โรคผิวหนังระหว่างตั้งครรภ์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือ โรคผิวหนังที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน โรคผิวหนังที่เป็นก่อนตั้งครรภ์ และโรคผิวหนังที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์โดยเฉพาะ โดยโรคผิวหนังระหว่างตั้งครรภ์ที่พบได้บ่อยอาจมีทั้ง ผื่นลมพิษขณะตั้งครรภ์ ผื่นตั้งครรภ์ ผื่นภูมิแพ้ขณะตั้งครรภ์ และภาวะน้ำดีคั่งในตับช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งอาการและการรักษาอาจแตกต่างกันออกไปตามแต่ละโรค หากคุณแม่ตั้งครรภ์สังเกตพบความผิดปกติของผิวหนัง ควรปรึกษาคุณหมอและทำการรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์
[embed-health-tool-due-date]
โรคผิวหนังระหว่างตั้งครรภ์ที่พบได้บ่อย
1. ผื่นลมพิษขณะตั้งครรภ์
ผื่นลมพิษขณะตั้งครรภ์ (Pruritic Urticarial Papules and Plaques of Pregnancy: PUPPP) จัดเป็นหนึ่งในโรคผิวหนังระหว่างตั้งครรภ์ที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในผู้ที่ตั้งครรภ์ครั้งแรก มักจะเริ่มพบอาการได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ไปจนถึงหลังคลอดบุตร อาการทั่วไปคือ มีผดผื่นสีแดงนูน คล้ายกับลมพิษ เกิดขึ้นบนผิวหนัง โดยเฉพาะรอบ ๆ บริเวณหน้าท้อง และรอบสะดือ ในบางครั้งอาจจะเกิดตุ่มใส ๆ ร่วมด้วย
แม้ว่าสาเหตุในการเกิด โรคผิวหนังระหว่างตั้งครรภ์ อย่างโรคผื่นลมพิษขณะตั้งครรภ์นี้อาจจะยังไม่แน่ชัด แต่นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับการที่ผิวหนังบริเวณหน้าท้องยืดขยายขึ้นในช่วงใกล้คลอด ทำให้เนื้อเยื่อเกี่ยวพันบริเวณหน้าท้องเกิดความเสียหาย และกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนอง และเกิดเป็นผดผื่นขึ้นมานั่นเอง
ภาวะนี้ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด และมักจะหายไปภายใน 4-6 สัปดาห์หลังคลอด การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ยาสเตียด์รอยทาบาง ๆ บริเวณผดผื่นก็อาจจะสามารถช่วยลดอาการผื่นลมพิษนี้ได้เช่นกัน
2. ผื่นตั้งครรภ์
ผื่นตั้งครรภ์ (Herpes gestationis หรือ Pemphigoid gestationis) เป็นโรคหายากโรคหนึ่ง อยู่ในกลุ่มของภาวะที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันต้านตัวเอง เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันเข้าโจมตีเซลล์ผิวหนังของตัวเอง สามารถพบได้ในช่วงระยะไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์ และจะหายไปภายในเวลาไม่กี่วันหลังจากคลอด ในกรณีหายาก อาการของผื่นตั้งครรภ์อาจจะอยู่ตลอด ไม่ยอมหายไป
อาการทั่วไปของผื่นตั้งครรภ์ คือมีผดผื่นสีแดงเกิดขึ้นบริเวณหน้าท้องช่วงรอบสะดือ และช่วงบริเวณลำตัว และมักจะมีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นด้วย รวมถึงมีอาการคันมาก ในบางครั้งผื่นก็อาจจะกลายเป็นแผ่นหนาได้
อาการของโรคผื่นตั้งครรภ์อาจคล้ายคลึงกับโรคผื่นลมพิษขณะตั้งครรภ์ แต่อาการโรคผื่นตั้งครรภ์มักจะเกิดขึ้นที่บริเวณหน้าท้องและลำตัว ในขณะที่โรคผื่นลมพิษนี้มักจะแพร่กระจายไปยังส่วนขาและใต้แขน อีกทั้งยังไม่มีตุ่มใสขนาดใหญ่อีกด้วย
3. ผื่นภูมิแพ้ขณะตั้งครรภ์
โรคผื่นภูมิแพ้ขณะตั้งครรภ์ อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง รูขุมขนอักเสบขณะตั้งครรภ์ และอาการคันขณะตั้งครรภ์ สามารถพบได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์
อาการหลักที่พบได้สำหรับโรคนี้ คือ ผื่นที่มีอาการคันอย่างรุนแรง จนอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต หรือรบกวนการนอนหลับ ระดับความรุนแรงของผดผื่นนี้จะขึ้นอยู่กับกลุ่มอาการที่คุณเป็น หากมีอาการของโรคผื่นภูมิแพ้อยู่ตั้งแต่ก่อนจะตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์จะยิ่งทำให้อาการของภาวะนี้รุนแรงขึ้น ทำให้ผิวแห้งและแดงได้ในช่วงเวลาที่ผื่นปะทุ นอกจากนี้ ก็อาจมีอาการแผลพุพอง และผิวหนังหนาขึ้น
โรคนี้เป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากทางพันธุกรรม และยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด เพียงแต่สามารถควบคุมอาการได้หลายวิธี เช่น ให้ยาแก้แพ้เพื่อช่วยลดอาการคัน ให้ยาสเตียรอยด์เพื่อช่วยบรรเทาอาการ หรือทาครีมบำรุงผิวเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง และลดอาการผิวแห้งแตก ที่อาจทำให้อาการคันรุนแรงขึ้น
4. ภาวะน้ำดีคั่งในตับช่วงตั้งครรภ์
ภาวะน้ำดีคั่งในตับขณะตั้งครรภ์ (Intrahepatic cholestasis of pregnancy) เป็นภาวะหายากที่พบได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้ระบบน้ำดีเกิดความผิดปกติ และเกิดการสะสมค้างอยู่ในตับ
ผู้ที่มีภาวะนี้จะมีอาการคันอย่างรุนแรงในบริเวณมือ ขา และส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย แต่ไม่มีผดผื่น อาการคันนั้นอาจจะรุนแรงมากจนรบกวนการนอนหลับ นอกจากนี้ ก็อาจมีอาการอื่น ๆ เช่น ดีซ่าน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ร่วมด้วย
ภาวะนี้นอกจากจะทำให้คุณแม่เกิดความไม่สบายตัวแล้ว ยังอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้ เนื่องจากภาวะน้ำดีคั่งในตับนั้นอาจส่งผลกระทบต่อการดูดซึมไขมันในร่างกาย และอาจทำให้วิตามินที่ต้องใช้ไขมันในการดูดซึมลดลงได้
ภาวะน้ำดีคั่งในตับนี้อาจส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ กับทารกในครรภ์ เช่น
- คลอดก่อนกำหนด
- มีปัญหากับปอดเนื่องจากการลำสักขี้เทาที่อาจผ่านเข้าสู่น้ำคร่ำ
- การเสียชีวิตในครรภ์
เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจมาพร้อมกับภาวะน้ำดีคั่งในตับขณะตั้งครรภ์นี้ค่อนข้างอันตราย หากพบว่าคุณแม่มีภาวะน้ำดีคั่งในตับ คุณหมออาจแนะนำให้คลอดก่อนกำหนด เพื่อความปลอดภัยของแม่และทารกในครรภ์
หากคุณแม่พบสัญญาณหรืออาการของโรคผิวหนังระหว่างตั้งครรภ์ ควรปรึกษาคุณหมอทันที เพราะหากปล่อยไว้ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้