backup og meta

ปากพอง ลิ้นพอง เพราะโดนของร้อนลวกปาก บรรเทาอาการได้ยังไงบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 15/12/2023

    ปากพอง ลิ้นพอง เพราะโดนของร้อนลวกปาก บรรเทาอาการได้ยังไงบ้าง

    ใครที่ชอบจิบเครื่องดื่มร้อนๆ ไม่ว่าจะเป็นชา กาแฟ ช็อกโกแลต โกโก้ หรือสายปิ้งย่าง สายชาบูทั้งหลาย ก็คงจะเข้าใจดีว่า เวลาโดนของกินร้อน ๆ ลวกปากลวกลิ้นนั้น มันเจ็บจี๊ดและทรมานแค่ไหน แถมบางครั้งความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นก็อาจทำเรากินอะไรลำบากไปอีกหลายวัน ยิ่งถ้าดูแลรักษาแผลไม่ดี ก็อาจเสี่ยงติดเชื้อได้อีกด้วย แต่คนชอบกินของร้อนทั้งหลายก็ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เพราะ Hello คุณหมอ มีวิธีบรรเทาการ ปากพอง ลิ้นพอง เมื่อโดนของร้อนลวกปากมาให้แล้ว

    วิธีบรรเทาอาการ ปากพอง ลิ้นพอง เพราะของร้อน

    หากอาการปากพอง ลิ้นพองที่เกิดขึ้นนั้นไม่รุนแรงมาก ส่วนใหญ่ก็มักจะหายได้ภายใน 2-3 วัน และคุณก็สามารถบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นได้ ด้วยวิธีต่อไปนี้

    รีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น

    หลังโดนของร้อนลวกปาก ลวกลิ้น ให้คุณรีบกินอะไรเย็นๆ ตามเข้าไปทันที จะเป็นน้ำแข็งก้อนหรือไอศกรีมก็ได้ เพื่อบรรเทาอาการแสบร้อนเพราะโดนลวก พออาการแสบร้อนเริ่มดีขึ้นแล้ว คุณสามารถกินยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาปวดได้ จากนั้นให้ดื่มนมสักแก้ว เพื่อเคลือบปากและลิ้นบริเวณที่พองเอาไว้ ช่วยให้เจ็บน้อยลง

    เมื่อผ่านขั้นตอนของการปฐมพยาบาลเบื้องต้นไปแล้ว คุณก็สามารถดูแลแผลจากการโดนลวกได้ ด้วยวิธีต่อไปนี้

    บ้วนน้ำเกลือ

    การบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ (ผสมเกลือป่น ½ ช้อนโต๊ะ กับน้ำอุ่น 8 ออนซ์ หรือประมาณ 240 มิลลิลิตร) วันละ 3-4 ครั้งจะช่วยลดอาการเจ็บปวดในช่องปาก และช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ในช่วงนี้ คุณควรงดบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งทำให้แผลระคายเคืองและเจ็บมากกว่าเดิม

    รักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี

    การรักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี ด้วยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันที่ปราศจากเครื่องเทศหรือสมุนไพรรสเผ็ดร้อน เช่น มินต์ อบเชย และใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หรือทุกครั้งหลังกินอาหาร จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะเมื่อคุณมีปัญหาปากพอง ลิ้นพอง จนเป็นแผลเปิด หรือแผลพุพอง

    ทาปิโตรเลียมเจลลี่

    ลองทาปิโตรเลียมเจลลี่ที่ริมฝีปากและบริเวณมุมปาก เพื่อช่วยให้ปากชุ่มชื้น ไม่แห้งแตกลอก ก็จะช่วยลดอาการเจ็บได้เช่นกัน

    ทายาปฏิชีวนะ

    หากอาการพองเกิดขึ้นที่บริเวณภายนอกช่องปาก คุณสามารถทาครีมทาแผลเฉพาะภายนอกที่เป็นยาปฏิชีวนะได้ เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อ แต่เน้นว่า ควรใช้เฉพาะภายนอกเท่านั้น ไม่ควรทายาที่แผลในปาก และต้องระวังอย่าให้ยาเข้าปากด้วย

    งดอาหารกรุบกรอบ อาหารรสจัด

    ในช่วงที่กำลังรักษาอาการปากพอง ลิ้นพอง เพราะโดนของร้อน ๆ ลวก คุณควรหลีกเลี่ยงอาหารกรุบกรอบ โดยเฉพาะพวกที่มีขอบแข็ง ๆ แหลม ๆ เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ หนังไก่ทอด และอาหารรสจัด อย่างส้มตำ ยำ ต้มแซ่บ รวมถึงอาหารที่มีความเป็นกรดสูง เช่น มะเขือเทศ น้ำส้ม กาแฟ และควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย เพราะจะยิ่งทำให้อาการที่เป็นแย่ลงได้

    ปากพอง ขั้นนี้ เป็นอันตรายแล้วนะ!

    หากคุณโดนของร้อนลวกปากลวกลิ้น จนมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอทันที

  • หายใจลำบากขึ้น
  • อาจเป็นสัญญาณว่าคุณโดนของร้อนลวกปาก จนฝาปิดกล่องเสียง หรือลิ้นปิดกล่องเสียง (Epiglottis) ซึ่งเป็นกระดูกอ่อนที่ติดอยู่กับโคนลิ้น และมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้อาหารหลุดเข้าไปในหลอดลมขณะที่เรากลืนอาหาร เกิดอักเสบหรือบวมขึ้นมา เมื่อฝาปิดกล่องเสียงบวมอักเสบ ก็อาจอุดหลอดลมได้ โดยเฉพาะในเด็ก

    • มีแผลบริเวณมุมปาก

    อาจนำไปสู่อาการแทรกซ้อนอย่างภาวะปากเล็ก หรืออ้าปากกว้างไม่ได้ (Microstomia) ที่นอกจากจะกระทบกับภาพลักษณ์ ทำให้คุณไม่มั่นใจแล้ว ยังอาจทำให้คุณกินอาหารได้ลำบาก จนขาดสารอาหารได้ด้วย

    • มีสัญญาณของอาการไหม้รุนแรง

    มีสัญญาณของอาการไหม้ เช่น มีรอยขาวเป็นปื้นหรือแผลเปื่อยในปาก มีไข้ มีอาการแสบแดง หรือบวมรุนแรง

    วิธีปฐมพยาบาล เมื่อเด็กโดนของร้อนลวกปาก

    หากเด็กโดนของร้อนลวกปาก ลวกลิ้น จนเป็นแผลไหม้ระดับแรก (First degree burn) คือ ผิวหนังแดง แสบร้อน แต่ไม่มีตุ่มพอง คุณสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้แบบเดียวกับผู้ใหญ่ และหากเด็กรู้สึกเจ็บปวดมาก ก็สามารถให้กินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ได้ ในปริมาณที่เหมาะสม หากเป็นเด็กโตหน่อยก็สามารถทายาที่มีส่วนผสมของเบนโซเคน (Benzocaine) ได้ด้วย

    หลังจากโดนของร้อนลวกปาก 2-3 วัน แผลจะเริ่มลอก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกระบวนการเยียวยาตัวเองของร่างกาย แต่ก็อาจทำให้เด็กรู้สึกเจ็บและรำคาญมากได้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ควรพาเด็กไปเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล อย่าฝืนรักษาต่อเอง ยิ่งหากมีหนองหรือของเหลวแปลกๆ ไหลออกจากแผล หรือเด็กเริ่มมีไข้ ยิ่งต้องรีบพาเด็กไปโรงพยาบาลทันที

    และหากเด็กโดนของร้อนลวก จนถึงขั้นปากและลิ้นเป็นแผลไหม้ระดับสองและสาม คือ ผิวหนังบวม แดง อักเสบ เจ็บรุนแรง มีแผลพุพอง ก็ต้องรีบพาไปรักษาที่โรงพยาบาลทันทีเลยเช่นกัน

    กินของร้อนยังไง ไม่ให้ลวกปากลวกลิ้น

    ทันตแพทย์แนะนำว่า วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันของร้อนลวกปากจนปากพอง ลิ้นพอง ก็คือ ตั้งสติก่อนกิน เวลาจะกินอาหารหรือเครื่องดื่มร้อนๆ โดยเฉพาะแบบที่ร้อนจนควันขึ้น หรือเพิ่งปรุงออกมาจากเตาใหม่ ๆ ก็เป่าก่อนกินสักนิด แล้วค่อย ๆ จิบ หรือชิมคำเล็ก ๆ ก่อน อย่าพรวดพราดกินเข้าไป ปากและลิ้นจะได้ไม่พอง แต่ถ้าเผลอกินของร้อน ๆ จนโดนลวก ปากพอง ลิ้นพองไปแล้ว ก็สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยวิธีที่เรานำมาฝากข้างต้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 15/12/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา