backup og meta

เด็กไม่ค่อยกินข้าว สาเหตุและวิธีแก้ไข

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 22/11/2022

    เด็กไม่ค่อยกินข้าว สาเหตุและวิธีแก้ไข

    เด็กไม่ค่อยกินข้าว อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาการบดเคี้ยว ปัญหาสุขภาพ การกินของว่างบ่อยเกินไป การแพ้อาหาร ซึ่งอาจลดความอยากอาหารของเด็กทำให้เด็กกินข้าวได้น้อยลง ส่งผลทำให้พ่อแม่กังวลใจว่าเด็กอาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เสี่ยงเกิดปัญหาขาดสารอาหาร พัฒนาการทางสมองและร่างกายล่าช้า ซึ่งการส่งเสริมให้เด็กกินอาหารหลากหลายในปริมาณที่มากขึ้นและรู้ถึงความสำคัญของอาหารอาจช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้

    สาเหตุที่ เด็กไม่ค่อยกินข้าว

    เด็กไม่ค่อยกินข้าว อาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ ดังนี้

    ปัญหาทางประสาทสัมผัส (Sensory)

    เด็กไม่ค่อยกินข้าว อาจมีสาเหตุมาจากประสาทสัมผัสการรับรู้รสชาติ สีสัน กลิ่น หรืออาการแพ้อาหารบางชนิด เนื่องจากเด็กบางคนอาจไม่ชอบรสชาติของผัก ไม่ชอบสีและกลิ่นของอาหารบางชนิด หรืออาจมีอาการแพ้อาหาร เช่น แพ้แลคโตส ความไวต่อสัมผัสเหล่านี้อาจแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กรู้สึกไม่อยากกินข้าว

    ปัญหาการรับประทานอาหาร

    เด็กบางคนอาจมีอาการที่ส่งผลกระทบต่อการรับประทานอาหาร เช่น

    • เด็กฟันน้ำนมงอกหรือฟันน้ำนมหลุด
    • เด็กปวดฟัน เจ็บคอ
    • เด็กไอหรือสำลักอาหารบ่อยครั้ง
    • เด็กมีกรดไหลย้อน
    • มีแผลในปากหรือลำคอ

    ปัญหาเหล่านี้อาจทำให้เด็กรู้สึกวิตกกังวลหรือเครียดเมื่อต้องรับประทานอาหาร อาจมีความรู้สึกกลัวความเจ็บปวดเมื่อเคี้ยวอาหาร กลัวการสำลัก ซึ่งอาจทำให้การกินอาหารลำบากขึ้น ความสุขในการกินอาหารลดลง ส่งผลให้ เด็กไม่ค่อยกินข้าว

    การกินอาหารบ่อยเกินไป

    การให้เด็กกินอาหารว่างบ่อยเกินไปอาจทำให้เด็กไม่ค่อยอยากกินข้าวมื้อหลัก เพราะอาจรู้สึกอิ่มจากอาหารว่างในระหว่างวัน นอกจากนี้ การให้เด็กกินอาหารว่างบ่อย ๆ โดยเฉพาะขนมหวาน น้ำอัดลม เค้ก คุกกี้ อาจเพิ่มแนวโน้มการเกิดโรคอ้วนในเด็กได้เช่นกัน

    ความเครียดและความวิตกกังวล

    ความเครียดและความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นภายในบ้านส่งผลให้เกิดอารมณ์เชิงลบ เช่น พ่อแม่ทะเลาะกัน ซึ่งอาจกระทบต่อเด็ก อาจทำให้เด็กรู้สึกเครียดและวิตกกังวลจนเด็กบางคนอาจเกิดความรู้สึกเบื่ออาหารและไม่ค่อยกินข้าวได้

    ปัญหาสุขภาพ

    ปัญหาสุขภาพบางประการอาจส่งผลกระทบต่อความอยากอาหารของเด็กซึ่งอาจทำให้ เด็กไม่ค่อยกินข้าว เช่น

  • หลอดอาหารอักเสบ (Eosinophilic Esophagitis) เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิล (Eosinophil) ทำลายเยื่อบุผิวภายในหลอดอาหาร ซึ่งอาจทำให้มีอาการกลืนลำบาก เจ็บคอ เจ็บหน้าอก จนอาจทำให้เด็กรู้สึกไม่อยากกินข้าว
  • โรคกลัวอาหารหรือโรคโฟเบีย (Phobias) เป็นโรคที่แสดงความหวาดกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างไร้เหตุผลและจะกลัวเฉพาะสิ่งเร้าบางอย่างเท่านั้น อาจมีสาเหตุหลายประการที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว เช่น ความทรงจำไม่ดีเกี่ยวกับอาหารนั้น ๆ คำบอกกล่าวจากพ่อแม่หรือเพื่อน การรณรงค์งดกินอาหารบางชนิดเพื่อต่อต้านโรคอ้วนจากสื่อสิ่งพิมพ์หรือโฆษณาตามโทรทัศน์ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นตัวกระตุ้นความทรงจำทำให้เกิดความหวาดกลัวอาหารในเด็กได้
  • ปัญหาสุขภาพจากการที่ เด็กไม่ค่อยกินข้าว

    เด็กไม่ค่อยกินข้าวอาจเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพหลายประการ เช่น การขาดสารอาหาร พัฒนาการทางสมองและร่างกายล่าช้า เนื่องจากสารอาหารสำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย เป็นพลังงาน ช่วยบำรุงสมอง เสริมสร้างความจำและการเรียนรู้ หากเด็กขาดสารอาหารเป็นเวลานานอาจทำให้เด็กน้ำหนักลดลง รู้สึกเหนื่อยล้าง่าย ร่างกายอ่อนแอ ป่วยง่าย แคระแกร็น ความจำไม่ดี การเรียนรู้อาจช้าลง เป็นต้น พ่อแม่จึงควรส่งเสริมให้รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามินและเกลือแร่ เพื่อพัฒนาการที่แข็งแรงสมวัย

    วิธีทำให้เด็กกินข้าวมากขึ้น

    เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการและสุขภาพร่างกายที่ดี วิธีต่อไปนี้อาจช่วยทำให้เด็กกินข้าวมากขึ้น

  • ควรเป็นแบบอย่างที่ดี เด็กอาจรู้สึกอยากอาหารมากขึ้นเมื่อได้กินข้าวพร้อมกับพ่อแม่และคนในครอบครัว ดังนั้น การกินข้าวพร้อมกันทุกวันและเป็นเวลา เพื่อให้เด็กเห็นถึงความสำคัญของการกินอาหารอาจช่วยให้เด็กกินข้าวได้มากขึ้น
  • เตรียมอาหารว่างที่เหมาะสม จัดอาหารว่างที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนให้กับเด็กเป็นประจำทุกวัน แต่ไม่ควรเกิน 2 มื้อ/วัน และควรเป็นอาหารว่างที่มีประโยชน์ เช่น นม โยเกิร์ต ผลไม้ แซนวิช ไม่มีรสหวานจัด โดยเฉพาะเมื่อเด็กไม่ยอมกินอาหารมื้อหลัก เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการให้เด็กกินขนมหวานหรือขนมขบเคี้ยว เพราะหากกินบ่อย อาจเพิ่มความต้องการของหวานมากขึ้น อาจทำให้เด็กสนใจกินอาหารมื้อหลักน้อยลงและอาจทำให้เด็กมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนได้
  • จัดอาหารให้สวยงาม น่าสนใจ อาจจัดอาหารของเด็กใส่จานสีสันสดใส จัดรูปแบบอาหารให้เป็นตัวการ์ตูนที่เด็กชอบ หรืออาจใส่ผักที่มีสีสันเพื่อเพิ่มความรู้สึกอยากอาหารของเด็กมากขึ้น
  • เตรียมอาหารที่หลากหลายให้เด็ก หากเด็กไม่ชอบกินอาหารบางชนิด ควรเตรียมอาหารแยกต่างหากจากอาหารของคนในบ้าน เพื่อลดการปฏิเสธการรับประทานอาหาร และควรจัดพื้นที่ให้เด็กรับประทานอาหารพร้อมกับครอบครัว เพื่อให้เด็กมีส่วนร่วมบนโต๊ะอาหารมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยเพิ่มความอยากอาหารได้
  • อาจให้เด็กช่วยทำอาหาร เพื่อส่งเสริมให้เด็กอยากกินอาหารมากขึ้น พ่อแม่อาจให้เด็กช่วยเลือกวัตถุดิบ ล้างผักหรือช่วยลงมือทำอาหาร ซึ่งอาจทำให้เด็กรู้สึกภูมิใจในตัวเองและอาจเพิ่มความอยากอาหารได้ หรือให้เด็ก ๆ ช่วยเลือกเมนูและทำตามที่เด็ก ๆ ร้องขอ
  • หลีกเลี่ยงการบังคับให้เด็กกินข้าว หากเด็กไม่ยอมกินข้าว ไม่ชอบกินผัก หรือกินข้าวไม่หมด ไม่ควรบังคับให้เด็กกินเพราะอาจทำให้เด็กเครียด อึดอัด และวิตกกังวลได้ หากเด็กรู้สึกอิ่มหรือไม่อยากกินแล้วควรปล่อยให้ไปทำกิจกรรมอย่างอื่น เมื่อเด็กรู้สึกหิวอีกครั้งผู้ปกครองสามารถให้เด็กกินอาหารเพิ่มได้อีก
  • หลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนระหว่างกินอาหาร ในระหว่างกินอาหารพ่อแม่ควรเก็บสิ่งรบกวนต่าง ๆ เช่น วิดีโอเกม ของเล่น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ ที่อาจดึงดูดความสนใจเด็กจนทำให้กินข้าวได้น้อยลง ควรสอนให้เด็กจดจ่อในการกินอาหาร หรืออาจสื่อสารกับเด็กว่า หากเด็กกินอาหารหมดแล้วถึงจะได้ดูโทรทัศน์ หรือเล่นโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ปัจจุบันยังมีหลายบ้านที่มักจะเปิดวิดีโอไปในขณะที่เด็ก ๆ กินข้าว
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 22/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา