backup og meta

วันไข่ตก นับอย่างไรให้เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์

วันไข่ตก นับอย่างไรให้เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์

วันไข่ตก หรือวันตกไข่ หมายถึงวันที่รังไข่ปล่อยไข่ที่สุกออกมาในท่อนำไข่ เพื่อรอการผสมกับอสุจิ เป็นกระบวนการตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงทุกคนในทุก ๆ เดือน การนับวันไข่ตกอาจมีประโยชน์ในการวางแผนการตั้งครรภ์และการคุมกำเนิด อย่างไรก็ตาม การนับวันไข่ตกอาจจะไม่ได้แม่นยำ 100% เสมอไป เนื่องจากผู้หญิงแต่ละคนอาจมีรอบเดือนและวันตกไข่ที่แตกต่างกัน รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความเครียด อายุ น้ำหนักตัว โรคประจำตัว ก็อาจส่งผลต่อวันตกไข่ได้เช่นกัน

[embed-health-tool-ovulation]

วันไข่ตก คืออะไร 

วันไข่ตก หรือวันตกไข่ คือ กลไกตามธรรมชาติของระบบสืบพันธุ์เพศหญิงที่เกิดขึ้นในทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง โดยเมื่อประจำเดือนมาวันแรก ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนฟอลลิเคิล สติมูเลติง (Follicle-Stimulating Hormone: FSH) ออกมา ทำให้ไข่ในรังไข่เติบโต และทำให้เยื่อบุมดลูกหนาขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิสนธิ ในช่วงวันที่ 2-14 ของรอบเดือน เรียกว่า “ระยะก่อนตกไข่” สำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาตามปกติและสม่ำเสมออาจสามารถคาดการณ์ช่วงเวลาวันไข่ตกได้อย่างแม่นยำ โดยรอบประจำเดือนเฉลี่ยประมาณ 28-30 วัน และวันไข่ตกมักเกิดขึ้นช่วงระยะประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนประจำเดือนรอบใหม่มา สำหรับผู้ที่ต้องการมีลูกควรมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 1-2 วันก่อนไข่ตก เพราะอสุจิสามารถรอปฏิสนธิกับไข่ได้ประมาณ 2-3 วัน

อาการวันไข่ตก 

วิธีการสังเกตอาการของวันไข่ตกอาจมีดังต่อไปนี้

  • อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น หลังจากที่ร่างกายปล่อยไข่ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะกระตุ้นการสร้างและรักษาเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเล็กน้อยประมาณ 0.5 องศาเซลเซียส สามารถวัดได้ด้วยเทอร์โมมิเตอร์หลังตื่นนอน
  • เมือกปากมดลูก มีลักษณะเหนียวใส มีความลื่นและยืดหยุ่นได้ดี ไม่ขาดออกจากกันเป็นมูกไข่ตก มีคุณสมบัติช่วยให้อสุจิไปปฏิสนธิกับไข่ได้ง่ายสามารถตรวจสอบโดยการสอดนิ้วเข้าไปในช่องคลอด
  • ปวดท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่ง ขึ้นอยู่กับเดือนที่มีไข่ตก ซึ่งการตกไข่จะสลับข้างกันในแต่ละเดือน เนื่องจากรังไข่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพให้เหมาะสมกับการฝังตัวของตัวอ่อน หากไม่มีการปฏิสนธิผนังภายในรังไข่จะมีการหลุดลอกทำให้มีอาการปวดท้องน้อย
  • ปากมดลูกเปลี่ยนแปลง ช่วงเวลาไข่ตก ปากมดลูกอาจเคลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น และมีลักษณะอ่อนนุ่มขึ้น เมื่อผ่านช่วงเวลาไข่ตกไปปากมดลูกจึงจะแข็งขึ้น
  • เจ็บคัดเต้านม ฮฮร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้กรดไขมันกาโมลีนิก (Gamolenic Acid) ลดต่ำลง จึงทำให้รู้สึกเจ็บเต้านม 
  • อารมณ์ทางเพศเพิ่มขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinozing Hormone หรือ LH) ที่สูงขึ้น อาจส่งผลให้ผู้หญิงในช่วงไข่ตกมีอารมณ์ทางเพศเพิ่มขึ้น

วิธีนับวันไข่ตก

โดยวิธีการตรวจนับวันตกไข่สามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่ 

  • นับวันตามปฏิทินด้วยตนเอง โดยการจดบันทึกช่วงเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของรอบเดือน เพื่อสังเกตระยะของรอบเดือน สำหรับผู้หญิงที่มีรอบเดือนมาทุก 28 วันอย่างสม่ำเสมอ ให้นับวันที่ประจำเดือนมาวันแรกเป็นวันที่ 1 แล้วนับเพิ่มไปอีกประมาณ 14 วัน จะเป็นวันตกไข่ เช่น หากปกติประจำเดือนมาทุกวันที่ 15 ของเดือน ให้นับให้วันนั้นเป็นวันที่ 1 เมื่อนับไปจนครบ 14 วันจะตรงกับวันที่ 28 ของเดือน หากวางแผนมีบุตรควรจะมีเพศสัมพันธ์ในช่วงวันที่ 21-22 ของเดือน แต่หากรอบเดือนไม่ได้อยู่ในช่วงทุก ๆ 28วัน ให้คาดคะเนวันไข่ตก ตามจำนวนวันรอบเดือนของตนเองย้อนหลังขึ้นไป14วัน เช่นหากรอบเดือนเรามาทุก ๆ 30 วัน จะสงสัยว่ามีการตกไข่ในวันที่ 16 ของรอบเดือน เป็นต้น
  • ชุดตรวจไข่ตก สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา ลักษณะการให้ผลคล้ายกับที่ตรวจครรภ์ เป็นการทดสอบปัสสาวะ เพื่อวัดระดับฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinozing Hormone หรือ LH) ซึ่งจะเพิ่มขึ้นภายใน 24-36 ชั่วโมงก่อนไข่ตก ควรใช้อุปกรณ์นี้หลังจากมีประจำเดือนประมาณ 10-12 วัน และควรตรวจในช่วงบ่ายโมง – 2 ทุ่ม เพราะปัสสาวะจะมีความเข้มข้นของแอลเอชมากกว่า โดยชุดตรวจไข่ตกมี 3 แบบ ได้แก่ ทดสอบโดยวิธีจุ่ม ทดสอบโดยใช้การหยด และแบบปัสสาวะผ่านชุดตรวจ

เกิดอะไรขึ้นเมื่อถึงวันไข่ตก 

เมื่อถึงวันไข่ตก เยื่อบุมดลูกจะหนาขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิสนธิ หากอยู่ในช่วงวันไข่ตกจะเกิดความเปลี่ยนแปลงของร่าง ได้ดังต่อไปนี้

  • มีโอกาสตั้งครรภ์ หากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาไข่ตก โดยอสุจิจะเข้าไปที่ท่อนำไข่เกิดการปฏิสนธิกับไข่ และฝังอยู่ที่ผนังมดลูกพัฒนากลายเป็นตัวอ่อน
  • มีประจำเดือน หากไม่มีอสุจิเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ช่วงเวลาไข่ตก ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนลดลงประมาณ 12-16 วันต่อมา หลังจากนั้นไข่ เส้นเลือดและเนื้อเยื่อจากเยื่อบุโพรงมดลูกจะสลายตัวและหลั่งออกมากลายเป็นเลือดประจำเดือน

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ การนับวันไข่ตกอาจใช้ไม่ได้ผล เพราะอาจมีการคลาดเคลื่อนในแต่ละเดือน และควรไปพบคุณหมอเพื่อปรึกษา เนื่องจากประจำเดือนมาไม่ปกติอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Ovulation Symptoms. https://www.webmd.com/baby/am-i-ovulating#1. Accessed December 30, 2022.

Ovulation Date Calculator. https://www.stanfordchildrens.org/en/topic/default?id=ovulation-date-calculator-41-OvulationCalc. Accessed December 30, 2022.

How can I tell when I’m ovulating?. https://www.nhs.uk/common-health-questions/womens-health/how-can-i-tell-when-i-am-ovulating. Accessed December 30, 2022.

Rhythm method for natural family planning. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/rhythm-method/about/pac-20390918 . Accessed December 30, 2022.

What ovulation signs can I look out for if I’m hoping to conceive?. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/getting-pregnant/expert-answers/ovulation-signs/faq-20058000. Accessed December 30, 2022.

Understanding Ovulation & Fertility: Facts to Help You Get Pregnant. https://www.webmd.com/baby/ss/slideshow-understanding-fertility-ovulation. Accessed December 30, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

05/06/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

การเตรียมตัวก่อนท้อง เตรียมพร้อม ตั้ง ครรภ์ ควรทำอย่างไร

อาหารเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 05/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา