เด็ก ๆ กับความซุกซนนั้นเป็นของคู่กัน หากเผลอเพียงนิดเดียวก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุตามมาโดยไม่คาดฝันแม้ว่าจะอยู่ในบ้านก็ตาม หนึ่งในอุบัติเหตุที่อันตรายและคุณพ่อคุณแม่ควรจะต้องระมัดระวังให้ดีก็คืออุบัติเหตุจากการถูก ของร้อนลวก ทั้งนี้ ควรหาวิธีป้องกันอุบัติเหตุนี้ไม่ให้เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ แต่หากเกิดขึ้นแล้ว ควรปฐมพยาบาลอย่างไร
[embed-health-tool-vaccination-tool]
ของร้อนลวก ในเด็ก เกิดขึ้นได้ที่ไหนบ้าง
มีหลายจุดหลายสถานที่ในบ้าน ที่สามารถเป็นอันตรายต่อเด็ก ๆ ได้ โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับของร้อน เช่น น้ำร้อน เครื่องดื่มร้อน ไฟ ความร้อนจากเตา โดยสถานที่ที่ควรระวังเป็นพิเศษหากในบ้านมีเด็กเป็นสมาชิกในครอบครัว ได้แก่
อุบัติเหตุในครัว
- ระมัดระวังการประกอบอาหาร ไม่ว่าจะเป็น ซุป แกง ต้ม ทอด หรือผัด ควรนำเด็ก ๆ ออกห่างจากบริเวณที่ทำอาหาร
- ระมัดระวังการอุ้มลูกแล้วประกอบอาหารไปด้วย เนื่องจากอาจเกิดอุบัติเหตุไม่คาดคิด เช่น น้ำร้อนกระเด็นใส่ หรือสะเก็ดไฟปลิวใส่
- ระมัดระวังการอุ้มลูกแล้วดื่มชาหรือกาแฟที่มีอุณหภูมิร้อน เพราะชาหรือกาแฟที่ร้อนอาจเสี่ยงที่จะหกหรือราดใส่ตัวเด็กได้
- ระวังกาต้มน้ำ ควรวางไว้ในที่ที่ไกลจากมือเด็ก และเก็บสายไฟของอุปกรณ์ต้มน้ำร้อนให้พ้นมือเด็ก เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กกระชากจนเกิดอันตรายได้
- ปิดไฟของเตาในครัวเสมอหลังการประกอบอาหารเสร็จ
อุบัติเหตุในห้องน้ำ
- ระมัดระวังหากมีการอาบน้ำอุ่น ควรดูแลอุณหภูมิให้เหมาะสม ไม่ร้อนจนเกินไป เพราะอาจเกิดอันตรายได้
- ปิดเครื่องทำน้ำอุ่นทุกครั้งที่ไม่ใช้งาน โดยเฉพาะหากก๊อกน้ำอยู่ต่ำหรือในจุดที่เด็กเอื้อมถึง
อุบัติเหตุในสถานที่อื่น ๆ ของบ้าน
- หลายบ้านเลือกที่จะจุดเทียน ทั้งเทียนที่จุดสำหรับไหว้พระ จุดเพื่อสร้างบรรยากาศ หรือจุดเพื่อช่วยในการคลายความเครียด หากในบ้านมีเด็ก ๆ ควรระมัดระวังเทียนเป็นอย่างดี เทียนอาจร่วงใส่เด็ก ๆ น้ำตาเทียนอาจหยดใส่เด็ก จึงควรจุดเทียนในพื้นที่ที่เด็กไม่สามารถเข้าไปยุ่มย่าม หรือควรระวังไม่ให้เด็ก ๆ ไปแตะต้องเทียนที่จุดไฟแล้ว
- อุปกรณ์สำหรับจุดไฟทั้งไม้ขีดไฟ และไฟแช็ค ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก ๆ เพื่อป้องกันอันตรายจากการติดไฟ
- ระมัดระวังเครื่องดื่ม หรืออาหารที่ร้อน เพื่อป้องกันไม่ให้ของร้อนลวกปากเด็ก ๆ
- วัสดุ อุปกรณ์ หรือสิ่งใดก็ตามที่มีอุณหภูมิร้อน ควรวางให้ห่างและพ้นจากมือของเด็ก
วิธีป้องกันเด็กถูก ของร้อนลวก
เพื่อป้องกันเด็ก ๆ ถูกของร้อนลวก อาจป้องกันได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- พูดคุยกับเด็ก ๆ ถึงอันตรายที่เกิดจากความร้อน ทำให้รู้สึกเจ็บปวด หรืออาจเกิดบาดแผลได้
- สอนให้เด็ก ๆ อยู่ห่างจากอุปกรณ์ที่จุดไฟได้ เช่น ไม้ขีด ไฟแช็ค และควรเก็บอุปกรณ์เหล่านี้ให้พ้นมือเด็ก
- คอยเช็คอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่อยู่ในบ้านว่าปิดสนิทในเวลาที่ไม่ใช้งาน
- อยู่กับเด็ก ๆ เสมอ ไม่ควรปล่อยให้คลาดสายตา
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อเด็กถูก ของร้อนลวก
หากเด็กถูก ของร้อนลวก สามารถปฐมพยาบาลได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาดอุณหภูมิปกติ ไม่ควรใช้น้ำแข็งหรือน้ำเย็นราดทันที
- ไม่ควรใช้ยาอื่นทำการปฐมพยาบาลหรือทาไปที่แผลของร้อนลวก เช่น เนย จาระบี ยาหม่อง เพราะอาจเสี่ยงติดเชื้อ
- ใช้ผ้าสะอาดหรือผ้าสำหรับพันแผลพันรอบบริเวณที่ถูก ของร้อนลวก เพื่อบรรเทาความเสี่ยงที่จะติดเชื้อหรืออาการเจ็บปวด
- หากถูกลวกในระดับที่รุนแรง หรือเด็กเจ็บปวดอย่างมาก ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที