พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 42 ทารกในครรภ์มักมีขนาดเท่าแตงโมลูกใหญ่ และถือว่าทารกอยู่ในครรภ์นานเกินกำหนดคลอด แต่ทั้งนี้ การตั้งครรภ์นานเกินปกติไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าทารกในครรภ์ผิดปกติ และถึงแม้ทารกน้อยจะมีขนาดตัวใหญ่โตเพียงใด ยังสามารถคลอดได้อย่างปลอดภัย แต่หากคุณแม่ยังไม่มีสัญญาณเตือนว่าจะคลอดในเร็ววัน คุณหมออาจจำเป็นต้องเร่งคลอดหรือผ่าคลอดเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์
[embed-health-tool-due-date]
พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 42
ลูกจะเติบโตอย่างไร
เมื่อถึงปลายสัปดาห์ที่ 42 การตั้งครรภ์จะถือว่าเกินกำหนดแล้ว หรือการคลอดล่าช้า แต่ทั้งนี้ การตั้งครรภ์นานเกินปกติไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าทารกในครรภ์ผิดปกติ
ที่จริงแล้ว ทารกส่วนใหญ่ไม่ได้คลอดในวันครบกำหนดที่ประมาณเอาไว้ แต่มักจะคลอดก่อนหรือหลังกำหนดคลอดประมาณ 2 สัปดาห์ การที่ทารกไม่คลอดตามกำหนดเวลา จึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลแต่อย่างใด
ในช่วงเวลานี้ ทารกในครรภ์มักมีขนาดเท่าแตงโมลูกใหญ่ แต่ถึงแม้ทารกน้อยจะมีขนาดตัวใหญ่โตเพียงใด ยังสามารถคลอดได้อย่างปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ทารกที่คลอดเกินกำหนดวันคลอดมักจะมีลักษณะเฉพาะบางอย่าง เช่น ผมและเล็บที่ยาวกว่าปกติ ผิวอาจจะเหี่ยวและย่นหรือมีรอยแตก แต่สภาวะของผิวดังกล่าวนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแค่เพียงชั่วคราว เนื่องจากไขมันที่ห่อหุ้มและปกป้องทารกขณะอยู่ในครรภ์หลุดลอกออกไปก่อน ตั้งแต่ช่วงที่คุณหมอประมาณการไว้ว่าจะเป็นวันกำหนดคลอด
ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและรูปแบบการใช้ชีวิต
ร่างกายจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
ในสัปดาห์ที่ 42 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่มักประสบกับอาการแบบเดียวกับในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ เช่น เป็นตะคริวที่ขา นอนไม่ค่อยหลับ ปวดหลัง เป็นริดสีดวง ปัสสาวะบ่อย ปวดเกร็งเป็นครั้งคราว และอาจเกิดความเครียดได้ง่าย เนื่องจากความคาดหวังว่าตัวเองควรจะต้องคลอดแล้ว อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรทำใจให้สบาย เพราะมีแนวโน้มที่จะคลอดในปลายสัปดาห์นี้ ควรสังเกตอาการเจ็บท้องคลอดและสัญญาณเตือนคลอดต่าง ๆ เช่น
- มีเลือดหรือมูกเลือดออกจากช่องคลอด
- น้ำเดิน
- มีอาการเจ็บท้องเตือนมากขึ้น และเป็นระยะ ๆ
ควรระมัดระวังอะไรบ้าง
แม้การตั้งครรภ์เกินกำหนดจะไม่ใช่เรื่องน่ากังวล แต่การตั้งครรภ์นาน 42 สัปดาห์ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ได้ เช่น
- ปัญหาเรื่องรก เช่น รกพันคอ รกเสื่อม
- ภาวะน้ำคร่ำน้อย
- อาจต้องเข้าห้องฉุกเฉินสำหรับทารกแรกคลอด
- อาจมีอาการบาดเจ็บทางร่างกายในระหว่างการคลอด
- อาจจำเป็นต้องมีการผ่าคลอด
การพบคุณหมอ
ควรปรึกษาแพทย์อย่างไรบ้าง
เมื่อไปพบคุณหมอ ควรปรึกษาเรื่องอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้กับการตั้งครรภ์ในช่วงนี้
ในช่วงสัปดาห์ที่ 42 นี้ ควรใส่ใจเรื่องการดิ้นของทารกให้มากขึ้น หากการดิ้นของทารกเปลี่ยนแปลง หรือผิดปกติ ควรแจ้งให้คุณหมอทราบทันที
สัญญาณอื่นที่ควรสังเกต เช่น สารคัดหลั่งจากช่องคลอด อาการเลือดออก ปวดท้องน้อย หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านี้ ควรแจ้งคุณหมอทันทีเช่นกัน
การทดสอบที่ควรรู้
ในช่วงนี้ การสังเกตการตั้งครรภ์อย่างใกล้ชิดถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากการตั้งครรภ์เกินกำหนดอาจมีความเสี่ยงในการเกิดอาการแทรกซ้อนมากกว่าการตั้งครรภ์ทั่วไป
คุณหมออาจต้องทดสอบบางอย่าง เพื่อให้แน่ใจว่าทารกในครรภ์จะปกติดี เช่น การอัลตร้าซาวด์ การตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ การทดสอบเรื่องการหดรัดตัวของมดลูก จุดประสงค์ของการตรวจเหล่านี้ก็คือ เพื่อให้แน่ใจว่าทารกเคลื่อนไหวเป็นปกติ หายใจได้ปกติ มีน้ำคร่ำมากพอ และมีอัตราการเต้นของหัวใจปกติ
หากผลการตรวจแสดงให้เห็นว่าทารกไม่ควรอยู่ในครรภ์อีกต่อไป แพทย์อาจต้องพิจารณาใช้การชักนำให้เจ็บท้องคลอด ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น
- การเซาะเยื่อถุงน้ำคร่ำ แพทย์จะใช้นิ้วของตัวเองกวาดไปรอบ ๆ ถุงน้ำคร่ำ ทำให้เกิดการหลั่งของฮอร์โมนบางชนิดที่ทำให้เกิดการหดรัดตัวของมดลูก
- การเจาะถุงน้ำคร่ำ แพทย์อาจเจาะถุงน้ำคร่ำด้วยเครื่องมือพิเศษ วิธีการนี้อาจทำให้เกิดการเจ็บท้องคลอดภายใน 2-3 ชั่วโมง
- การใช้ยาเร่งคลอด เป็นการใช้ยาพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) สอดเข้าไปในช่องคลอดของคุณ เพื่อช่วยให้ปากมดลูกเปิด
- กระตุ้นการเจ็บท้องด้วยออกซิโทซิน (Oxytocin) เป็นการให้ออกซิโทซินในรูปของสารสังเคราะห์ผ่านทางเส้นเลือด ที่จะช่วยกระตุ้นการบีบรัดตัวของมดลูกและทำให้เจ็บท้องคลอด
- การผ่าคลอด หากคุณหมอประเมินถึงภาวะสุขภาพ อายุของคุณแม่และทารกว่าอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนหากปล่อยให้คลอดเองตามธรรมชาติ
สุขภาพและความปลอดภัย
ควรทำอย่างไรเพื่อให้สุขภาพดีและปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์
เคล็ดลับเหล่านี้อาจช่วยให้สามารถดูแลสุขภาพครรภ์ที่เกินกำหนดได้ดีขึ้น
- รายงานเกี่ยวกับสุขภาพและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้คุณหมอทราบเป็นระยะ
- ปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับตัวเลือกในการคลอดอย่างละเอียดว่าวิธีไหนที่เหมาะสมและปลอดภัยที่สุด
- เข้ารับการตรวจที่จำเป็นให้ครบถ้วน
- พยายามเดินให้มากขึ้นและนานขึ้น
- พยายามทำใจให้สบาย อย่าเครียด
- เตรียมพร้อมรับมือกับอาการต่าง ๆ เช่น อาการเจ็บปวดบริเวณเชิงกราน ปัญหาการนอน การเจ็บท้อง และอาการอื่น ๆ ของการตั้งครรภ์ที่อาจเกิดขึ้นในระดับที่รุนแรงกว่าปกติ