backup og meta

แบ่งปัน

หรือ คัดลอกลิงก์

อาการตกเลือด ขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด เกิดจากอะไร

อาการตกเลือด ขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด เกิดจากอะไร
อาการตกเลือด ขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด เกิดจากอะไร

อาการตกเลือด ที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด คือ ภาวะที่มีเลือดออกทางช่องคลอด ที่อาจทำให้ร่างกายเสียเลือดมาก และส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว นำไปสู่อาการช็อก หมดสติ หรือเสียชีวิต หากสังเกตว่ามีอาการตาพร่า วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผิวซีด หัวใจเต้นเร็ว ปวดเกร็งท้องน้อย มีเลือดออกทางช่องคลอด ควรเข้าพบคุณหมอทันทีเพื่อสาเหตุที่แน่ชัดและทำการรักษาอย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

อาการตกเลือด เกิดจากอะไร

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการตกเลือดขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด อาจมีดังนี้

อาการตกเลือดขณะตั้งครรภ์

อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

  • ภาวะแท้ง อาจเกิดขึ้นในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ทำให้เกิดอาการเลือดออกทางช่องคลอด บางรายอาจมีอาการปวดท้องเล็กน้อย
  • การฝังตัวของตัวอ่อน อาจเกิดจากตัวอ่อนฝังตัวในมดลูกในช่วงหลังปฏิสนธิเพื่อเตรียมตั้งครรภ์ ทำให้มีเลือดออกหรือที่เรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก เพื่อให้ทราบผลที่แน่ชัดจึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด
  • รกลอกตัวก่อนกำหนด (Placental abruption) คือภาวะที่รกบางส่วนหรือทั้งหมดหลุดลอกออกก่อนการคลอดซึ่งอาจเกิดจากการกระทบกระเทือนบริเวณท้องอย่างรุนแรง หรืออาจเกิดจากปัญหาสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูง การได้รับสารพิษจากการสูบบุหรี่ หรือยาเสพติดบางชนิด ทำให้คุณแม่มีอาการตกเลือด
  • รกเกาะต่ำ เป็นภาวะที่รกปกคลุมปิดปากมดลูกบางส่วนหรือทั้งหมด ส่งผลให้เกิดอาการตกเลือดในปริมาณมากระหว่างตั้งครรภ์ บางคนอาจหายได้เองเมื่อมดลูกขยายตัวขึ้น เนื่องจากรกมีการขยับขึ้นไปจากปากมดลูก แต่หากได้รับการตรวจอัลตราซาวด์และพบว่ามีรกเกาะต่ำจริง และเกิดอาการตกเลือดจนถึงช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 หรือ 3 ควรเข้าพบคุณหมอทันที
  • การตั้งครรภ์นอกมดลูก เกิดจากไข่ที่ปฏิสนธิแล้วฝังตัวนอกมดลูก ส่วนใหญ่จะพบในท่อนำไข่ ซึ่งเป็นจุดที่ไม่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของทารก ทำให้ทารกไม่สามารถเจริญเติบโตได้ต่อไปและเป็นอันตรายต่อคุณแม่ เนื่องจากถ้าท่อนำไข่แตกมีโอกาสเสียเลือดปริมาณมาก สัญญาณของการตั้งครรภ์นอกมดลูก ได้แก่ อาการตกเลือด ปวดท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว รู้สึกปวดท้องเกร็ง
  • มดลูกแตก พบได้ในคุณแม่ที่เคยผ่าคลอดมาก่อน หรือเคยมีรอยแผลที่มดลูกจากการผ่าตัด การตั้งครรภ์จะทำให้มดลูกขยายตัวมากขึ้น อาจทำให้เกิดรอยปริที่แผลเดิมได้ ทำให้มีอาการปวดท้องและเลือดออกมาก มีโอกาสเสียชีวิตได้สูง
  • การติดเชื้อ การติดเชื้อในบริเวณปากมดลูกและช่องคลอด เช่น โรคหนองในเทียม โรคหนองในแท้ เริม อาจทำให้มีอาการตกเลือดในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ก่อนการตั้งครรภ์จึงควรตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์
  • การมีภาวะครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy) เป็นภาวะที่พบได้ยาก เกิดจากความผิดปกติของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว แต่ไม่สามารถพัฒนาเป็นทารกที่สมบูรณ์ ส่งผลให้แท้งบุตร และมีอาการตกเลือดในปริมาณมาก อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์

อาการตกเลือดหลังคลอด 

อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

  • รกหลุดลอกออกจากมดลูกไม่หมด โดยปกติแล้วมดลูกจะหดตัวเพื่อขจัดรกออกมาจากช่องคลอดหลังจากคลอดบุตร แต่หากมีชิ้นเนื้อรกค้างอยู่ในมดลูกจะทำให้มดลูกไม่หดตัว จึงมี เลือดไหลออกจากมดลูกในปริมาณมาก นำไปสู่การตกเลือด
  • มดลูกและหลอดเลือดฉีดขาดระหว่างคลอด เนื่องจากทารกอาจมีลำตัวใหญ่หรือคนไข้เบ่งเร็วในการคลอดแบบธรรมชาติ ทำให้เกิดความเสียหาย แผลขนาดใหญ่ หรือเส้นเลือดบาดเจ็บเยอะได้
  • การหดรัดตัวที่ไม่ดีของมดลูก ทำให้เกิดการตกเลือดปริมาณมากได้
  • มดลูกไม่แข็งตัว ในคนไข้บางราย หลังจากที่คลอดทารกและรกแล้ว มดลูกอาจไม่แข็งตัว ทำให้เลือดออกปริมาณมาก
  • การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ทำให้เลือดไม่หยุดไหล หรือหยุดไหลยากกว่าปกติ

กลุ่มที่เสี่ยงเกิดอาการตกเลือด

ผู้ที่มีความเสี่ยงอาการตกเลือด ได้แก่

  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก
  • การคลอดลูกแบบผ่าคลอด
  • ผู้ที่สูบบุหรี่
  • ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคอ้วน
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ลูกแฝด
  • ผู้ที่มีปริมาณน้ำคร่ำมาก
  • ผู้ที่เคยมีประวัติตกเลือดในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน

สัญญาณเตือนอาการตกเลือด

สัญญาณเตือนอาการตกเลือด มีดังนี้

  • มีเลือดออกทางช่องคลอดอาจมีสีแดงสีน้ำตาลหรือสีชมพู
  • มีไข้และรู้สึกหนาวสั่น
  • วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
  • สายตาพร่ามัว
  • ปวดท้องรุนแรง
  • หัวใจเต้นเร็ว

หากสังเกตว่ามีอาการเลือดไหลอย่างต่อเนื่อง ควรเข้าพบคุณหมอทันที

วิธีรักษาอาการตกเลือด

วิธีรักษาอาการตกเลือดระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด มีดังนี้

การรักษาอาการตกเลือดระหว่างตั้งครรภ์

คุณหมออาจรักษาตามสาเหตุที่วินิจฉัย ดังนี้

  • รกเกาะต่ำ ไม่มีวิธีรักษาสำหรับรกเกาะต่ำ แต่คุณหมออาจให้ยาควบคุมการตกเลือดและป้องกันการคลอดก่อนกำหนด หรือยาคลายการหดรัดตัวของมดลูก เพื่อยื้อเวลาให้เข้าใกล้วันกำหนดคลอดมากที่สุด อีกทั้งอาจให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่ช่วยพัฒนาปอดทารก เพื่อให้คลอดได้อย่างปลอดภัย
  • ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การรักษาขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นโดยส่วนใหญ่คุณหมออาจให้ยาปฏิชีวนะ และยาต้านไวรัส เพื่อลดความเสี่ยงแพร่กระจายไปยังทารก

นอกจากนี้หากคุณหมอประเมินว่าคุณแม่มีภาวะแท้งบุตร หรือมีภาวะทารกเสียชีวิตในครรภ์ ก็อาจจำเป็นต้องขูดมดลูกหรือผ่าคลอดนำทารกออก หรืออาจให้ยายุติการตั้งครรภ์ในกลุ่มพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) เช่น ไมโสพรอสตอล (Misoprostol) ขึ้นกับอายุครรภ์ของทารกในขณะนั้น

การรักษาอาการตกเลือดหลังคลอด 

อาจรักษาได้ด้วยวิธี ดังต่อไปนี้

  • การนวดคลึงบริเวณหน้าท้องเพื่อทำให้การหดตัวของมดลูกดีขึ้น
  • การขูดหรือล้วงเอารกที่ตกค้างในมดลูกออก
  • การใช้บอลลูนสำหรับกดผนังมดลูก(Bakri balloon)เพื่อหยุดการตกเลือด
  • การผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมหลอดเลือดเย็บแผลที่ฉีกขาดจากการผ่าคลอด
  • การให้เลือดใหม่เข้าสู่ร่างกาย เพื่อช่วยทดแทนเลือดที่เสียไป
  • การใช้ยากระตุ้นให้เกิดการหดตัวของมดลูก เช่น ไมโสพรอสตอล ออกซิโทซิน (Oxytocin) เมทิลเออร์โกโนวีน (Methylergonovine)
  • การผ่าตัดนำมดลูกออก เป็นวิธีการรักษาสุดท้ายที่คุณหมอเลือก เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผลและอาการตกเลือดแย่ลง

การป้องกันอาการตกเลือด

การป้องกันอาการตกเลือด อาจทำได้ดังนี้

  • เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช เนื้อสัตว์ไร้ไขมัน ผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ และควรรับประทานอาหารเสริมโฟเลต เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดความบกพร่องของท่อประสาทในทารกที่กำลังพัฒนา
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง โซเดียมสูง และน้ำตาลสูง เช่น ของทอด อาหารแปรรูป รวมถึงผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์
  • หยุดสูบบุหรี่ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในระหว่างการตั้งครรภ์
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก ๆ
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือการออกกำลังกายอย่างหนักเกินไป

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vaginal bleeding. https://www.nhs.uk/pregnancy/related-conditions/common-symptoms/vaginal-bleeding/. Accessed March 29, 2022  

Bleeding During Pregnancy. https://www.webmd.com/baby/guide/bleeding-during-pregnancy. Accessed March 29, 2022   

Bleeding During Pregnancy. https://www.acog.org/womens-health/faqs/bleeding-during-pregnancy. Accessed March 29, 2022   

Postpartum Hemorrhage. https://www.stanfordchildrens.org/en/topic/default?id=postpartum-hemorrhage-90-P02486. Accessed March 29, 2022   

Postpartum Hemorrhage. https://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?ContentTypeID=90&ContentID=P02486. Accessed March 29, 2022   

Vaginal Bleeding After Birth: When to Call a Doctor. https://www.webmd.com/women/vaginal-bleeding-after-birth-when-to-call-doctor. Accessed March 29, 2022   

Placenta previa. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/placenta-previa/symptoms-causes/syc-20352768. Accessed March 29, 2022   

Placental abruption. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/placental-abruption/symptoms-causes/syc-20376458. Accessed March 29, 2022  

STDs during Pregnancy – CDC Fact Sheet. https://www.cdc.gov/std/pregnancy/stdfact-pregnancy.htm. Accessed March 29, 2022  

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/04/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล

avatar

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา