พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 33 หมายถึง การเจริญเติบโตของทารกที่อยู่ในครรภ์ซึ่งมีอายุครรภ์ครบ 33 สัปดาห์ ซึ่งปกติแล้ว ทารกจะเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งพัฒนาการด้านร่างกาย น้ำหนักตัวและขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้นจนเท่ากับผลสับปะรด รวมทั้งเซลล์ประสาทนับล้าน ๆ เซลล์ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้ทารกสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในมดลูก ฟัง รู้สึกมากขึ้น และที่สำคัญรูม่านตาสามารถหดหรือขยายเพื่อตอบสนองกับแสงสว่างหรือความมืดได้แล้ว
[embed-health-tool-due-date]
พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 33
ลูกจะเติบโตอย่างไร
สำหรับพัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 33 นี้ ทารกมักมีขนาดตัวเท่ากับผลสับปะรด โดยมีน้ำหนักตัวประมาณ 1.8 กิโลกรัม และตัวยาวประมาณ 43 เซนติเมตร โดยวัดจากศีรษะถึงปลายเท้า
ในช่วงสองสามเดือนสุดท้ายก่อนคลอด เซลล์ประสาทนับล้าน ๆ เซลล์จะถูกพัฒนาขึ้นในสมองของทารกน้อย เพื่อช่วยให้ทารกได้เรียนรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในมดลูก ตอนนี้ทารกจะสามารถฟัง รู้สึก และรูม่านตาสามารถหดหรือขยายเพื่อตอบสนองกับแสงสว่างหรือความมืดได้แล้ว
นอกจากนี้ ปอดของทารกในครรภ์ยังพัฒนาจนเกือบจะสมบูรณ์ เส้นขนเริ่มหนาขึ้น ไขมันยังคงสะสมตามร่างกายอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยทำหน้าที่ปกป้องและให้ความอบอุ่น
ตัวของทารกน้อยในครรภ์โตขึ้นเรื่อย ๆ พื้นที่ในการเคลื่อนไหวจึงน้อยลง คุณแม่จึงอาจรู้สึกว่าลูกดิ้นแรงไม่เท่าช่วงที่ผ่านมา แต่ความถี่ของการเคลื่อนไหวยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและรูปแบบการใช้ชีวิต
ร่างกายจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
การที่ทารกน้อยในครรภ์ใช้พื้นที่ในครรภ์มากขึ้น อาจทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัดมากกว่าเดิม หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว รวดเร็วอย่างที่ผ่าน ๆ มา ไม่ว่าจะนั่ง จะเดิน หรือยืน ก็รู้สึกไม่ถนัด และไม่มั่นคง จะเปลี่ยนท่ายังไงก็ยังรู้สึกไม่สบายตัว
คุณแม่อาจมีอาการชา หรือปวดตามมือและเท้า เนื่องจากเส้นประสาทถูกกดทับ และมีของเหลวอยู่ในเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากเกินไป ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการบวมน้ำได้ด้วย
สามารถบรรเทาอาการนี้ได้ด้วยการใส่เฝือกเพื่อช่วยให้ข้อมืออยู่นิ่ง ๆ หรือใช้หมอนหนุนแขนให้สูงขึ้นในขณะนอนหลับ หากจำเป็นต้องเคลื่อนไหวข้อมือบ่อย ๆ ในการทำงาน เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ หรืองานประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ ควรหยุดพักเป็นระยะ ยืดเส้นยืดสายบ้าง เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย
หากอาการชา หรืออาการปวดแย่ลง หรือเป็นวันละหลายรอบ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ต้องรีบไปปรึกษาคุณหมอ เพราะอาจเป็นสัญญาณที่บอกว่า กำลังมีอาการแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เช่น โลหิตจาง
ควรระมัดระวังอะไรบ้าง
ในสัปดาห์ที่ 33 ของการตั้งครรภ์นี้ คุณแม่อาจพบว่ามีของเหลวคล้ายสีขาวหรือสีเหลืองลักษณะคล้ายน้ำนมไหลออกมาจากหัวนม และอาจกังวลว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่ ความจริงแล้วของเหลวนี้คือสัญญาณที่บ่งบอกว่าร่างกายกำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการให้นมบุตร ไม่ใช่ความผิดปกติแต่อย่างใด
การพบคุณหมอ
ควรปรึกษาแพทย์อย่างไรบ้าง
หากคุณแม่ ตั้งครรภ์ มีปัญหานอนไม่หลับ ไม่ควรแก้ปัญหาด้วยการกินยานอนหลับเองโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคุณหมอ เนื่องจากยานอนหลับไม่ปลอดภัยต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ ควรลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ออกกำลังกายเบา ๆ ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการนอน
หากลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว อาการนอนไม่หลับยังไม่ดีขึ้น คุณแม่ตั้งครรภ์ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อให้คุณหมอช่วยแนะนำวิธีที่ช่วยให้นอนหลับได้โดยไม่ต้องใช้ยา หรือประเมินผลประโยชน์ ผลข้างเคียง และความเสี่ยง หากจำเป็นต้องใช้ยาช่วยในการนอนหลับจริง ๆ
การทดสอบที่ควรรู้
ในช่วงเดือนนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์อาจต้องเข้าพบคุณหมอบ่อยขึ้น และต้องตรวจสอบร่างกายหลายรายการเป็นพิเศษ เนื่องจากคุณหมอต้องประเมินขนาดของทารกในครรภ์ รวมไปถึงคำนวณวันคลอด โดยการตรวจ หรือทดสอบร่างกายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 33 นี้ ได้แก่
- ชั่งน้ำหนัก โดยส่วนใหญ่น้ำหนักตัวของคุณแม่จะคงที่หรือลดลง
- วัดความดันโลหิต ซึ่งความดันโลหิตอาจสูงกว่าในช่วงไตรมาสที่ 2
- ตรวจปัสสาวะ เพื่อหาค่าน้ำตาลและโปรตีน
- ตรวจหาเส้นเลือดขอดที่ขา รวมทั้งอาการบวมที่มือและเท้า
- วัดขนาดมดลูก โดยการตรวจภายใน เพื่อตรวจเช็คความหนาของผนังมดลูก และดูว่าปากมดลูกเริ่มเปิดหรือยัง
- วัดความสูงของยอดมดลูก
- วัดอัตราการเต้นของหัวใจ
- วัดขนาดทารก ตรวจสอบท่าทางก่อนคลอด ว่าทารกในครรภ์อยู่ในท่าเอาหัวลงหรือเอาก้นลง และก้มหน้าหรือเงยหน้าขึ้น)
คุณแม่ตั้งครรภ์บางรายอาจต้องมีการตรวจร่างกายนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากมีข้อสงสัยใด ๆ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการ ตั้งครรภ์ ในช่วงสัปดาห์ที่เหลือ หรือการคลอดบุตร ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนที่สุด
สุขภาพและความปลอดภัย
สิ่งที่หญิงตั้งครรภ์ควรต้องหลีกเลี่ยงและระมัดระวังอย่างมาก
นอกเหนือไปจากการดูแลตัวเองให้รับประทานอาหารให้ครบและหลายหลาย การพักผ่อนอย่างเพียงพอ การปรับอารมณ์ให้เครียดหรือกังวลใจน้อยที่สุด รวมทั้งการออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวบ้าง ในช่วงพัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 33 สิ่งที่หญิงตั้งครรภ์ควรต้องหลีกเลี่ยงและระมัดระวังอย่างมาก ได้แก่ การใช้ยาฆ่าแมลงในช่วง ตั้งครรภ์ ถือเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะยาฆ่าแมลงที่ทำจากสารเคมี เช่น สเปรย์จำกัดยุง ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าหนู รวมถึงแชมพูกำจัดเห็บหมัด เพราะผลิตภัณฑ์เคมีเหล่านี้ อาจส่งผลกระทบกับการตั้งครรภ์ เช่น ทำให้แท้งลูก คลอดก่อนกำหนด หรือส่งผลให้ทารกที่คลอดออกมามีปัญหา เช่น พิการแต่กำเนิด เป็นโรคออทิสติก พัฒนาการล่าช้า
หากคุณแม่ตั้งครรภ์จำเป็นต้องกำจัดแมลง หรือกำจัดศัตรูพืช ก็ควรใช้วิธีธรรมชาติแทนการใช้สารเคมี เช่น ใช้เกลือฆ่าวัชพืชในบ้าน ทุบกระเทียมกับพริกไทยดำแล้วนำไปวางไว้ในจุดที่ยุงชุม หรือหากสัมผัสกับยาฆ่าแมลงประเภทสารเคมี ก็ควรรีบอาบน้ำและซักเสื้อผ้าที่เปื้อนทันที