backup og meta

โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือ LD คืออะไร อาการ สาเหตุ การรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 21/04/2022

    โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือ LD คืออะไร อาการ สาเหตุ การรักษา

    LD หรือ Learning Disorder คือ โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ในด้านการอ่าน การเขียน การคำนวณ แต่อาจเรียนรู้หรือมีทักษะด้านอื่น ๆ เป็นปกติ เด็กที่เป็นโรคนี้อาจขาดความมั่นใจและแรงจูงใจในการพัฒนาศักยภาพตนเอง ทั้งนี้ พ่อแม่ควรสังเกตอาการของเด็กว่ามีพฤติกรรมอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ทั้งที่อยู่ในวัยที่ควรอ่านออกและเขียนได้หรือไม่ หากมีอาการ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขอย่างตรงจุดและทันท่วงที

    LD คืออะไร 

    LD ย่อมาจาก Learning Disorder หมายถึง โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือภาวะการเรียนรู้บกพร่อง หรือกลุ่มอาการที่มีปัญหาหรือขาดทักษะด้านการเรียนรู้ ในด้านการอ่าน การเขียน และการคำนวณ ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กมีทักษะในการเรียนรู้ช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน ทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ และการพัฒนาทักษะในการเข้าสังคมด้วย

    อาการของ LD

    อาการของ LD อาจแบ่งตามทักษะด้านที่บกพร่อง ดังนี้ 

    • ความบกพร่องทางการเขียน มีความบกพร่องในการเขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ ทำให้เขียนหนังสือและสะกดคำผิด มักพบร่วมกับความบกพร่องทางการอ่าน
    • ความบกพร่องทางการอ่าน พบได้บ่อยที่สุด เด็กจะมีความบกพร่องในการจดจำ พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ อาจส่งผลทำให้เด็กอ่านหนังสือไม่ได้ อ่านได้ช้า อ่านออกเสียงได้ไม่ชัด เป็นต้น
    • ความบกพร่องทางการคำนวณ เด็กจะไม่เข้าใจเรื่องตัวเลขและการคำนวณ ไม่สามารถบวก ลบ คูณ หาร หรือแก้โจทย์ปัญหาพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ได้ 

    ทั้งนี้ โรค LD ยังอาจส่งผลให้เกิดปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์อื่น ๆ ได้ด้วย เช่น 

    • หงุดหงิดง่าย 
    • ก้าวร้าว 
    • สมาธิสั้น 
    • ไม่มั่นใจตนเอง 
    • ไม่ยอมเข้าสังคม 
    • ต่อต้านการทำการบ้านหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน การเขียน การคำนวณ 
    • ทำของใช้ส่วนตัวหายเป็นประจำ
    • ไม่เข้าใจเรื่องทิศทาง ซ้าย-ขวา
    • จำสิ่งที่เพิ่งพูดหรือเพิ่งอ่านไปไม่ได้
    • ไม่เข้าใจเรื่องการคำนวณเวลา หรือการบอกเวลา

    ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

    หากเด็กมีพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน มีความยากลำบากในการสื่อสาร และมีปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว สมาธิสั้น พ่อแม่ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อหาแนวทางในการรับมือและวิธีที่ช่วยให้เข้าใจกับลูกมากยิ่งขึ้น 

    สาเหตุของ LD

    โรคบกพร่องทางการเรียนรู้อาจเกิดขึ้นเมื่อพัฒนาการทางสมองของเด็กผิดปกติช่วงอยู่ในครรภ์ ตอนคลอด หรือช่วงในวัยเด็ก ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้ 

    • คุณแม่ตั้งครรภ์มีปัญหาทางด้านสุขภาพร่างกายหรือจิตใจ ซึ่งอาจส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์
    • กรรมพันธุ์ หากคนในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือญาติมีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ เด็กที่เกิดมาก็อาจมีภาวะนี้ได้ 
    • ความผิดปกติของยีน เช่น ดาวน์ซินโดรม ออทิสติก ที่อาจส่งผลให้เด็กมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ พัฒนาการช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน 
    • ปัญหาระหว่างการคลอด เช่น คลอดก่อนกำหนด ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ น้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ อาจทำให้เด็กมีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ได้
    • โดนทำร้ายร่างกาย เช่น ตี เตะ ต่อย จนอาจทำให้ศีรษะกระทบกระเทือน หรือติดเชื้อในระบบประสาท ส่งผลให้มีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ผิดปกติ 
    • โดนทำร้ายจิตใจ เช่น ถูกด่าทอ ได้ยินคำพูดรุนแรงที่กระทบกระเทือนจิตใจ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งอาจส่งผลต่อการพัฒนาสมอง และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติด้านการเรียนรู้
    • สิ่งแวดล้อม การสัมผัสสารพิษจากสิ่งแวดล้อม เช่น สารตะกั่ว อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติด้านสติปัญญาและการเรียนรู้ของเด็กได้ 

    การรักษา LD

    ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ให้หายขาด แต่วิธีต่อไปนี้อาจช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้น 

    • การจัดทำแผนการเรียนรายบุคคล โดยเน้นการสอนเสริมในทักษะที่เด็กบกพร่อง เช่น การอ่าน การเขียน การคิดเลข ซึ่งควรสอนเป็นกลุ่มย่อยหรือสอนแบบตัวต่อตัว ครั้งละ 30-45 นาที
    • การบำบัด เช่น กิจกรรมบำบัด ดนตรีบำบัด อาจช่วยพัฒนาทักษะด้านที่เด็กบกพร่องได้ 
    • การใช้ยา หากเด็กมีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวลอย่างรุนแรง คุณหมออาจจ่ายยาต้านอาการซึมเศร้าให้รับประทาน
    • การช่วยเหลือจากครอบครัว พ่อแม่ควรให้ความร่วมมือและทำความเข้าใจอาการของเด็ก คอยสนับสนุนและส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของเด็ก รวมถึงควรทำให้เด็กภูมิใจและมั่นใจในตนเองมากขึ้น ด้วยการชื่นชมเมื่อเด็กทำเรื่องต่าง ๆ ได้สำเร็จ แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 21/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา