backup og meta

ลูกหายใจครืดคราด เกิดจากอะไร ควรรักษาอย่างไร

ลูกหายใจครืดคราด เกิดจากอะไร ควรรักษาอย่างไร

ลูกหายใจครืดคราด อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อในทางเดินหายใจ ความผิดปกติของกล่องเสียง การอุดตันในทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้ทางเดินหายใจตีบแคบลงจนเกิดเป็นเสียงครืดคราดเมื่อหายใจ ดังนั้น การรู้ถึงสาเหตุหลักของอาการจึงเป็นวิธีที่จะสามารถช่วยรักษาอาการลูกหายใจครืดคราดได้

[embed-health-tool-vaccination-tool]

ลูกหายใจครืดคราด เกิดจากอะไร

ลูกหายใจครืดคราด เป็นอาการทั่วไปที่มักเกิดขึ้นในเด็กที่มีความเจ็บป่วยเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจที่ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลง ส่งผลให้ลูกหายใจลำบาก หายใจมีเสียงครืดคราด ไอ จาม หรืออาจรุนแรงถึงขั้นหยุดหายใจ โดยสาเหตุที่ทำให้ลูกหายใจครืดคราดที่พบได้บ่อย อาจมีดังนี้

  • การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนจากไวรัสหรือแบคทีเรีย เช่น โรคหวัด หลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis) ไอกรน โรคปอดบวม โรคภูมิแพ้
  • กล่องเสียงอักเสบ ที่เกิดจากเนื้อเยื่อในกล่องเสียงกีดขวางทางเดินหายใจบางส่วน
  • ทางเดินหายใจผิดรูป ซึ่งอาจเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิดหรืออาจเกิดขึ้นหลังจากการเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บที่ทางเดินหายใจ
  • การอุดตันที่ผิดปกติในทางเดินหายใจ เนื่องจากมีแผลเป็นในทางเดินหายใจที่อาจบวมหรือโต
  • อาการกล้ามเนื้อในทางเดินหายใจตีบแคบ หดตัว ที่เกิดจากโรคหอบหืดหรือสิ่งระคายเคืองในแวดล้อม เช่น ฝุ่น ควัน ควันบุหรี่
  • กล่องเสียงเป็นอัมพาตตั้งแต่แรกเกิดหรือพัฒนาในภายหลัง
  • การสำลักอาหารหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในทางเดินหายใจ ทำให้ลูกมีอาการไออย่างกะทันหัน
  • โรคประจำตัวที่พบไม่บ่อย เช่น โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis หรือ CF) ซึ่งส่งผลต่อปอดหรือทางเดินหายใจ
  • ภาวะทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น โรคปอดเรื้อรังในทารกแรกเกิด (Bronchopulmonary Dysplasia หรือ BPD) ซึ่งพบได้บ่อยในทารกที่คลอดก่อนกำหนด

เมื่อไหร่ควรเข้าพบคุณหมอ

หากอาการหายใจครืดคราดมีความรุนแรงมากขึ้น อาจทำให้ลูกหยุดหายใจขณะนอนหลับได้ นอกจากนี้ หากลูกมีอาการต่อไปนี้ควรพาเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา

  • ไอและหายใจครืดคราดรุนแรงขึ้น
  • หายใจลำบาก
  • หายใจเร็วและไม่สม่ำเสมอ
  • หายใจมีเสียงดังมาก โดยเฉพาะเมื่อร้องไห้
  • ผิวสีซีดหรือตัวม่วง
  • อ่อนแรง เหนื่อยล้า และมีไข้
  • ไม่รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ
  • ไอหรือสำลักอย่างกะทันหัน

คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตภายในจมูกของลูกด้วยว่ามีสิ่งแปลกปลอมอุดตันอยู่หรือไม่ เพราะอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกหายใจครืดคราด หายใจลำบาก เลือดกำเดาไหล หรือเจ็บปวดรอบจมูก ดังนั้น หากพบว่ามีสิ่งแปลกปลอมอุดตันอยู่ภายในจมูกของลูก ควรเข้าพบคุณหมอทันที เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทางเดินหายใจ

การรักษาอาการลูกหายใจครืดคราด

การรักษาลูกหายใจครืดคราดอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการ ดังนี้

  • หากสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อเล็กน้อย คุณหมออาจแนะนำวิธีการรักษาที่บ้าน ด้วยการให้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานยาพาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาแก้แพ้ลดน้ำมูก หรือยาลดอาการบวมของเยื่อบุจมูก นอกจากนี้ คุณหมออาจพิจารณาจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยกำจัดการติดเชื้อหากเกิดจากแบคทีเรีย
  • หากอาการรุนแรงมากและลูกมีปัญหาในการหายใจ อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในบางกรณีคุณหมออาจจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะผ่านหลอดเลือดดำ ให้ออกซิเจนผ่านทางจมูกหรือใส่เครื่องช่วยหายใจเพื่อให้ลูกได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ อาจให้ยาสูดพ่นเพื่อรักษาอาการหายใจครืดคราดร่วมด้วย
  • หากอาการหายใจครืดคราดยังคงอยู่และไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาสูดพ่นระยะหนึ่งร่วมกับกำจัดเสมหะด้วยการดูด เพื่อดูว่าอาการจะดีขึ้นหรือไม่ หากอาการดีขึ้นร่วมกับมีประวัติและอาการที่เข้าได้กับโรคหอบหืดจะเริ่มกระบวนการรักษาตามขั้นตอนของโรค นอกจากนี้ คุณหมออาจแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับตัวกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการ เช่น ขนสัตว์ ไรฝุ่น เกสรดอกไม้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Wheezing in babies. https://www.babycentre.co.uk/a557941/wheezing-in-babies. Accessed December 2, 2022

Coughing and wheezing in children. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/coughing-and-wheezing-in-children. Accessed December 2, 2022

Noisy Breathing in Kids. https://www.nationwidechildrens.org/family-resources-education/700childrens/2015/07/noisy-breathing-in-kids. Accessed December 2, 2022

Stridor Versus Wheezing: When Noisy Breathing Is Something More. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/stridor-versus-wheezing. Accessed December 2, 2022

Symptoms of Wheezing in Babies. https://www.childrensrespiratorydoctor.co.uk/wheezing.php. Accessed December 2, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/01/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ลูกเป็นไข้ คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลอย่างไร

เด็กท้องผูก เกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา