backup og meta

ของเล่นเสริมพัฒนาการเด็ก 3 ขวบ ควรเลือกซื้ออย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

    ของเล่นเสริมพัฒนาการเด็ก 3 ขวบ ควรเลือกซื้ออย่างไร

    ของเล่นเสริมพัฒนาการเด็ก 3 ขวบ ที่เหมาะสมกับช่วงวัยจะช่วยเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้และกระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสมตามลำดับ การศึกษาเรื่องพัฒนาการเด็ก ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์และสังคม ภาษาและการสื่อสาร ความคิด รวมถึงสัญญาณของพัฒนาการที่ผิดปกติ อาจช่วยให้คุณพ่อคุณแมเข้าใจและสามารถเลือกซื้อของเล่นที่เหมาะกับพัฒนาการของเด็กได้มากขึ้น

    พัฒนาการเด็ก 3 ขวบ

    พัฒนาการตามช่วงวัยของเด็ก 3 ขวบ อาจมีดังนี้

    • พัฒนาการด้านร่างกาย เด็ก 3 ขวบส่วนใหญ่สามารถทำกิจกรรมทางกาย เช่น ปีนป่าย วิ่ง กระโดดไปมา กระโดดขาเดียว ได้ เด็กบางคนอาจเดินลงบันไดโดยก้าวเท้าลงทีละข้าง หรือเริ่มใส่เสื้อผ้าเองเป็น คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยฝึกพัฒนาทักษะการทรงตัวของเด็กได้ด้วยการให้เด็กหัดขี่รถจักรยานสามล้อ เป็นต้น
    • พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม เด็ก 3 ขวบมักมีพฤติกรรมเลียนแบบคนรอบข้าง เริ่มไม่งอแงเมื่อต้องแยกจากคุณพ่อคุณแม่ และรู้จักแสดงออกทางอารมณ์มากขึ้น เช่น บอกรักหรือแสดงความรักต่อคุณพ่อคุณแม่อย่างเปิดเผย รู้จักแบ่งปันกับคนอื่น เริ่มแสดงความเป็นห่วงเป็นใยเวลาที่เห็นคนรอบข้างเศร้า
    • พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร เด็ก 3 ขวบสามารถบอกชื่อต้น อายุ และเพศของตัวเองได้ จำชื่อเพื่อนได้ สามารถสนทนาได้ประมาณ 3-4 คำ/ประโยค และทำตามคำสั่งหลายขั้นตอนได้แล้ว เช่น เข้าใจคำสั่งที่ให้ “ไปหยิบเสื้อผ้าแล้วไปแปรงฟัน” และสามารถทำตามที่สั่งได้ เด็กในวัยนี้สามารถสื่อสารได้ชัดเจน และพูดคุยกับคนแปลกหน้าได้อย่างเข้าใจ
    • พัฒนาการด้านความคิด เด็ก 3 ขวบสามารถรับรู้เพศและอายุของตัวเอง และวาดรูปง่าย ๆ เช่น รูปวงกลม ตามที่สอนได้ เริ่มรู้จักเรียนรู้จากประสบการณ์ เช่น เลี่ยงไม่สัมผัสของร้อน ทั้งยังมีพัฒนาการด้านจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ มักเล่นของเล่นและแสดงบทบาทสมมติไปด้วย

    สัญญาณพัฒนาการผิดปกติที่ควรปรึกษาคุณหมอ

    หากเด็กมีภาวะหรือพฤติกรรมเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณของภาวะพัฒนาการผิดปกติ คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอตั้งแต่เนิ่น ๆ หากให้เด็กเข้ารับการตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่า เด็กมีความผิดปกติทางพัฒนาการ เช่น ภาวะบกพร่องทางการเคลื่อนไหว ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา การสูญเสียการได้ยิน สายตาไม่ดี ภาวะสมองพิการ ออทิสติก จะได้รักษาหรือหาวิธีรับมือที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาเด็กให้เทียบเท่าเด็กปกติได้อย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ

    สัญญาณพัฒนาการด้านร่างกายผิดปกติ เช่น

    • ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ตามวัย เช่น ใช้ช้อนส้อมตักอาหารไม่ได้ ถอดกางเกงหรือสวมเสื้อเองไม่ได้
    • ขยับร่างกายไม่ได้มาก แขนขาเกร็ง หยิบจับสิ่งของไม่สะดวก
    • เด็กถามคำถามซ้ำ ๆ เหมือนไม่ค่อยได้ยินสิ่งที่ตัวเองหรือคุณพ่อคุณแม่พูด
    • ตากับมือเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กัน คล้ายมีปัญหาการมองเห็น

    สัญญาณพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมผิดปกติ เช่น

    • ไม่เล่นบทบาทสมมติ หรือไม่ใช้จินตนาการอยู่กับตัวเอง
    • ไม่เข้าสังคม หรือไม่ชอบอยู่กับเพื่อนในวัยเดียวกัน
    • ไม่ตอบสนอง หรือตอบสนองช้าเป็นประจำ

    สัญญาณพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารผิดปกติ เช่น

    • เมื่อมีคนถามคำถาม เด็กเลือกที่จะทวนคำพูดคนถามแทนที่จะตอบคำถาม
    • พัฒนาการด้านการใช้ภาษาถดถอย เช่น ลืมคำศัพท์ที่เคยรู้จัก
    • พูดเป็นประโยคได้ไม่เกิน 2-3 คำ

    สัญญาณพัฒนาการด้านความคิดผิดปกติ เช่น

    • ปฏิบัติตามคำสั่งง่าย ๆ ไม่ได้
    • มีสมาธิจดจ่อกับอะไรได้ไม่นาน
    • ไม่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหา

    ของเล่นเสริมพัฒนาการเด็ก 3 ขวบ

    ของเล่นเหล่านี้ อาจช่วยเสริมพัฒนาการให้เด็กวัย 3 ขวบได้อย่างเหมาะสม

    ของเล่นที่อาจช่วยเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย

  • จักรยานสามล้อ อาจช่วยพัฒนาทักษะการทรงตัว ช่วยฝึกสมาธิ ทั้งยังช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ แข็งแรงขึ้น และช่วยกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อหลายมัดให้ทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี เช่น กล้ามเนื้อแขนและขา นอกจากนี้ การปั่นจักรยานสามล้อยังช่วยฝึกการทำงานประสานกันของสายตาและกล้ามเนื้อมือ และอาจช่วยสานสัมพันธ์ภายในครอบครัวให้แน่นแฟ้น ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรจับตาดูอย่างใกล้ชิด และควรให้เด็กใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หมวกกันน็อก สนับศอก สนับเข่า เพื่อความปลอดภัยของเด็ก
  • ของเล่นประเภทลากจูง การลากจูงของเล่นไปรอบ ๆ อาจช่วยพัฒนาทักษะการทรงตัว การเคลื่อนไหว และการควบคุมทิศทาง ทำให้เด็กสามารถทรงตัว เดิน หรือวิ่งได้คล่องแคล่วขึ้น เช่น รถไฟของเล่นที่มีสายยาวให้ลาก กระบะของเล่นที่มีสายจูง
  • ของเล่นที่อาจช่วยเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม

    • ของเล่นบทบาทสมมติ อาจช่วยเสริมทักษะทางสังคม การสวมบทบาทของโลกแห่งความจริง อาจสอนให้เด็กเรียนรู้ในการแบ่งปัน ผลัดกันใช้อุปกรณ์ และร่วมมือทำกิจกรรมไปด้วยกัน ของเล่นบทบาทสมมติอาจเป็นชุดของเล่นอุปกรณ์ทำความสะอาด ชุดของเล่นคุณหมอและพยาบาล ชุดของเล่นเครื่องครัว ชุดของเล่นของใช้เมื่อไปจ่ายตลาด เป็นต้น
    • บล็อกตัวต่อ อาจช่วยเสริมทักษะทางด้านอารมณ์ การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมือ การทำงานประสานกันของสายตาและมือ และเด็กยังได้ใช้จินตนาการในการต่อบล็อกตัวต่อให้เป็นรูปร่าง ฝึกการใช้สมาธิ จดจ่อกับการเล่นของเล่น และเรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาด้วยความคิดของตัวเอง

    ของเล่นที่อาจมีส่วนช่วยเสริมพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร

    • ตุ๊กตาหุ่นมือ อาจช่วยพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมือ การสื่อสาร ทั้งยังเสริมสร้างจินตนาการ อาจให้เด็กลองเล่าเรื่องด้วยการใส่หุ่นมือประกอบ หรือคุณพ่อคุณแม่อาจเป็นฝ่ายเล่านิทานแล้วใส่หุ่นมือเป็นตัวละคร ให้เด็กสนุกกับการเล่าเรื่องและการพูด หรือชักชวนกันร้องเพลงและพูดคุยเรื่องต่าง ๆ ด้วยกัน คุณพ่อคุณแม่จะได้ใช้เวลาที่มีค่าร่วมกับเด็ก ถือเป็นการสานสัมพันธ์ที่ดี
    • จิ๊กซอว์รูปภาพ อาจช่วยพัฒนาทักษะด้านภาษา และการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อนิ้วมือและมือ แผ่นจิ๊กซอว์สำหรับเด็กควรมีขนาดใหญ่ อาจทำจากพลาสติก หรือกระดาษแข็ง เป็นต้น จิ๊กซอว์รูปภาพต่าง ๆ เช่น สัตว์ ตัวเลข ผลไม้ ที่มีสีสันสดใส อาจช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดจินตนาการ ช่วยฝึกการขยับกล้ามเนื้อของเด็กไปพร้อม ๆ กับการฝึกทักษะด้านภาษา นอกจากนี้ เด็กอาจได้เรียนรู้การออกเสียงที่ถูกต้อง การจดจำชื่อ ตัวเลข และภาพสัตว์จากจิ๊กซอว์ด้วย

    ของเล่นที่อาจช่วยเสริมพัฒนาการด้านความคิด

    • ของเล่นไขลาน อาจช่วยพัฒนาทักษะการแก้ไขปัญหาและการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น กล้ามเนื้อมือ กล้ามเนื้อนิ้วมือ นอกจากนี้ ยังช่วยฝึกให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจกลไกการทำงานของสิ่งของรอบตัว เช่น การไขลานไปทางซ้าย จะทำให้ตุ๊กตาขยับและเริ่มเคลื่อนไหว และเกิดเสียงดนตรี
    • จิ๊กซอว์ชิ้นใหญ่สำหรับเด็ก อาจมีส่วนช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านความคิด ช่วยพัฒนาทักษะการเรียนรู้ การแก้ไขปัญหา การคิดวิเคราะห์ และการประสานงานระหว่างสายตาและกล้ามเนื้อมือ จิ๊กซอว์สำหรับเด็กมักเป็นรูปสถานที่ สัตว์ รูปทรงเลขาคณิต ทำจากไม้ กระดาษหนา หรือพลาสติก เป็นต้น และจิ๊กซอว์แต่ละชิ้นมักมีขนาดใหญ่ เพื่อให้เด็กหยิบจับได้สะดวก และป้องกันเด็กหยิบจิ๊กซอว์เข้าปาก

    วิธีการเลือกของเล่นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก 3 ขวบ

    วิธีเลือกของเล่นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก 3 ขวบ อาจมีดังนี้

    • ควรตรวจสอบข้อมูลบนฉลากสินค้าให้ละเอียดก่อนตัดสินใจซื้อมาให้เด็กเล่น ทั้งวิธีการใช้งาน ช่วงอายุที่แนะนำสำหรับเด็ก ข้อควรระวังในการเล่น และวิธีการเก็บรักษาที่เหมาะสม
    • เลือกของเล่นที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานมอก. และทนทานต่อการใช้งานหนัก ๆ เพราะเด็กอาจชอบโยน ชอบเขวี้ยง หรือชอบกัดเคี้ยวของเล่น โดยเฉพาะเด็กเล็ก
    • ไม่ควรเลือกของเล่นที่มีขนาดเล็กเกินไป ของเล่นควรมีเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 3 เซนติเมตร และควรยาวอย่างน้อย 6 เซนติเมตร หากเป็นของเล่นทรงกลม เช่น ลูกบอล ลูกแก้ว หรือเป็นทรงเหรียญ ไม่ควรเล็กเกิน 4.4 เซนติเมตร เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ของเล่นติดคอ ติดหลอดลม ทำให้เด็กหายใจไม่ออก จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
    • เลือกของเล่นที่ไม่มีเหลี่ยมแหลมที่อาจทิ่มหรือเป็นอันตรายกับเด็กได้
    • การเลือกของเล่นที่มีวงจรแบตเตอรี่ ส่วนที่บรรจุแบตเตอรี่ควรปิดสนิทและมีน็อตยึดป้องกันเด็กแกะเล่น หรือเปิดได้โดยง่าย เพราะเด็กอาจหยิบแบตเตอรี่เข้าปากจนสำลัก หรือเกิดอันตรายร้ายแรงจากแบตเตอรี่และของเหลวภายใน เช่น เกิดแผลไหม้จากสารเคมี
    • ตรวจสอบของเล่นเสริมพัฒนาการเด็กอยู่เสมอ หากชำรุด เสียหาย หรือมีชิ้นส่วนใดที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็ก ควรทิ้งแล้วเปลี่ยนชิ้นใหม่

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา