backup og meta

แผลคลอดธรรมชาติกี่วันหาย

แผลคลอดธรรมชาติกี่วันหาย

แผลคลอดธรรมชาติกี่วันหาย และการฟื้นตัวภายหลังแผลคลอดธรรมชาติใช้เวลานานเท่าไหร่ อาจเป็นคำถามที่พบได้บ่อยของคุณแม่ใกล้คลอดหรือเพิ่งคลอดใหม่ ๆ โดยปกติแล้ว การคลอดธรรมชาติอาจใช้เวลาในการฟื้นตัวประมาณ 2-3 สัปดาห์ และแผลจะเริ่มหายสนิทเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 6-8 สัปดาห์ แต่ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับการดูแลแผลและการดูแลตัวเองของแต่ละคนด้วย หากดูแลแผลไม่ดีอาจทำให้แผลฉีกขาด มีเลือดออกมากและแผลหายช้าได้

แผลคลอดธรรมชาติกี่วันหาย

การคลอดแบบธรรมชาติอาจทำให้เกิดบาดแผลบริเวณระหว่างช่องคลอดและทวารหนัก เนื่องจากเมื่อตัวทารกเคลื่อนออกมา ผิวหนังบริเวณช่องคลอดจะขยายออกและฉีกขาด ซึ่งอาจทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บปวดระหว่างคลอด และหลังจากการคลอดอาการปวดอาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากคุณหมออาจจำเป็นต้องกรีดบริเวณระหว่างช่องคลอดและทวารหนักเพื่อขยายช่องให้ทารกสามารถออกมาได้ง่ายขึ้น

สำหรับแผลคลอดธรรมชาติกี่วันหายนั้น โดยปกติหลังจากคุณหมอเย็บแผลหลังคลอด คุณแม่อาจต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 2 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณหมอ และหลังจากกลับบ้านอาจต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ในการสมานแผลให้ติดกัน และการคลอดธรรมชาติอาจต้องใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ ร่างกายถึงจะฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติ

การดูแลแผลคลอดธรรมชาติ

หลังจากการคลอดธรรมชาติคุณแม่หลายคนอาจมีอาการเจ็บปวดแผล โดยวิธีเหล่านี้อาจช่วยบรรเทาอาการได้

การอยู่ไฟ

เป็นวิธีที่จะช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกาย ขับน้ำคาวปลา บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น และป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นตามมา เช่น อาการชาที่มือและเท้า อาการหนาวสะท้าน ผิวบวมช้ำ โดยใช้เวลาประมาณ 7-15 วัน วันละประมาณ 6-7 ชั่วโมง ไม่ควรออกไปข้างนอก เพราะอาจทำให้ร่างกายปรับสมดุลไม่ทันส่งผลให้เจ็บป่วยได้ ซึ่งการอยู่ไฟอาจมีต่าง ๆ ดังนี้

  • การนวดประคบ คือ การนำสมุนไพรต่าง ๆ เช่น ขมิ้น ตะไคร้ การบูร ใบส้มป่อย เถาเอ็นอ่อน มาห่อใส่ผ้าแล้วน้ำไปต้ม จากนั้นนำมาประคบร้อนด้วยการนวดตามบริเวณร่างกาย หรือนั่งทับลูกประคบ 1 ลูก เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย ทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
  • การทับหม้อเกลือ เป็นการใช้หม้อเกลือมาประคบหน้าท้องและส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย พร้อมทั้งนวดไปด้วย แต่ถ้าหากไม่มีหม้อเกลือที่เป็นหม้อดินเผา อาจนำหม้อหุงข้าวที่เพิ่งหุงเสร็จใหม่ ๆ มาใช้แทนได้ แต่ต้องนำผ้าขนหนู หรือผ้าที่มีความหนาพอสมควรมารองหน้าท้องก่อนนำหม้อหุงข้าวมาประคบ ซึ่งจะช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น ช่วยขับน้ำคาวปลา ช่วยให้กล้ามเนื้อหน้าท้องกระชับและช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อ
  • การอบไอน้ำสมุนไพร คือ การให้คุณแม่เข้าไปนั่งอยู่ภายในกระโจมที่ต้มน้ำสมุนไพรจนเกิดไอน้ำ ซึ่งกลิ่นของสมุนไพรจะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและสดชื่นมากขึ้น นอกจากนี้ความร้อนยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดทั่วทั้งตัว

อย่างไรก็ตาม วิธีการอยู่ไฟต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้นไม่ได้จำเป็นต้องทำในคุณแม่หลังคลอดทุกราย เพราะร่างกายสามารถฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เองอยู่แล้วโดยธรรมชาติ

วิธีอื่น ๆ ที่อาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บแผลคลอดธรรมชาติ มีดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการนั่งเป็นเวลานาน อาจใช้อุปกรณ์เสริม เช่น หมอนนุ่ม รองก้นเวลานั่ง เพื่อลดการกดทับบริเวณแผล
  • การรักษาสุขอนามัย ควรล้างแผลอย่างเบามือจากด้านหน้าไปด้านหลังด้วยน้ำเปล่า หรือใช้สำลีก้อนนุ่มชุบน้ำคลอร์เฮกซิดีน (Chlorhexidine) ซึ่งเป็นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค วันละ 3 ครั้งในช่วงสัปดาห์แรก เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากทวารหนักเข้าสู่แผล
  • รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยใยอาหารและดื่มน้ำให้เพียงพอ จะช่วยให้อุจจาระนิ่มและขับถ่ายง่ายขึ้น เนื่องจากหากมีอาการท้องผูกบ่อยอาจทำให้แผลเปิดและหายช้าลง บางคนอาจจำเป็นต้องกินยาปรับให้อุจจาระนิ่มขึ้น ทั้งนี้ควรปรึกษาคุณหมอก่อนกินยาทุกครั้ง
  • การประคบเย็น โดยการใช้แผ่นประคบเย็น เพื่อช่วยระบายความร้อนและบรรเทาอาการเจ็บปวดบริเวณแผล ทั้งยังอาจช่วยลดอาการบวม โดยควรประคบเอาไว้ไม่เกิน 10 นาที ทั้งนี้ก่อนทำการประคบเย็นควรปรึกษาคุณหมอก่อน เพื่อป้องกันผิวหนังระคายเคืองจากการประคบเย็น
  • แช่น้ำเกลือ โดยการใส่เกลือประมาณ 1 กำมือลงในอ่างอาบน้ำ จากนั้นลงไปแช่ประมาณ 15-20 นาที วิธีนี้จะช่วยบรรเทาอาการปวดและช่วยให้แผลสะอาดขึ้น
  • การออกกำลังกายอุ้งเชิงกราน อาจช่วยให้อุ้งเชิงกรานกระชับเร็วขึ้น เพิ่มการไหลเวียนของเลือดและปรับปรุงสุขภาพอุ้งเชิงกราน
  • การใช้ยาช่วยควบคุมความเจ็บปวด คุณหมออาจสั่งยาแก้ปวด เช่น ยาแก้อักเสบ นอกจากนี้ อาจสั่งสเปรย์หรือเจลระงับความรู้สึกเจ็บปวด
  • พบคุณหมอ หากมีอาการปวดแผลมากร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น เลือดออกมาก ปวดท้องรุนแรง บวม มีไข้ ควรรีบปรึกษาคุณหมอ เพื่อทำการตรวจและรักษา เพราะแผลอาจติดเชื้อ

[embed-health-tool-ovulation]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vaginal Delivery Recovery. https://www.webmd.com/parenting/baby/recovery-vaginal-delivery. Accessed February 9, 2022

Recovering from Delivery (Postpartum Recovery). https://familydoctor.org/recovering-from-delivery/#:~:text=Your%20postpartum%20recovery%20won’t,body%20has%20turned%20against%20you. Accessed February 9, 2022

Your body after the birth (the first 6 weeks). https://www.tommys.org/pregnancy-information/after-birth/your-body-after-birth. Accessed February 9, 2022

Taking Care of Yourself after Natural Childbirth. https://www.healthhub.sg/live-healthy/1656/taking-care-of-yourself-after-natural-childbirth. Accessed February 9, 2022

First week after delivery: How to cope with my wound?. https://www.healthhub.sg/live-healthy/1032/pregnancy-first-week-after-delivery-how-to-cope-with-my-wound. Accessed February 9, 2022

การอยู่ไฟคืออะไร. https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=1488. Accessed February 9, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/04/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

คลอดธรรมชาติหรือผ่าคลอด มีข้อดีข้อเสียอย่างไร เลือกวิธีไหนดีกว่ากัน

คลอดธรรมชาติ ข้อดี ข้อเสียสำหรับคุณแม่


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา