backup og meta

อาการดาวน์ซินโดรม สาเหตุ ภาวะแทรกซ้อน และวิธีดูแลที่ควรรู้

อาการดาวน์ซินโดรม สาเหตุ ภาวะแทรกซ้อน และวิธีดูแลที่ควรรู้

อาการดาวน์ซินโดรม คือภาวะทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของโครโมโซมในร่างกาย ส่งผลให้เกิดความบกพร่องทางพฤติกรรม สติปัญญา และพัฒนาการ ซึ่งอาจสังเกตได้จากการเรียนรู้ล่าช้า ชอบทำกิจกรรมเดิม ๆ ซ้ำกันเป็นกิจวัตร คุณพ่อคุณแม่ควรใช้ความเข้าใจในการดูแลลูกที่เป็นดาวน์ซินโดรม อีกทั้งควรพาเข้ารับการบำบัดตามโปรแกรมที่คุณหมอแนะนำ เพื่อให้ลูกสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเองเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต

อาการดาวน์ซินโดรม มีสาเหตุมาจากอะไร

โดยปกติแล้วร่างกายจะมีโครโมโซม 23 คู่ หรือ 46 แท่ง ที่ได้รับจากคุณพ่อคุณแม่อย่างละครึ่ง แต่หากโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 แท่ง รวมเป็น 47 แท่ง ดังนั้นจึงอาจส่งผลให้ลูกเสี่ยงเป็นดาวน์ซินโดรม

ดาวน์ซินโดรมแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ 

  • ไตรโซมี 21 (Trisomy 21) คือภาวะที่ โครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 ชุด เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด
  • Translocation Down syndrome คือภาวะที่โครโมโซมคู่ที่ 21 แบ่งตัวออก แล้วเคลื่อนย้ายไปติดกับโครโมโซมคู่อื่น ๆ
  • Mosaic Down syndrome เป็นภาวะที่เกิดจากการแบ่งตัวของโครโมโซมผิดปกติหลังจากที่มีการแบ่งตัวไปบางส่วนแล้ว ทำให้ร่างกายอาจมีโครโมโซม 2 ชุด คือ ชุดที่ปกติ และชุดที่มีโครโมโซมเกิน

อาการดาวน์ซินโดรม สังเกตได้อย่างไร

อาการดาวน์ซินโดรม สามารถสังเกตได้ ดังนี้

  • ศีรษะ หู มือ เท้า มีขนาดเล็ก
  • จมูกแบนราบ
  • รูปทรงดวงตาคล้ายถั่วอัลมอนด์ มีลักษณะเอียงขึ้น
  • คอสั้น
  • มีปัญหาด้านการมองเห็นและการได้ยิน
  • ปากขนาดเล็ก จนลิ้นอาจยื่นออกจากปาก
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อต่อหลวม
  • การเจริญเติบโตล่าช้า
  • ความจำสั้น
  • ไม่มีสมาธิ
  • พูดไม่ชัด ไม่เป็นคำ เนื่องจากมีพัฒนาการด้านภาษาล่าช้า

ภาวะแทรกซ้อนจากดาวน์ซินโดรม

อาการดาวน์ซินโดรมอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพเด็กได้ ดังนี้

  • ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ที่อาจส่งผลให้เด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรมเสี่ยงต่อติดเชื้อ หรือเสี่ยงต่อโรคภูมิต้านทานตัวเอง
  • ความผิดปกติของทางเดินอาหาร ที่ส่งผลให้การทำงานของลำไส้ หลอดอาหาร หลอดลม และทวารหนักผิดปกติ อาจทำให้เกิดอาการจุดเสียดท้อง ทางเดินอาหารอุดตัน และโรคเซลิแอค (Celiac Disease) ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวข้องกับระบบการย่อยอาหาร ที่มีสาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อกลูเตนผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในเด็กบางคน
  • ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่ออ่อนและกระดูกในเด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรมอาจทำให้ทางเดินหายใจอุดกั้น ที่เสี่ยงเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • โรคอ้วน เด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรมมีแนวโน้มเสี่ยงเป็นโรคอ้วนเมื่อเทียบกับเด็กปกติทั่วไป
  • ปัญหากระดูกสันหลัง เด็กบางคนอาจมีกระดูกสันหลังส่วนคอคลาดเคลื่อน ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการปวดคอ ปวดหลัง หรือเส้นประสาทถูกกดทับ
  • สมองเสื่อม เด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรมอาจเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์ สมองเสื่อม แต่อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่หรือวัยผู้สูงอายุ
  • การทำงานของหัวใจบกพร่อง เด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรมมักมีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจตั้งแต่กำเนิด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ควรเข้ารับการรักษาตามคำแนะนำของคุณหมอ

วิธีดูแลลูกกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม

วิธีดูแลลูกที่มีอาการดาวน์ซินโดรม อาจทำได้ดังนี้

  • พาลูกเข้ารับการบำบัดกล้ามเนื้อและกระตุ้นพัฒนาการ เพื่อให้ลูกสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวกและคล่องตัวมากขึ้น รวมถึงช่วยพัฒนาการคิดวิเคราะห์ การเรียนรู้และสื่อสารให้ดีขึ้น
  • ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง เช่น แปรงฟัน แต่งตัว กินข้าว ทำงานบ้านเล็กน้อย โดยควรทำให้เป็นกิจวัตรประจำวัน
  • ฝึกให้ลูกทำสิ่งที่ไม่คุ้นเคยที่อาจช่วยกระตุ้นพัฒนาการ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ใหม่ ๆ เช่น การเข้าสังคม เล่นกับเพื่อน อ่านหนังสือ ทำงานบ้าน เลือกเสื้อผ้าสวมใส่เอง ร้องเพลง เต้น ทำงานศิลปะ
  • ให้อิสระกับลูกในการตัดสินใจด้วยตัวเอง โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยให้คำแนะนำ อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดติเตียนที่รุนแรง หรือบั่นทอนกำลังใจของลูก ให้ลองเปลี่ยนเป็นคำว่า ลองดูอีกครั้ง ไม่เป็นไร เพื่อให้ลูกไม่รู้สึกผิดและอยากลองทำใหม่จนกว่าจะถูก
  • ปัจจุบันมีโรงเรียนและหน่วยงานที่รองรับการสอนเด็กที่มีอาการดาวน์ซินโดรม ผู้ปกครองอาจเลือกโรงเรียนให้เหมาะสมและพูดคุยกับคุณครูเพื่อร่วมวางแผนการเรียนที่เหมาะสมให้กับลูก

อาการดาวน์ซินโดรมไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงแค่รักษาตามอาการที่ลูกเป็น สำหรับลูกที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ทางเดินหายใจ การมองเห็น การได้ยิน และการทำงานของหัวใจ ควรเข้ารับการรักษาตามคำแนะนำของคุณหมอ

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Down Syndrome (Trisomy 21) in Children. https://www.stanfordchildrens.org/en/topic/default?id=down-syndrome-trisomy-21-90-P02356. Accessed March 11, 2022   

Down syndrome. https://medlineplus.gov/genetics/condition/down-syndrome/. Accessed March 11, 2022   

Down Syndrome. https://www.webmd.com/children/understanding-down-syndrome-basics. Accessed March 11, 2022   

Down Syndrome. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/down-syndrome/symptoms-causes/syc-20355977. Accessed March 11, 2022   

Facts about Down Syndrome. https://www.cdc.gov/ncbddd/birthdefects/downsyndrome.html. Accessed March 11, 2022   

Parenting a Child With Down Syndrome. https://www.webmd.com/children/parenting-child-downs-syndrome. Accessed March 11, 2022   

เวอร์ชันปัจจุบัน

21/04/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ของเล่น ประโยชน์ต่อพัฒนาการและเทคนิคการเลือกให้ลูกน้อย

อาหารพัฒนาสมองเด็กก่อนวัยเรียน เสริมสร้างพัฒนาการให้เฉียบแหลม


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 21/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา