backup og meta

โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือ LD คืออะไร อาการ สาเหตุ การรักษา

โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือ LD คืออะไร อาการ สาเหตุ การรักษา
โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือ LD คืออะไร อาการ สาเหตุ การรักษา

LD หรือ Learning Disorder คือ โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ในด้านการอ่าน การเขียน การคำนวณ แต่อาจเรียนรู้หรือมีทักษะด้านอื่น ๆ เป็นปกติ เด็กที่เป็นโรคนี้อาจขาดความมั่นใจและแรงจูงใจในการพัฒนาศักยภาพตนเอง ทั้งนี้ พ่อแม่ควรสังเกตอาการของเด็กว่ามีพฤติกรรมอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ทั้งที่อยู่ในวัยที่ควรอ่านออกและเขียนได้หรือไม่ หากมีอาการ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขอย่างตรงจุดและทันท่วงที

LD คืออะไร 

LD ย่อมาจาก Learning Disorder หมายถึง โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือภาวะการเรียนรู้บกพร่อง หรือกลุ่มอาการที่มีปัญหาหรือขาดทักษะด้านการเรียนรู้ ในด้านการอ่าน การเขียน และการคำนวณ ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กมีทักษะในการเรียนรู้ช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน ทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ และการพัฒนาทักษะในการเข้าสังคมด้วย

อาการของ LD

อาการของ LD อาจแบ่งตามทักษะด้านที่บกพร่อง ดังนี้ 

  • ความบกพร่องทางการเขียน มีความบกพร่องในการเขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ ทำให้เขียนหนังสือและสะกดคำผิด มักพบร่วมกับความบกพร่องทางการอ่าน
  • ความบกพร่องทางการอ่าน พบได้บ่อยที่สุด เด็กจะมีความบกพร่องในการจดจำ พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ อาจส่งผลทำให้เด็กอ่านหนังสือไม่ได้ อ่านได้ช้า อ่านออกเสียงได้ไม่ชัด เป็นต้น
  • ความบกพร่องทางการคำนวณ เด็กจะไม่เข้าใจเรื่องตัวเลขและการคำนวณ ไม่สามารถบวก ลบ คูณ หาร หรือแก้โจทย์ปัญหาพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ได้ 

ทั้งนี้ โรค LD ยังอาจส่งผลให้เกิดปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์อื่น ๆ ได้ด้วย เช่น 

  • หงุดหงิดง่าย 
  • ก้าวร้าว 
  • สมาธิสั้น 
  • ไม่มั่นใจตนเอง 
  • ไม่ยอมเข้าสังคม 
  • ต่อต้านการทำการบ้านหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน การเขียน การคำนวณ 
  • ทำของใช้ส่วนตัวหายเป็นประจำ
  • ไม่เข้าใจเรื่องทิศทาง ซ้าย-ขวา
  • จำสิ่งที่เพิ่งพูดหรือเพิ่งอ่านไปไม่ได้
  • ไม่เข้าใจเรื่องการคำนวณเวลา หรือการบอกเวลา

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากเด็กมีพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน มีความยากลำบากในการสื่อสาร และมีปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว สมาธิสั้น พ่อแม่ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อหาแนวทางในการรับมือและวิธีที่ช่วยให้เข้าใจกับลูกมากยิ่งขึ้น 

สาเหตุของ LD

โรคบกพร่องทางการเรียนรู้อาจเกิดขึ้นเมื่อพัฒนาการทางสมองของเด็กผิดปกติช่วงอยู่ในครรภ์ ตอนคลอด หรือช่วงในวัยเด็ก ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้ 

  • คุณแม่ตั้งครรภ์มีปัญหาทางด้านสุขภาพร่างกายหรือจิตใจ ซึ่งอาจส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์
  • กรรมพันธุ์ หากคนในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือญาติมีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ เด็กที่เกิดมาก็อาจมีภาวะนี้ได้ 
  • ความผิดปกติของยีน เช่น ดาวน์ซินโดรม ออทิสติก ที่อาจส่งผลให้เด็กมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ พัฒนาการช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน 
  • ปัญหาระหว่างการคลอด เช่น คลอดก่อนกำหนด ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ น้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ อาจทำให้เด็กมีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ได้
  • โดนทำร้ายร่างกาย เช่น ตี เตะ ต่อย จนอาจทำให้ศีรษะกระทบกระเทือน หรือติดเชื้อในระบบประสาท ส่งผลให้มีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ผิดปกติ 
  • โดนทำร้ายจิตใจ เช่น ถูกด่าทอ ได้ยินคำพูดรุนแรงที่กระทบกระเทือนจิตใจ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งอาจส่งผลต่อการพัฒนาสมอง และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติด้านการเรียนรู้
  • สิ่งแวดล้อม การสัมผัสสารพิษจากสิ่งแวดล้อม เช่น สารตะกั่ว อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติด้านสติปัญญาและการเรียนรู้ของเด็กได้ 

การรักษา LD

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ให้หายขาด แต่วิธีต่อไปนี้อาจช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้น 

  • การจัดทำแผนการเรียนรายบุคคล โดยเน้นการสอนเสริมในทักษะที่เด็กบกพร่อง เช่น การอ่าน การเขียน การคิดเลข ซึ่งควรสอนเป็นกลุ่มย่อยหรือสอนแบบตัวต่อตัว ครั้งละ 30-45 นาที
  • การบำบัด เช่น กิจกรรมบำบัด ดนตรีบำบัด อาจช่วยพัฒนาทักษะด้านที่เด็กบกพร่องได้ 
  • การใช้ยา หากเด็กมีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวลอย่างรุนแรง คุณหมออาจจ่ายยาต้านอาการซึมเศร้าให้รับประทาน
  • การช่วยเหลือจากครอบครัว พ่อแม่ควรให้ความร่วมมือและทำความเข้าใจอาการของเด็ก คอยสนับสนุนและส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของเด็ก รวมถึงควรทำให้เด็กภูมิใจและมั่นใจในตนเองมากขึ้น ด้วยการชื่นชมเมื่อเด็กทำเรื่องต่าง ๆ ได้สำเร็จ แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Learning Disorders in Children. https://www.cdc.gov/ncbddd/childdevelopment/learning-disorder.html. Accessed December 23, 2021

Learning disorders: Know the signs, how to help. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/childrens-health/in-depth/learning-disorders/art-20046105. Accessed December 23, 2021

Learning Disorders. https://www.msdmanuals.com/home/children-s-health-issues/learning-and-developmental-disorders/learning-disorders. Accessed December 23, 2021

Learning disabilities. https://www.nhs.uk/conditions/learning-disabilities/. Accessed December 23, 2021

โรคบกพร่องทางการเรียนรู้. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/child/09042014-1907. Accessed December 23, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

21/04/2022

เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

เด็ก กับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย

วิธีพัฒนาสมองเด็ก ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 21/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา