พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 31 อยู่ในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 ในช่วงนี้ทารกในครรภ์อาจมีพัฒนาการที่เกือบจะสมบูรณ์ มีความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร และอาจหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม คุณแม่ตั้งครรภ์อาจรู้สึกเจ็บท้องหลอกวันละหลายครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 นาที อีกทั้งยังอาจเริ่มผลิตน้ำนมแม่ออกมา ซึ่งเป็นน้ำนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ดังนั้น จึงควรปั๊มน้ำนมและเก็บไว้ให้ลูกกินหลังคลอด
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]
พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 31
ลูกจะเติบโตอย่างไร
ตอนนี้ลูกของคุณมีขนาดเท่าลูกมะพร้าว ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม และยาวประมาณ 40 เซนติเมตร โดยวัดจากศีรษะถึงส้นเท้า
ตอนนี้ลูกน้อยของคุณน่าจะปัสสาวะลงในน้ำคร่ำวันละ 250 มล. แล้วจะดื่มน้ำคร่ำกลับเข้าไปวันละหลายครั้ง ถ้ามีน้ำส่วนเกินอยู่ในถุงน้ำคร่ำ ก็หมายความว่าลูกของคุณไม่ได้ดื่มน้ำคร่ำตามปกติ หรืออาจมีอะไรขวางทางเดินอาหารอยู่ก็ได้ การมีของเหลวในถุงน้ำคร่ำไม่พอเพียง ก็หมายความว่าลูกน้อยของคุณไม่ได้ปัสสาวะอย่างที่ควรจะเป็น และอาจเป็นการบ่งชี้ว่าเกิดปัญหาขึ้นที่ไตหรือทางเดินปัสสาวะแล้ว คุณหมอจะทำการวัดระดับน้ำคร่ำ เมื่อถึงคราวที่ต้องทำอัลตราซาวด์ตามปกติ
ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและรูปแบบการใช้ชีวิต
ร่างกายจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
คุณแม่อาจรู้สึกหน่วง ๆ ตึง ๆ บริเวณมดลูก ซึ่งนั่นเป็นอาการบีดรัดตัวของมดลูกในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ อาการเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นบ่อย ถ้าเกิดขึ้นก็จะไม่นานเกิน 30 วินาที และจะไม่มีความเจ็บปวดด้วย ในทางตรงกันข้ามถ้ามีการบีบรัดตัวถี่ ๆ และถึงแม้จะไม่รู้สึกเจ็บปวดก็ตาม นั่นอาจเป็นสัญญานของการคลอดก่อนกำหนดได้ คุณแม่ควรติดต่อคุณหมอทันที ถ้ามีการบีบรัดตัวของมดลูกมากกว่า 4 ครั้งในหนึ่งชั่วโมง หรือสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนดใด ๆ ซึ่งอาจได้แก่ การมีตกขาวมากขึ้น หรือตกขาวนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไป (เช่น เหลวเป็นน้ำ มีความข้นเป็นมูก หรือมีเลือดออก แม้ว่าเล็กน้อยหรือไม่ก็ตาม) มีอาการปวดท้องคล้ายปวดประจำเดือน มีแรงกดบริเวณเชิงกรานมากขึ้น ปวดหลังช่วงล่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณแม่ไม่เคยเกิดอาการเช่นนี้มาก่อน
ตอนนี้ต่อมน้ำนมในหน้าอกอาจเริ่มผลิตน้ำนมขึ้นมาแล้วก็ได้ น้ำนมชนิดนี้จะช่วยจัดเตรียมพลังงานและสารอาหารให้กับลูกน้อยของคุณแม่ในช่วงวันแรก ๆ ก่อนที่น้ำนมจริง ๆ จะผลิตออกมาในช่วงการให้นมบุตร น้ำนมชนิดนี้มักจะน้ำเหลว ๆ สำหรับผู้หญิงบางคน และอาจจะมีความข้นและอมเหลืองสำหรับผู้หญิงบางคนก็ได้ ถ้าคุณแม่สังเกตเห็นว่ามีน้ำนมไหลออกมา ก็ควรใช้แผ่นรองกันเปื้อนแบบใช้แล้วทิ้ง หรือแบบซักได้ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เสื้อผ้าเปื้อนน้ำนม
ควรระมัดระวังอะไรบ้าง
เพื่อตอบสนองความต้องการของการตั้งครรภ์ ร่างกายจะผลิตเลือดขึ้นมามากกว่าปกติ และหัวใจจะทำการสูบฉีดเลือดได้เร็วขึ้น แต่โชคร้ายหน่อยที่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงขึ้นมาได้ และนั่นจะทำให้คุณแม่ไม่สบายเนื้อตัวด้วย เพราะเมื่อหลอดเลือดมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อลำเลียงเลือดที่มีปริมาณมากขึ้น ก็จะทำให้มองเห็นเส้นเลือดได้ชัดเจนขึ้น คุณแม่จึงอาจมองเห็นรอยเขียว ๆ แดง ๆ ใต้ผิวหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณเท้าและาข้อเท้าของคุณแม่
ควรปรึกษาคุณหมออย่างไรบ้าง
การพบหมอ
ในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ คุณแม่จะมีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งอย่าง นั่นก็คืออาการปัสสาวะเล็ดซึ่งเกิดจากแรงกดบริเวณท้อง ซึ่งนั่นจะทำให้คุณแม่กลั้นปัสสาวะได้ยาก เวลาที่คุณแม่ไอ จาม ยกอะไรหนัก ๆ หรือแม้แต่ตอนหัวะ เพื่อให้ความแน่ใจ…คุณแม่ก็ควรดมดูด้วยนะว่านั่นเป็นปัสสาวะหรือน้ำคร่ำกันแน่ คุณแม่ควรแจ้งสถานพยาบาลทันที ถ้าของเหลวที่ไหลออกมานั้นไม่มีกลิ่นเหมือนปัสสาวะ แต่มีกลิ่นหวานเหมือนน้ำคร่ำ
การทดสอบใดที่ควรรู้
คุณแม่อาจต้องไปพบคุณหมอบ่อยขึ้นในช่วงเดือนหน้า โดยอาจเริ่มจากทุก ๆ 2 สัปดาห์ก่อน แล้วเปลี่ยนเป็นทุกสัปดาห์จนถึงวันคลอด การตรวจสอบในช่วงเดือนนี้ก็ได้แก่ การวัดความดันโลหิต และการชั่งน้ำหนัก คุณหมออาจถามถึงสัญญานและอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ นอกจากนี้ยังอาจขอให้คุณแม่บรรยายลักษณะการเคลื่อนไหวของลูกน้อยให้ฟังด้วย และอาจตรวจสอบขนาดของมดลูกตามปกติด้วย
สุขภาพและความปลอดภัย
ควรทำอย่างไรเพื่อให้สุขภาพดีและปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์
โดยทั่วไปแล้ว การเดินเยอะ ๆ นั้นมีความปลอดภัยตลอดการตั้งครรภ์ แต่จะรู้สึกทำได้ยากขึ้นเมื่อมีอายุครรภ์มากขึ้น และเมื่อมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น แต่นั่นจะไม่ส่งผลที่เป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ เมื่อการตั้งครรภ์มีความคืบหน้าไปเรื่อย ๆ แม้แต่นักวิ่งมืออาชีพก็ยังต้องปรับเปลี่ยนวิธีการให้เหมาะสมกับตนเองในช่วงนั้นเลย
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณแม่มีภาวะรกเกาะต่ำ (การมีรกคลุมอยู่ในบริเวณปากมดลูก) คุณแม่ก็ไม่ควรรออกกำลังกายด้วยการวิ่ง เนื่องจากการกระแทกเยอะ ๆ นั้น อาจทำให้คุณแม่มีเลือดออกได้ นอกจากนี้ก็ยังไม่มีความปลอดภัยด้วย ถ้าคุณแม่มีความดันโลหิตสูงในช่วงตั้งครรภ์ หรือมีความเสี่ยงสูงที่จะคลอดก่อนกำหนด