backup og meta

วิธีรับมือเมื่อลูกเป็นประจำเดือนครั้งแรก

วิธีรับมือเมื่อลูกเป็นประจำเดือนครั้งแรก

ประจำเดือน คือเลือดที่ไหลออกมาทางช่องคลอดในทุก ๆ เดือน เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์ โดยส่วนใหญ่มักมีประจำเดือนตั้งแต่อายุ 12 ปี การเป็นประจำเดือนถือเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งในการเจริญเติบโตของลูก ดังนั้น ผู้ปกครองจึงควรสอนให้ลูกเข้าใจเกี่ยวกับการเป็นประจำเดือนครั้งแรกและวิธีการใช้ผ้าอนามัยอย่างถูกต้อง เพื่อให้ลูกสามารถดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสมเมื่อเป็นประจำเดือน

[embed-health-tool-ovulation]

ประจำเดือน คืออะไร

ประจำเดือน คือ เลือดและเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดออกมาเนื่องจากจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) โดยปกติในแต่ละเดือน ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนออกมาเพื่อกระตุ้นให้รังไข่ปล่อยไข่ออกมา และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับตั้งครรภ์ แต่หากไม่มีอสุจิมาผสมกับไข่ ระดับฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้จะลดลง และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกและไหลออกมาเป็นประจำเดือน โดยประจำเดือนมักจะมาทุก ๆ 21-45 วัน และอาจเป็นประจำเดือนนานประมาณ 3-8 วัน ทั้งนี้ รอบเดือนของแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไป

สัญญาณเตือนเมื่อลูกเป็นประจำเดือนครั้งแรก

โดยปกติลูกมักจะเป็นประจำเดือนครั้งแรกเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์หรือวัยแรกรุ่น ส่วนใหญ่มักเป็นช่วงอายุ 12 ปี แต่บางคนอาจมาช้าหรือเร็วกว่านั้นตามภาวะสุขภาพของแต่ละบุคคล โดยสัญญาณเตือนการเป็นประจำเดือนครั้งแรกของลูก มีดังนี้

  • ท้องเสีย ท้องอืด และอาจปวดท้องเกร็งช่วงท้องด้านล่าง
  • อารมณ์แปรปรวน
  • ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • เหนื่อยล้า
  • เจ็บหน้าอกและเต้านมเมื่อสัมผัส
  • รู้สึกอยากอาหารเพิ่มขึ้น หิวบ่อยขึ้น

วิธีรับมือเมื่อลูกเป็นประจำเดือนครั้งแรก

วิธีรับมือเมื่อลูกเป็นประจำเดือนครั้งแรก อาจทำได้ดังนี้

  • พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับการเป็นประจำเดือน หากเป็นไปได้ควรพูดก่อนที่ประจำเดือนจะมา เพื่อให้ลูกทำความเข้าใจและรับมือได้ด้วยตัวเอง ช่วยลดอาการตื่นตกใจเมื่อประจำเดือนมา
  • สอนลูกเกี่ยวกับวิธีการเลือกผ้าอนามัย วิธีการใช้ผ้าอนามัย และการเปลี่ยนผ้าอนามัยอย่างถูกต้อง รวมถึงวิธีการทิ้งผ้าอนามัยอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน ห้องน้ำสาธารณะ โดยควรใช้กระดาษชำระหรือกระดาษห่อผ้าอนามัยที่ใช้แล้วให้มิดชิดก่อนทิ้งลงในถังขยะ
  • แนะนำให้ลูกเลือกกางเกงชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย เพื่อระบายอากาศได้ดี เพราะระหว่างมีประจำเดือนอาจเกิดความอับชื้น และทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายตัว
  • หากลูกมีอาการปวดท้องระหว่างเป็นประจำเดือน อาจบรรเทาอาการโดยการใช้ถุงน้ำร้อนวางบนหน้าท้อง หรืออาจให้รับประทานยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน (Naproxen) อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen)
  • สอนให้ลูกจดบันทึกและนับวันมาของประจำเดือนในแต่ละรอบเดือน เพื่อติดตามระยะรอบเดือนของตัวเอง จะได้สามารถเตรียมตัวรับมือเมื่อประจำเดือนมาได้ และสามารถสังเกตได้เมื่อประจำเดือนมาไม่ปกติ โดยให้ลูกนับวันที่ประจำเดือนมาวันแรก เป็นวันที่ 1 และจดบันทึกเอาไว้ จากนั้นนับต่อไปจนกว่าประจำเดือนรอบถัดไปจะมา และนับวันดูว่าแต่ละเดือนนั้นประจำเดือนจะมาทุก ๆ กี่วัน และมาครั้งละประมาณกี่วัน

สัญญาณเตือนของประจำเดือนผิดปกติ

ผู้ปกครองควรสังเกตหรืออาจสอบถามลูกเกี่ยวกับอาการเมื่อเป็นประจำเดือน เพื่อเช็กสัญญาณเตือนของประจำเดือนผิดปกติ ดังนี้

  • ประจำเดือนไม่มาภายใน 3 ปีหลังจากร่างกายพัฒนาเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เช่น เต้านมขยาย มีขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ
  • ประจำเดือนมามาก โดยสังเกตจากการเปลี่ยนผ้าอนามัยมากกว่า 1 แผ่นภายใน 1-2 ชั่วโมง
  • มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง แม้จะรับประทานยาแล้วก็อาการไม่ดีขึ้น
  • ประจำเดือนมามากหรือน้อยเกินไปในแต่ละรอบเดือน
  • เป็นประจำเดือนนานกว่า 7 วัน
  • ประจำเดือนขาดนานกว่า 2 เดือน
  • ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เช่น อาจเป็นประจำเดือน 2 ครั้ง ในแต่ละรอบเดือน ประจำเดือนมาเดือนเว้นเดือน
  • มีไข้ ไม่สบาย และมีอาการเจ็บช่องคลอด โดยเฉพาะในกรณีที่ใช้ผ้าอนามัยแบบสอด

นอกจากนี้ หากลูกยังไม่มีประจำเดือนแม้จะมีอายุ 15 ขึ้นไปแล้วก็ตาม ควรพาเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุ เพราะอาจมีความเกี่ยวข้องกับอาหารที่รับประทาน พฤติกรรมการออกกำลังกายมากเกินไป การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือปัญหาในระบบสืบพันธุ์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Your Daughter’s First Period: Help Them Be Ready. https://www.webmd.com/parenting/features/daughters-first-period-how-to-prepare. Accessed April 11, 2022 

Preparing your child for menstruation. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/tween-and-teen-health/in-depth/menstruation/art-20046004. Accessed April 11, 2022 

Menstruation: What’s Normal for Girls. https://www.webmd.com/children/news/20061107/menstruation-whats-normal-for-girls. Accessed April 11, 2022 

Overview-Periods. https://www.nhs.uk/conditions/periods/. Accessed April 11, 2022 

Starting your periods-Periods. https://www.nhs.uk/conditions/periods/starting-periods/. Accessed April 11, 2022 

Normal Period. https://www.webmd.com/women/normal-period. Accessed April 11, 2022 

Irregular periods. https://www.nhs.uk/conditions/irregular-periods/. Accessed April 11, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

09/08/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

วัยรุ่น พัฒนาการและสุขภาพ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของวัยรุ่น มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 09/08/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา