backup og meta

ลูกนอนยาก เกิดจากอะไร แก้ไขได้อย่างไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 15/08/2023

    ลูกนอนยาก เกิดจากอะไร แก้ไขได้อย่างไรบ้าง

    ลูกนอนยาก เป็นภาวะที่พบได้บ่อยและสามารถพบได้ในเด็กในทุกช่วงวัย ซึ่งอาจสร้างความกังวลให้กับคุณพ่อคุณแม่ เพราะนอกจากจะกระทบกับเวลาพักผ่อนของคุณพ่อคุณแม่แล้ว ยังอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการและสุขภาพของลูกที่อยู่ในวัยเจริญเติบโต

    ลูกนอนยากสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ยังเล็กเกินไปและยังนอนไม่เป็นเวลา เหนื่อยเกินไป ยังไม่ชินกับการนอนคนเดียว โดยวิธีแก้ไขปัญหาอาจแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจธรรมชาติของลูกในแต่ละวัย หาสาเหตุที่ลูกนอนยาก และหาวิธีช่วยให้ลูกนอนหลับได้ง่ายขึ้น

    เวลานอนที่เหมาะสมของเด็กแต่ละช่วงวัย

    • ทารกแรกเกิด-2 เดือน ต้องการเวลานอนประมาณ 14-15 ชั่วโมง/วัน ในวัยนี้ทารกยังไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน และยังต้องกินนมทุก ๆ 2 ชั่วโมง ทำให้ตื่นและนอนหลับไม่เป็นเวลา
    • ทารก 3 เดือน-6 เดือน ต้องการเวลานอนประมาณ 14-15 ชั่วโมง/วัน รูปแบบการนอนหลับจะเหมือนของผู้ใหญ่มากขึ้น สามารถนอนติดต่อกันในเวลากลางคืนได้ประมาณ 6 ชั่วโมง อาจนอนกลางวันประมาณ 2-3 ครั้ง
    • ทารก 6 เดือน-1 ขวบ ต้องการเวลานอนประมาณ 14-15 ชั่วโมง/วัน ทารกในวัยนี้สามารถจำเวลานอนของตัวเองได้แล้วและสามารถนอนติดต่อกันในตอนกลางคืนได้นานมากกว่า 6 ชั่วโมง แต่สำหรับบางคน อาจนอนไม่ถึง 6 ชั่วโมง ซึ่งยังถือว่าเป็นเรื่องปกติ

    มีงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Pediatrics พ.ศ. 2561 ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการนอนหลับของทารกวัย 6 เดือนจำนวน 388 คน และวัย 1 ขวบจำนวน 369 คน พบว่า ทารกในช่วง 6 เดือนแรกจำนวน 38% นอนหลับติดต่อกันไม่ถึง 6 ชั่วโมงในตอนกลางคืน และเด็กอายุ 1 ปี ประมาณ 28% ไม่สามารถนอนติดต่อกันได้ 6 ชั่วโมงตลอดทั้งคืน

    • เด็ก 1-3 ขวบ ต้องการเวลานอนประมาณ 12-14 ชั่วโมง/วัน นอนกลางวันน้อยลง มีโอกาสที่ไม่นอนกลางวันบ่อย อาจจะเหลือเพียง 1 ครั้ง/วัน
    • เด็กวัย 36 ขวบ ต้องการเวลานอนประมาณ 10-12 ชั่วโมง/วัน นอนกลางวันน้อยลงและใช้เวลาสั้นลง
    • เด็กวัย 7 12 ขวบ ต้องการเวลานอนประมาณ 10-11 ชั่วโมง/วัน เด็กในวัยเรียนต้องใช้เวลาและพลังงานในการเรียนและเข้าสังคมตลอดทั้งวัน ซึ่งอาจทำให้นอนดึก หากตื่นตอน 7.30 น. ก็ไม่ควรเข้านอนเกิน 21.30 น.

    สาเหตุที่ทำให้ลูกนอนยาก

    ลูกนอนยาก ลูกตื่นกลางดึก อาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้

    • ลูกมีอายุน้อยเกินไป ในช่วงแรกเกิด โดยเฉพาะ 2 เดือนแรก แม้ทารกต้องการนอนมากถึง 14-15 ชั่วโมงก็จริง แต่ยังไม่สามารถหลับติดต่อกันตลอดคืนได้ทันที เนื่องจากยังเด็กเกินไป ยังไม่สามารถแยกระหว่างกลางวันและกลางคืนได้ และมีช่วงที่ตื่นมาเพื่อกินนมแม่ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง
    • มีเวลางีบระหว่างวันไม่เพียงพอ เนื่องจากเด็กในวัยกำลังโตจำเป็นต้องนอนกลางวันเพื่อให้ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ หากลูกไม่ได้งีบระหว่างวันเลย อาจส่งผลให้เกิดความอ่อนล้ามากเกินไปจนทำให้ลูกเข้านอนยากในตอนกลางคืน
    • ไม่มีแผนประจำวันสำหรับลูก การไม่ได้วางแผนหรือจัดเวลาในการทำกิจวัตรประจำวันให้กับลูก อาจทำให้ใช้เวลาไปกับกิจกรรมต่าง ๆ นานเกินไป ซึ่งทารกและเด็กก่อนวัยเรียนต้องการเวลานอนมากถึง 11-15 ชั่วโมง หากจัดการเวลาได้ไม่ดีอาจทำให้ลูกเหนื่อยเกินไป และส่งผลให้นอนยากในตอนกลางคืน
    • ลูกฝันร้าย หากลูกเคยฝันร้ายมาก่อน อาจทำให้ลูกไม่กล้าหลับในตอนกลางคืน ซึ่งบางครั้งความฝันก็อาจเกิดจากการนอนหลับไม่เพียงพอ หรือนอนไม่เป็นเวลา จึงทำให้ลูกนอนยากมากขึ้น
    • การใช้ยารักษาโรคที่ส่งผลต่อการนอน ยาบางชนิดอาจจะเป็นสาเหตุที่ลูกนอนยาก ดังนั้นหากลูกนอนยากเกิดจากยาที่ใช้ อาจปรึกษาคุณหมอเพื่อหาวิธีแก้ไขต่อไป
    • มีโรคที่ทำให้ไม่สามารถหลับได้ตามปกติ หากลูกมีโรคประจำตัว เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด ซึ่งทำให้หายใจได้ไม่สะดวก มีอาการไอ บางครั้งรุนแรงจนไม่สามารถนอนหลับได้ อาจทำให้ลูกนอนยากและไม่อยากเข้านอนในที่สุด
    • ลูกมีความกังวลจนนอนไม่หลับ ลูกอาจมีเรื่องกังวลที่ทำให้นอนหลับได้ไม่ปกติ เช่น ไม่คุ้นชินเมื่อต้องนอนแยกกับคุณพ่อคุณแม่ หรือเครียดเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน
    • ไม่รู้ว่าเวลานอนคือเมื่อไหร่ การไม่มีกิจกรรมเตรียมตัวก่อนเข้านอน เช่น คุณพ่อคุณแม่เล่านิทานให้ฟังก่อนนอน การพูดคุยกันก่อนนอนอาจทำให้ลูกไม่รู้ว่าควรนอนตอนไหน ส่งผลให้ลูกนอนยาก ลูกตื่นกลางดึก
    • ลูกนอนกรน การกรนในเด็กอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาสุขภาพ ความเหนื่อยล้าสะสม ซึ่งส่งผลให้ลูกนอนยาก หากพบว่าการกรนส่งผลต่อการนอนหลับอย่างรุนแรง ควรปรึกษาคุณหมอ
    • ผลกระทบจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การใช้เวลาดูโทรทัศน์ เล่นวิดีโอเกม หรือการใช้โทรศัพท์มือถือภายในห้องนอนที่เป็นพื้นที่พักผ่อน อาจกระทบพฤติกรรมการนอนของลูกและทำให้ลูกนอนยากในตอนกลางคืน

    วิธีที่ช่วยให้ลูกหลับได้ง่ายขึ้น

    ลูกนอนยาก อาจสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการเหล่านี้

    ทารกแรกเกิด2 เดือน

    • สร้างบรรยากาศที่ดีก่อนเข้านอน เลือกห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวก ปรับแสงไฟให้สลัว เพื่อให้เหมาะกับการพักผ่อน ช่วยทำให้ลูกหลับได้ง่ายยิ่งขึ้น
    • พาเข้านอนในตอนที่ยังหลับไม่สนิท ทำให้ลูกคุ้นเคยกับการค่อย ๆ นอนหลับไปบนเตียงซึ่งเป็นพื้นที่พักผ่อนตลอดทั้งคืน ไม่ควรปล่อยให้ลูกหลับก่อนถึงเตียงเพราะอาจกลายเป็นนิสัยที่แก้ยาก

    ทารก 3 เดือน6 เดือน

    • ใช้จุกนมช่วย จุกนมอาจช่วยให้ทารกรู้สึกผ่อนคลายและหลับง่ายขึ้น ทั้งยังช่วยป้องกันการดูดนิ้ว
    • ใช้น้ำอุ่นในการอาบน้ำให้ลูก เด็กเล็กไม่จำเป็นต้องอาบน้ำทุกวัน การอาบน้ำอุ่นให้ลูกสัปดาห์ละ 3 วัน จะทำให้ลูกสบายตัวและผิวไม่แห้งจนเกินไป น้ำอุ่นช่วยให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นและช่วยให้ลูกหลับสบาย

    ทารก 6 เดือน1 ขวบ

    • ใช้เวลาก่อนเข้านอนกับลูก บางครั้งลูกอาจร้องไห้หรือแสดงอาการว่าไม่ต้องการนอนเมื่อถึงเวลาที่ต้องพักผ่อนในยามกลางคืน การมีผู้ใหญ่คอยกล่อมนอนอยู่ด้วยอาจช่วยให้ลูกหลับง่ายขึ้น

    เด็ก 13 ขวบ

  • สร้างวินัยการนอนที่ดีให้กับลูกน้อย ด้วยการกำหนดเวลาในการเข้านอนของลูกให้เป็นเหมือนเดิมในทุกวัน มีลำดับการทำกิจกรรมก่อนเข้านอนให้ลูกเพื่อให้เกิดความคุ้นชินกับกิจกรรมเหล่านี้ว่าเป็นสิ่งที่จะทำก่อนเข้านอน เช่น เล่านิทานให้ลูกฟัง
  • เด็กวัย 36 ขวบ

    • วางแผนการใช้เวลาของลูกในระหว่างวันอย่างเหมาะสม ทำกิจกรรมที่สนุกและตื่นเต้นในตอนกลางวัน และเลือกกิจกรรมที่สงบหรือไม่ใช้แรงมากในช่วงใกล้เข้านอน

    เด็กวัย 7-12 ขวบ

    • หลีกเลี่ยงการให้ลูกออกกำลังกายก่อนเข้านอน การออกกำลังกายเรียกเหงื่อในช่วงใกล้เวลานอน อาจเพิ่มอุณหภูมิของร่างกาย เร่งจังหวะการเต้นของหัวใจ ทำให้ลูกตื่นเต้น เลือดสูบฉีด ทำให้ลูกนอนยาก จึงควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้ตื่นเต้น หรือวิ่งเล่นในตอนกลางคืน
    • กำหนดให้เตียงเป็นพื้นที่ของการพักผ่อนเท่านั้น ควรให้ลูกทำกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่อื่นของบ้านหรือห้องนอน หลีกเลี่ยงการใช้เตียงทำการบ้าน รับประทานอาหาร เล่นโทรศัพท์ หรือดูโทรทัศน์ เพื่อให้ร่างกายของลูกคุ้นชินว่าเตียงมีไว้สำหรับนอนเท่านั้น
    • พูดคุยกับลูกด้วยเหตุผลและความเข้าใจ หากลูกไม่อยากเข้านอนเนื่องจากความเครียด ความกังวลเรื่องเรียน หรือเรื่องเพื่อนที่โรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ควรใช้ความเข้าใจและพูดคุยกับลูกถึงปัญหาที่เกิดขึ้น การเปิดใจพูดคุยกันจะช่วยให้ลูกบอกความต้องการที่มี ซึ่งอาจจะช่วยลดปัญหาการนอนยากของลูกได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 15/08/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา