การสูบบุหรี่เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ทั้งโรคหอบหืด โรคมะเร็งปอด โรคปอดอุดกั้น ดังนั้น จึงควรศึกษาเทคนิคหรือวิธีการที่จะช่วยให้ เลิกสูบบุหรี่ ได้ง่ายขึ้น หรืออาจปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถเลิกบุหรี่ได้อย่างยั่งยืนและไม่หวนกลับไปสูบบุหรี่อีกครั้ง
[embed-health-tool-heart-rate]
5 ขั้นตอนง่าย ๆ ที่ช่วย เลิกสูบบุหรี่
ขั้นตอนที่ 1 บอกคนที่รัก และคนรอบตัวว่าจะ เลิกบุหรี่
บอกเพื่อนฝูงและคนในครอบครัวว่าวันนี้จะเลิกบุหรี่แล้ว กำลังใจจากพวกเขาจะช่วยให้ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ ฉะนั้นบอกพวกเขาไปชัด ๆ เลยว่า หากต้องการกำลังใจจากพวกเขายังไง จะได้ไม่ต้องมานั่งอ่านใจกันให้เสียเวลา นอกจากนี้คนรอบข้างยังสามารถช่วยได้ ในเวลาที่อยากหยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบ และอาจปรึกษาแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำดี ๆ ในการเลิกบุหรี่ด้วย
ขั้นตอนที่ 2 วางแผนเลิกบุหรี่
เมื่อได้กำลังใจแล้ว ก็เริ่มมองหาโปรแกรมเลิกบุหรี่ที่เหมาะกับตัวเอง แผนการเลิกบุหรี่ดีๆ จะรวบรวมกลยุทธ์ต่างๆ ที่จะช่วยให้มุ่งมั่น และมีแรงบันดาลใจในการเลิกสูบบุหรี่ได้ โดยอาจใช้ยาที่ให้นิโคติน (Nicotine) ทดแทนเป็นอย่างแรก ในเวลาตื่นนอน เพื่อช่วยให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ได้ง่ายขึ้น และสิ่งที่สำคัญคือ ควรลิสต์เหตุผลในการเลิกบุหรี่ออกมา เช่น ไม่อยากให้คนในครอบครัวต้องสูดควันบุหรี่ อยากเลิกบุหรี่เพื่อลูก ไม่อยากเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ด้วยโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ และโรคอื่นๆ ถ้าเหตุผลในการเลิกบุหรี่แข็งแรงพอ จะมีกำลังใจและเลิกบุหรี่ได้ในที่สุด
ขั้นตอนที่ 3 หากิจกรรมทำ
มองหากิจกรรมดีๆ มาทดแทนการสูบบุหรี่ เช่น การออกกำลังกาย หรือนัดเพื่อนที่ไม่สูบบุหรี่ไปดูหนัง หรือกินข้าวเย็นด้วยกัน นอกจากนี้ก็ลองเคี้ยวหมากฝรั่งแบบไร้น้ำตาล เพื่อไม่ให้ปากว่าง การหาอะไรทำให้ตัวเองยุ่งๆ เข้าไว้ จะเป็นการช่วยให้ผ่านพ้นความรู้สึกอยากบุหรี่ ในแต่ละวันไปได้
มากไปกว่านั้น ควรเตรียมตัวก่อนเลิกบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นอาการเสพติดอย่างหนึ่ง ที่สมองติดนิโคติน และถ้าหยุดสูบบุหรี่ นั่นหมายถึงการเลิกนิโคติน ที่อาจทำให้ปวดหัว และส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึก รวมถึงทำให้หมดพลัง ซึ่งงานวิจัยชี้ว่า หมากฝรั่งที่มีนิโคติน สามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการเลิกบุหรี่ได้ และยังมีงานวิจัยที่พิสูจน์ว่า การออกกำลังกาย แม้จะเป็นเพียงการเดิน หรือยืดกล้ามเนื้อ เพียง 5 นาที ก็สามารถลดความอยากสูบบุหรี่ รวมถึงช่วยให้สมองผลิตสารเคมี ที่ช่วยลดความอยากสูบบุหรี่ออกมาด้วย
ขั้นตอนที่ 4 หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น
- นำบุหรี่ ไฟแช็ค และที่เขี่ยบุหรี่ไปทิ้งไปให้หมด
- หลีกเลี่ยงคาเฟอีนที่จะทำให้รู้สึกตื่นตัว โดยหันมาดื่มน้ำเปล่าแทน
- ใช้เวลากับเพื่อนที่ไม่สูบบุหรี่
- ไปอยู่ในสถานที่ที่ห้ามสูบบุหรี่
- พักผ่อนให้มากๆ เนื่องจากการอดนอนจะยิ่งกระตุ้นให้รู้สึกอยากสูบบุหรี่