สามารถผ่าคลอดได้กี่ครั้ง เพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์

ความเสี่ยงของการผ่าคลอด

ความเสี่ยงต่อสุขภาพของการผ่าคลอด อาจมีดังนี้

  • การติดเชื้อที่บาดแผล เป็นกรณีที่พบได้บ่อย อาจทำให้แผลบวม แดง หรือมีของเหลวไหลจากบาดแผล
  • การบาดเจ็บที่อวัยวะใกล้เคียง เช่น ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งอาจส่งผลให้ผนังมดลูกอ่อนแอลง
  • การติดเชื้อที่เยื่อบุโพรงมดลูก เป็นภาวะที่สามารถพบได้บ่อยเช่นกัน อาจทำให้มีไข้ ปวดท้อง ตกขาวผิดปกติ และมีเลือดออกทางช่องคลอดปริมาณมาก
  • ภาวะที่มีเลือดออกมากผิดปกติ เป็นภาวะที่เกิดได้ไม่บ่อย ในกรณีรุนแรงอาจต้องรักษาด้วยการถ่ายเลือด หรือการผ่าตัดเพื่อหยุดเลือด
  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis หรือ DVT) การผ่าคลอดอาจทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันที่ขา จนมีอาการปวดบวม และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากลิ่มเลือดที่ขาหลุดไปอุดกั้นหลอดเลือดบริเวณปอด แต่ภาวะนี้พบได้ไม่บ่อยนัก
  • การบาดเจ็บของทารกในครรภ์ เนื่องจากทารกโดนอุปกรณ์ผ่าตัดโดยบังเอิญขณะผ่ามดลูกเพื่อทำคลอด
  • ทารกหายใจลำบาก เป็นภาวะที่พบได้บ่อยเมื่อผ่าคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 39 สัปดาห์ โดยปกติแล้วทารกจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในแผนกบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด (NICU) และอาการจะดีขึ้นภายใน 2-3 วันหลังคลอด

ในปัจจุบัน คุณแม่จะได้รับยาปฏิชีวนะก่อนเข้ารับการผ่าคลอด ทำให้ความเสี่ยงในการติดเชื้อลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การผ่าคลอดหลายครั้ง ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะสุขภาพเนื่องจากการมีบาดแผลผ่าตัดได้ คุณแม่จึงควรดูแลแผลผ่าคลอดให้ดี และควรพบคุณหมอทันทีหากพบอาการผิดปกติ

ความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการผ่าคลอดหลายครั้ง อาจมีดังนี้

  • ปัญหาเกี่ยวกับรก

การมีบาดแผลจากการผ่าคลอดหลายครั้ง อาจทำให้เสี่ยงเกิดภาวะสุขภาพเกี่ยวกับรก ไม่ว่าจะเป็นภาวะรกเกาะแน่น (Placenta Accreta) ที่รกยึดเกาะเนื้อเยื่อโพรงมดลูก จนอาจทำให้คุณแม่เลือดออกมากและเสี่ยงเสียชีวิต หรือภาวะรกเกาะต่ำ ที่รกปกคลุมปากมดลูกบางส่วนหรือทั้งหมด ทำให้เส้นเลือดฉีดขาดขณะปากมดลูกขยายตัว ภาวะสุขภาพที่กล่าวมาอาจเพิ่มความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด ภาวะเลือดออกมากเกินไป การถ่ายเลือดเนื่องจากสูญเสียเลือดมาก การผ่าตัดมดลูก เป็นต้น

  • ภาวะแทรกซ้อนจากการมีพังผืด

การผ่าคลอดแต่ละครั้ง อาจทำให้เกิดเนื้อเยื่อคล้ายแผลเป็นลักษณะเป็นพังผืด ซึ่งอาจเป็นปัญหาต่อการผ่าคลอดในครั้งต่อไป และอาจทำให้กระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้บาดเจ็บ หรือสูญเสียเลือดมากจนเป็นอันตราย

  • ภาวะแทรกซ้อนจากแผลผ่าคลอด

การมีแผลผ่าคลอดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไส้เลื่อน และหากเคยผ่าคลอดก็อาจทำให้แผลผ่าคลอดเก่าขยายตัว ซึ่งอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

การผ่าคลอดหลายครั้งจะส่งผลต่อตัวเลือกการคลอดในครั้งต่อไปของคุณแม่ จึงควรปรึกษาคุณหมอเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคลอดเหมาะกับภาวะสุขภาพของคุณแม่ และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพของทารกในครรภ์ได้มากที่สุด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

C-section. https://my.clevelandclinic.org/health/treatments/7246-cesarean-birth-c-section. Accessed March 29, 2023

Repeat C-sections: Is there a limit?. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/c-section/expert-answers/c-sections/faq-20058380. Accessed March 29, 2023

Caesarean section. https://www.nhs.uk/conditions/caesarean-section/. Accessed March 29, 2023

Is it safe to have multiple repeat cesarean sections? A high volume tertiary care center experience. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5673710/. Accessed March 29, 2023

Caesarean section. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/caesarean-section. Accessed March 29, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

07/04/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

การดูแล แผลผ่าคลอด ให้ปลอดภัย ไร้แผลเป็น

แผลผ่าคลอดปริ เกิดจากอะไร คุณแม่ควรดูแลแผลอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 07/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา