การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่คนเราทุกคนควรเรียนรู้เอาไว้ เช่น วิธีปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย วิธีปฐมพยาบาลเมื่อน้ำร้อนลวก และอีกหนึ่งวิธีปฐมพยาบาลที่เราอยากให้คุณเรียนรู้เอาไว้ก็คือ วิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยลมชัก นั่นเอง
จริงอยู่ที่ในชีวิตจริงเราอาจไม่ได้เจอผู้ป่วยลมชักบ่อยนัก แต่เราอยากบอกว่า หากผู้ป่วยลมชักเกิดอาการชัก อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ทำให้เป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือทำให้เกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ได้ เช่น หกล้ม จมน้ำ อุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งบางครั้งอาจร้ายแรงถึงชีวิต แต่หากคุณรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาดังกล่าวได้มากเลยทีเดียว
โรคลมชักคืออะไร
โรคลมชัก (Epilepsy) คือ โรคเรื้อรังที่เกิดจากคลื่นไฟฟ้าในสมองผิดปกติ จนส่งผลให้เกิดอาการชัก (Seizure) บ่อยครั้ง หากคุณมีอาการชักตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป หรือมีแนวโน้มจะเกิดอาการชักซ้ำ จะถือว่าคุณเป็นโรคลมชัก
อาการชักนั้นมีหลากหลายรูปแบบและความรุนแรง ขึ้นอยู่ที่ว่าจะเกิดจากคลื่นไฟฟ้าในสมองส่วนใดผิดปกติ โดยปกติแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการชักประมาณ 30 วินาทีถึง 2 นาที แต่หากผู้ป่วยรายใดมีอาการชักเกิน 5 นาที จะถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบเข้ารับการรักษาโดยด่วน
วิธีสังเกตอาการชัก
อาการของผู้ป่วยอาจแตกต่างกันไปตามประเภทของอาการชักที่เป็น แต่คุณก็สามารถสังเกตสัญญาณและอาการของผู้ป่วยลมชักที่กำลังเกิดอาการชักได้คร่าว ๆ ดังต่อไปนี้
- สับสนไปชั่วขณะ
- มีอาการเหม่อลอยกะทันหัน เช่น จู่ ๆ ก็หยุดพูด เดิน ๆ อยู่ก็หยุดเดิน
- แขนและขากระตุกหรือสั่นแบบควบคุมไม่ได้
- หมดสติ
- มีปัญหาด้านอารมณ์หรือการรับรู้ เช่น มีอาการกลัว วิตกกังวล เกิดภาวะเดจาวู
วิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยลมชัก
คุณสามารถปฐมพยาบาลผู้ป่วยลมชักได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- พยายามตั้งสติ และกันคนที่มุงดูออกไป
- ปลดกระดุมเสื้อ ถอดเครื่องประดับ เนคไท หรือเครื่องประดับอื่น ๆ ที่อยู่บริเวณคอ ผู้ป่วยจะได้หายใจสะดวกขึ้น
- อย่าพยายามฉุด ดึง หรือกดผู้ป่วยให้อยู่กับที่ รวมถึงอย่าเอาอะไรใส่ปากผู้ป่วย หรือจับลิ้น หรือบังคับให้ผู้ป่วยอ้าปากด้วย เพราะอาจทำให้เขาบาดเจ็บได้
- เคลื่อนย้ายสิ่งของมีคม หรือสิ่งของที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น แก้ว เฟอร์นิเจอร์ ให้ห่างจากผู้ป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจนผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บ
- หาอะไรนิ่ม ๆ แบน ๆ มาให้ผู้ป่วยหนุน จากนั้นให้เขานอนตะแคง หรืออยู่ในท่านอนตะแคงกึ่งคว่ำ (Semi-prone position) เพื่อป้องกันไม่ให้ทางเดินหายใจอุดตัน และป้องกันผู้ป่วยสูดเอาสารคัดหลั่งกลับเข้าไป
- อยู่กับผู้ป่วยจนกว่าเขาจะมีสติ หรือรู้สึกตัว ห้ามปล่อยเขาไว้คนเดียวเด็ดขาด
- เมื่อผู้ป่วยได้สติแล้ว ให้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เขาฟังแบบกระชับและเข้าใจง่าย
- เช็กดูว่าผู้ป่วยมีกำไลข้อมูลสุขภาพ หรือข้อมูลฉุกเฉินติดตัวมาหรือไม่ หากมีให้ติดต่อไปตามเบอร์ฉุกเฉินที่ระบุไว้
- หากผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ ให้ส่งขึ้นรถให้เรียบร้อย
ข้อห้ามในการ ปฐมพยาบาลผู้ป่วยลมชัก
หากเจอคนเป็นลมชัก คุณห้ามทำแบบนี้เด็ดขาด!
- ห้ามกดผู้ป่วยลงกับพื้น หรือจับไว้ไม่ให้เขาเคลื่อนไหว
- ห้ามเอาอะไรใส่ปากผู้ป่วย เพราะอาจทำให้ฟันและขากรรไกรเสียหายหรือบาดเจ็บได้
- ห้ามทำซีพีอาร์ (CPR) หรือช่วยให้ผู้ป่วยหายใจสะดวกขึ้นด้วยการเป่าปากผู้ป่วย (Mouth to mouth) เพราะหากอาการดีขึ้น ผู้ป่วยจะสามารถหายใจได้เองอยู่แล้ว
- ห้ามให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรืออาหารใด ๆ ทั้งสิ้น จนกว่าเขาจะได้สติ หรือหายชักแล้วจริง ๆ
หากเป็นเช่นนี้ รีบแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทันที
หากผู้ป่วยลมชักมีภาวะเหล่านี้ คุณควรรีบเรียกหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทันที
- ไม่เคยมีอาการชักมาก่อน
- หายใจลำบาก
- ฟื้นลำบาก หรือหยุดชักแล้วแต่ไม่ฟื้น
- มีอาการชักนานเกิน 5 นาที
- มีอาการชักซ้ำอีกครั้ง หลังจากฟื้นได้ไม่นาน
- บาดเจ็บระหว่างที่ชัก
- เกิดอาการชักตอนอยู่ในน้ำ
- มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือกำลังตั้งครรภ์
[embed-health-tool-bmi]