แม่หลังคลอดห้ามกินอะไรบ้าง อาจเป็นคำถามที่คุณแม่มือใหม่หลายคนสงสัยและต้องการหลีกเลี่ยง เนื่องจากต้องการฟื้นฟูร่างกายหลังคลอดให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ อาหารอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของร่างกายหลังคลอดและสุขภาพทารกที่กินนมแม่ คุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน ปลาบางชนิด อาหารวิตามินซีสูง อาหารรสจัด อาหารก่อภูมิแพ้ ร่วมกับการดูแลสุขภาพอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย
แม่หลังคลอดห้ามกินอะไรบ้าง
คุณแม่หลังคลอดอาจจำเป็นต้องควบคุมการกินอาหารบางชนิด เพื่อเสริมสุขภาพหลังคลอดและส่งผลดีต่อการให้นมลูก โดยคุณแม่หลังคลอดควรหลีกเลี่ยงอาหารต่อไปนี้
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ไวน์ เบียร์ ค็อกเทล เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้การฟื้นตัวของร่างกายและมดลูกช้าลง นอกจากนี้ ยังทำให้ร่างกายขาดน้ำและขัดขวางการนอนหลับ สำหรับคุณแม่ให้นมลูกควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจาก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้าไปผสมกับน้ำนมแม่อาจเป็นอันตรายต่อสมองและพัฒนาการของทารกได้
- คาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต น้ำอัดลม ที่ผสมในน้ำนมแม่สามารถส่งผ่านไปยังทารก ซึ่งอาจรบกวนการนอน ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร ส่งผลต่ออารมณ์และการเจริญเติบโตของทารก
- ปลาบางชนิด เช่น ปลาแมคเคอเรล ปลานาก ปลาไทล์ฟิช ฉลาม ทูน่า เป็นปลาที่มีสารปรอทในระดับสูง ซึ่งปรอทอาจเป็นอันตรายต่อสมองของทารกที่กำลังพัฒนา รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงปลาดิบทุกชนิด เนื่องจากอาจเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียหรือปรสิตที่ทำให้คุณแม่หลังคลอดป่วยได้ง่ายขึ้น จึงควรเลือกรับประทานปลาที่มีสารปรอทต่ำและปรุงสุก เช่น แซลมอน ปลาดุก กุ้ง ปลาทูน่ากระป๋อง
- อาหารรสเผ็ด อาหารที่มีรสเผ็ดหรือรสชาติเข้มข้นอาจส่งผลต่อรสชาติน้ำนม ซึ่งอาจทำให้ทารกไม่ยอมกินนมแม่ และอาจทำให้ระบบทางเดินอาหารที่อ่อนแอของทารกระคายเคืองได้
- อาหารวิตามินซีสูง เช่น ส้ม มะม่วงเปรี้ยว มะนาว สับปะรด เนื่องจากทารกบางคนอาจมีผื่นขึ้นหลังจากกินนมแม่ที่มีวิตามินซีสูง คุณแม่จึงควรสังเกตอาการทารกทุกครั้งหลังจากกินนม หากทารกมีอาการผื่นขึ้นให้งดอาหารที่มีวิตามินซีสูงจนกว่าทารกจะหย่านม
- อาหารที่อาจก่อภูมิแพ้ เช่น ถั่วลิสง นมวัว อาหารทะเลบางชนิด หากคนในครอบครัวมีอาการแพ้อาหาร คุณแม่ที่ให้นมลูกควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ และเข้าพบคุณหมอเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการกินอาหารเพื่อความปลอดภัยของทารก
อาหารที่คุณแม่หลังคลอดควรกิน
เพื่อบำรุงสุขภาพและช่วยฟื้นฟูร่างกาย คุณแม่หลังคลอดควรกินอาหารเหล่านี้
- โปรตีน เช่น นม ไข่ ถั่ว อาหารทะเล เนื้อไม่ติดมัน ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วหลังจากการคลอดบุตร จึงควรตั้งเป้ากินโปรตีน 3-5 มื้อ/วัน หรือ 7 มื้อหากคุณแม่ต้องให้นมลูกด้วย
- ธัญพืช ผักและผลไม้ เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลเกรน ข้าวโอ๊ต ผักและผลไม้ทุกชนิด เนื่องจากธัญพืช ผักและผลไม้ มีวิตามินและแร่ธาตุที่ช่วยบำรุงสุขภาพ พร้อมทั้งไฟเบอร์ที่ช่วยป้องกันอาการท้องผูกและส่งเสริมระบบย่อยอาหาร
- แคลเซียม คุณแม่หลังคลอดควรเสริมแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัม แยกจากการได้รับแคลเซียมจากนม ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำในแต่ละวัน เพื่อเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงหลังตั้งครรภ์
- ธาตุเหล็ก ช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือดใหม่ เนื่องจากคุณแม่จะสูญเสียเลือดมากจากการคลอดลูก จึงควรเสริมธาตุเหล็กด้วยการรับประทานเนื้อแดง เนื้อสัตว์ปีก ตับ เต้าหู้ ถั่ว และสำหรับผู้หญิงที่ให้นมลูกควรได้รับธาตุเหล็กประมาณ 9 มิลลิกรัม/วัน สำหรับผู้หญิงอายุ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับประมาณ 10 มิลลิกรัม/วัน
การดูแลสุขภาพหลังคลอด
นอกจากการหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดหลังคลอดแล้ว การดูแลสุขภาพของคุณแม่หลังคลอดก็เป็นสิ่งสำคัญ อาจสามารถทำได้ ดังนี้
- ลดอาการเจ็บช่องคลอด หลังคลอดประมาณ 2-3 สัปดาห์ อาจยังมีอาการเจ็บช่องคลอดเนื่องจากการผ่าตัดและการฉีกขาดขณะคลอด เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด คุณแม่อาจนั่งบนหมอนหรือห่วงยางที่มีรูตรงกลางเพื่อลดการกดทับที่แผล ประคบน้ำแข็งบริเวณแผล แช่ตัวในอ่างน้ำอุ่นประมาณ 5 นาทีเพื่อช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและกินยาแก้ปวดตามคุณหมอสั่ง
- ลดปัญหาริดสีดวงทวาร คุณแม่หลังคลอดบางคนอาจมีปัญหาริดสีดวงทวารหลังคลอด เนื่องจากการเบ่งคลอดอย่างรุนแรงเป็นเวลานาน เพื่อบรรเทาอาการจึงควรทาครีมหรือใช้ยาเหน็บที่ประกอบด้วยไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ใช้แผ่นรองก้นที่มีส่วนผสมของสารสกัดวิชฮาเซล (Witch Hazel) ซึ่งอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และสารอื่น ๆ ที่อาจช่วยลดแบคทีเรีย ลดการระคายเคือง หรือยาชา และแช่ทวารหนักในน้ำอุ่นเป็นเวลา 10-15 นาที ประมาณ 2-3 ครั้ง/วัน เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดริดสีดวงทวาร นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเพิ่มขึ้น เช่น ผักผลไม้ ธัญพืช เพื่อช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น
- การดูแลเมื่อมีตกขาวและน้ำคาวปลา หลังคลอดคุณแม่จะมีอาการตกขาวและน้ำคาวปลามากเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ซึ่งอาจมีเลือดปนออกมาด้วย จึงควรใช้ผ้าอนามัยแผ่นใหญ่เพื่อรองรับน้ำคาวปลา แต่ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอด เพราะอาจเสี่ยงติดเชื้อและทำให้มดลูกกลับมาเป็นปกติช้าลง
- การดูแลเต้านม หลังคลอดคุณแม่อาจมีอาการคัดตึงเต้านม ดังนั้น ควรให้ทารกกินนมจากเต้านมทั้ง 2 ข้างบ่อย ๆ เพื่อลดอาการคัดตึงเต้านม แต่หากน้ำนมไหลน้อยหรือรู้สึกไม่สบายเต้านม ให้ใช้เครื่องปั๊มนมเพื่อให้น้ำนมออกมาในปริมาณเล็กน้อย ซึ่งอาจช่วยให้รู้สึกสบายขึ้น ควรประคบเต้านมด้วยผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น ๆ หรืออาบน้ำอุ่นก่อนให้นมลูก เพื่อให้นมไหลออกง่าย และระหว่างให้นมลูกอาจนำผ้าขนหนูเย็น ๆ วางไว้บนเต้านม เพื่อช่วยให้รู้สึกสบายตัวขึ้น แต่หากอาการคัดตึงเต้านมยังไม่หาย อาจกินยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการ
- การกระชับอุ้งเชิงกราน การคลอดทางช่องคลอดอาจทำลายเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ซึ่งทำหน้าที่รองรับมดลูก กระเพาะปัสสาวะ และไส้ตรง ส่งผลให้เมื่อจาม ไอหรือหัวเราะอาจทำให้มีปัสสาวะเล็ดออกมาบ่อยครั้ง ดังนั้น ในช่วงหลังคลอดจึงควรใช้ผ้าอนามัยเพื่อป้องกันปัสสาวะเล็ดและควรออกกำลังกายอุ้งเชิงกรานด้วยการขมิบ เพื่อช่วยกระชับกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้ดีขึ้น
- การปรับปรุงอารมณ์ หลังคลอดคุณแม่อาจมีอารมณ์แปรปรวนมาก หรือเรียกว่า เบบี้บลูส์ (Baby Blues) ซึ่งอาจทำให้มีอาการเศร้า วิตกกังวล ร้องไห้ นอนไม่หลับ ซึ่งอาการนี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อผ่านไปประมาณ 2 สัปดาห์หรือขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองและสภาพจิตใจของคุณแม่ ในระหว่างนี้จึงควรพักผ่อนร่างกายด้วยการฟังเพลง อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย พูดคุยกับคนในครอบครัวและเพื่อนฝูง เพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจและป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังคลอด แต่หากอาการที่เกิดขึ้นไม่หายไปควรเข้าพบคุณหมอ
- การดูแลน้ำหนักหลังคลอด หลังคลอดคุณแม่อาจมีน้ำหนักลดลงประมาณ 6 กิโลกรัม เนื่องจากน้ำหนักทารก รกและน้ำคร่ำที่หายไป แต่รูปร่างและน้ำหนักบางส่วนอาจยังไม่กลับไปเหมือนกับก่อนตั้งครรภ์ การลดน้ำหนักเพิ่มเติมด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การเดินเร็ว เต้นแอโรบิก บริหารกล้ามเนื้อหน้าท้อง และการควบคุมอาหาร เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ลดน้ำตาล เลือกดื่มนมไขมันต่ำ เนื้อสัตว์ ไข่ จึงเป็นวิธีที่จะช่วยให้กลับมามีน้ำหนักเหมือนก่อนตั้งครรภ์ได้
- การตรวจสุขภาพหลังคลอด ภายในสัปดาห์แรกหลังคลอดและภายใน 12 สัปดาห์หลังคลอด ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อประเมินสุขภาพหลังคลอด เช่น แผลคลอด ภาวะทางอารมณ์ การคุมกำเนิด การตรวจช่องท้อง ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก เพื่อยืนยันว่าสภาพร่างกายกลับมาเป็นปกติและสามารถกลับมามีกิจกรรมทางเพศได้อีกครั้ง
[embed-health-tool-ovulation]