EQ คือ ความฉลาดทางอารมณ์ หมายถึงความสามารถในการจัดการกับความรู้สึกต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอารมณ์ การแก้ไขปัญหา และการรับรู้อารมณ์ของตนเอง ความฉลาดทางอารมณ์มีความสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อน และบุคคลอื่น ๆ ในสังคม
[embed-health-tool-bmi]
EQ คืออะไร
EQ (Emotional Quotient หรือ Emotional Intelligence) หรือความฉลาดทางด้านอารมณ์ หมายถึงความสามารถในจัดการกับอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม เมื่อพบเจอกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูงอาจสามารถพัฒนาศักยภาพในการดำเนินชีวิต และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้อารมณ์ การจัดการกับอารมณ์ การเข้าใจอารมณ์ของตนเองและบุคคลอื่น การตัดสินใจกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก รวมถึงยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้แน่นแฟ้น
IQ และ EQ เป็นความฉลาดทั้งคู่ แต่มีความแตกต่างกัน เพราะ IQ คือ ความฉลาดทางการเรียนรู้ด้านสติปัญญา เป็นความสามารถหลายประเภท เช่น การคิด วิเคราะห์ทางวิชาการ การใช้เหตุผล รวมถึงพวกด้านศิลปะ ด้านดนตรี ด้านกีฬา ซึ่งอาจสามารถทดสอบได้จากคะแนนสอบวัดผลระดับในโรงเรียน อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของ EQ ก็ไม่น้อยไปกว่า IQ เพราะ EQ เป็นความสามารถในการรับรู้เข้าใจอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น สามารถควบคุมอารมณ์และยับยั้งชั่งใจ การแสดงออกอย่างเหมาะสม รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักการรอคอย
มีงานวิจัยพบว่า เด็กที่มี EQ สูงอาจจะมีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่า เนื่องจากการมีวุฒิทางด้านอารมณ์ที่ดี การจัดการแก้ไขปัญหา รวมถึงพฤติกรรมคิดเชิงบวกทำให้สุขภาพจิตแข็งแรงและนำโอกาสดี ๆ เข้ามาในชีวิต ซึ่งยังอาจส่งผลดีไปยังผู้ที่อยู่รอบข้างด้วย
ประโยชน์ของการมี EQ สูง
การมี EQ สูง มีประโยชน์มากมาย เช่น
- เด็กที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูง จะสามารถทำงานได้ดีกว่า รวมไปถึงผลคะแนนสอบวัดระดับชั้นก็อาจสูงขึ้น
- สงบสติอารมณ์ได้ดี ไม่แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
- สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน รู้จักแบ่งปัน รู้จักการให้
- สุขภาพจิตที่ดี ผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูง มักไม่ค่อยประสบกับภาวะซึมเศร้า หรือโรคจิตเภทอื่น ๆ
ทักษะของ EQ
EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ประกอบด้วยทักษะต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- การตระหนักรู้ในตนเอง หรือการรู้จักตนเอง เป็นทักษะขั้นพื้นฐานของ EQ ที่เข้าใจตนเอง รู้จุดอ่อน จุดแข็ง โดยเห็นคุณค่าและเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง และวางแผนเพื่อแก้ไขจุดอ่อน เด็กที่รู้จักตนเองมักมีความมั่นใจ มีความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงยังสามารถตัดสินใจได้ดี สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ การรับรู้อารมณ์ยังส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรม หากสามารถรับรู้อารมณ์ขณะนั้น อาจช่วยให้คิดและระงับอารมณ์ที่จะก่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว โมโหร้าย
- การควบคุมตนเอง เป็นความสามารถในการจัดการอารมณ์และพฤติกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก การระงับอารมณ์ หรือจัดการกับความโกรธอาจทำได้ด้วยการนับเลข หรือฝึกสมาธิ โดยผู้ที่สามารถควบคุมตนเองได้ มักเป็นผู้ที่มองโลกในแง่ดีและสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้
- การสร้างแรงจูงใจ การตั้งเป้าหมาย และไม่หยุดในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมาย สามารถเผชิญปัญหาและอุปสรรคได้อย่างไม่ย่อท้อ
- การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีความเข้าใจผู้อื่น โดยเอาใจเขามาใส่ใจเรา เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเมื่อเกิดปัญหา
- การรับรู้ทางสังคม หรือทักษะทางสังคม ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จในการทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการชักจูงผู้อื่นให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน การเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น โดยมีองค์ประกอบสำคัญคือการเอาใจใส่ ความเห็นอกเห็นใจ ช่วยให้ใส่ใจผู้อื่นและสร้างมิตรภาพความสัมพันธ์ที่ดี การสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น ๆ การจัดการปัญหา และการแบ่งปัน
วิธีการเสริมสร้าง EQ ในเด็ก
การเสริมสร้าง EQ สามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่เด็ก เพื่อให้มีพัฒนาการทางด้านอารมณ์ที่ดี ไม่กลายเป็นเด็กเกเร หรือก้าวร้าว โดยวิธีการเสริมสร้าง EQ อาจมีดังต่อไปนี้
- สอนให้เด็กรับรู้อารมณ์ของตนเอง
เริ่มสอนให้เด็กรู้จักและเข้าใจคำศัพท์ที่เกี่ยวกับอารมณ์ต่าง ๆ เช่น โกรธ โมโห อารมณ์เสีย เจ็บ รวมถึงอารมณ์เชิงบวก เช่น ตื่นเต้น มีความสุข ดีใจ เพื่อกระตุ้นให้เด็กสามารถสื่อสารความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดได้ เมื่อเด็กอารมณ์เสีย หากเล่นเกมแพ้ อาจถามว่าตอนนี้รู้สึกโกรธใช่ไหม เป็นคำถามเชิงสะท้อนอารมณ์ ให้เด็กหัดทำความเข้าใจความรู้สึกตนเองง่ายๆ
- สอนให้รู้จักแบ่งปัน
การแบ่งปันความรู้สึกร่วมกันกับเด็ก อาจช่วยให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดีเมื่อโตขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจให้เด็กอ่านหนังสือ นิทานที่มีตัวละครแสดงความมีน้ำใจ หรือให้ฟังเรื่องราวต่าง ๆ และพูดคุยกับเด็ก หรือสร้างเหตุการณ์จำลองความเห็นอกเห็นใจ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งปัน และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
- สอนให้เผชิญกับปัญหา
การเผชิญหน้ากับความกลัวอาจเป็นเรื่องยากสำหรับเด็ก ๆ อย่างไรก็ตาม สามารถสอนทักษะนี้ให้กับเด็กได้ โดยกลยุทธ์ในการจัดการกับปัญหา คือ ฝึกการควบคุมลมหายใจลึก ๆ ช้าๆ เพื่อช่วยให้มีสมาธิและจัดการกับความโกรธ วิตกกังวล หลังจากสงบอารมณ์แล้ว ให้เด็กเล่าปัญหาที่เกิดขึ้นให้ฟังว่าสถานการณ์ที่เผชิญมีความยากลำบากอย่างไร และบอกให้เด็กรับรู้ว่าไม่ได้เผชิญปัญหาคนเดียว อาจแนะนำลองปรึกษาผู้อื่น หรือลองคิดหาอย่างน้อย 5 วิธีเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง โดยผู้ปกครองควรระบุข้อดีและข้อเสียของการแก้ปัญหาในแต่ละวิธี เพื่อให้เด็กสามารถเลือกการจัดการกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก
หากเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ควรตักเตือนด้วยถ้อยคำที่เหมาะสม ไม่ใช้อารมณ์ตัดสิน และแสดงให้เด็กเห็นว่าการจัดการอารมณ์หรือความรู้สึกเชิงลบสามารถทำได้ โดยไม่ต้องแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมา ไม่ควรใช้ถ้อยคำกับเด็กรุนแรงเกินไป เพราะอาจทำให้เด็กไม่มีความเชื่อมั่นในตนเองได้ และควรรับฟังเด็ก หากเด็กต้องการคำปรึกษา รวมถึงควรสอนด้วยเหตุผล
- ทักษะเข้าสังคม
การสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รู้จักวิธีประนีประนอม เข้าใจและเห็นใจผู้อื่น สามารถสื่อสารในสิ่งที่ต้องการ และทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยวิธีพัฒนาทักษะเข้าสังคม เช่น ตั้งคำถามปลายเปิด ตั้งใจฟังผู้อื่นพูด(ฝึกทักษะการฟัง) ฝึกการสบตา ฝึกการยิัมตอบเมื่อมีอารมณ์ความรู้สึกที่ดีร่วมด้วย
- ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น
การนำใจเขามาใส่ใจเรา เป็นการรับรู้ความเข้าใจและความต้องการของผู้อื่น เข้าใจผู้อื่นในมุมมองของพวกเขาในเหตุการณ์ต่าง ๆ วิธีการสร้างความเข้าอกเข้าใจ เช่น มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ลองนึกภาพตนเองในหน้าที่อื่น ๆ พูดคุยกับผู้คนใหม่ ๆ เพื่อให้ได้ประสบการณ์และมุมมองที่ต่างออกไป จะช่วยให้เข้าใจผู้อื่นง่ายขึ้น