ภาวะลิ้นติดในทารก หรือ Tongue Tie คือ ภาวะที่เกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิด โดยภาวะนี้จะทำให้ทารกไม่สามารถเคลื่อนไหวลิ้นได้เต็มที่ เนื่องจากการยึดตัวของพังผืดใต้ลิ้นที่มากเกินไป ส่งผลให้ทารกดูดนมแม่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร และมีแนวโน้มที่ทารกจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ น้ำหนักตัวน้อย ตัวเหลือง และอาจมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้
[embed-health-tool-baby-poop-tool]
คำจำกัดความ
Tongue Tie คืออะไร
Tongue Tie คือ ภาวะลิ้นติดในทารก โดยลิ้นจะมีลักษณะสั้น หนา และพังผืดใต้ลิ้นอาจยึดบริเวณพื้นปากกับปลายลิ้นมากเกินไป ส่งผลให้ทารกไม่สามารถเคลื่อนไหวลิ้นได้เต็มที่ ซึ่งภาวะนี้อาจส่งผลต่อการดูดนมของทารก การกินอาหาร การพูด และการกลืนของเด็ก
อาการ
อาการ Tongue Tie
อาการของภาวะลิ้นติดในทารก อาจมีดังนี้
- ทารกจะขยับลิ้นขึ้นด้านบน หรือขยับลิ้นไปด้านข้างลำบาก
- ทารกอาจมีปัญหาในการแลบลิ้น
- เมื่อทารกแลบลิ้น ลิ้นอาจมีลักษณะหยักหรือคล้ายรูปหัวใจ
อาการที่เกี่ยวข้องกับภาวะลิ้นติดในทารก ดังนี้
- ทารกอาจเคี้ยวหัวนมมากกว่าดูดนม
- ทารกน้ำหนักไม่เพิ่มขึ้น
- ทารกอาจต้องใช้เวลากินนมนาน และต้องป้อนนมหลายครั้ง
- ทารกหิวง่าย และร้องไห้งอแงบ่อย
- อาจมีเสียงจากปากทารกขณะป้อนนม
หากอาการลิ้นติดในทารกส่งผลกระทบต่อการดูดนม การกินอาหารหรือการออกเสียง ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา
สาเหตุ
สาเหตุของ Tongue Tie
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะลิ้นติดในทารก อาจเป็นไปได้ว่าภาวะลิ้นติดในทารกเกิดขึ้นจากปัจจัยทางพันธุกรรมหรือจากปัญหาในขั้นตอนการสร้างหรือพัฒนาอวัยวะ
ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะลิ้นติดในทารกอาจส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในอนาคต เช่น
- ปัญหาการดูดนม ลิ้นเป็นส่วนประกอบสำคัญในการดูดนม ทารกที่มีภาวะลิ้นติดจะไม่สามารถใช้ลิ้นในการดูดนมได้สะดวกและทารกอาจเคี้ยวมากกว่าดูด ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บปวดหัวนม นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่ทารกจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก
- ปัญหาการพูด ภาวะลิ้นติดอาจทำให้เด็กมีปัญหาในการออกเสียง หรือส่งผลกระทบต่อการพูดคำบางคำได้
- ปัญหาการเคี้ยวและการกลืน ลิ้นเป็นตัวช่วยในการบดเคี้ยวอาหารและการกลืน ดังนั้น เด็กที่มีภาวะลิ้นติดอาจทำให้การเคี้ยวและการกลืนเป็นไปได้ด้วยความลำบาก
- ปัญหาสุขภาพช่องปาก ภาวะลิ้นติดอาจทำให้ความสามารถในการกวาดเศษอาหารออกจากซอกฟันยากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปสู่ปัญหาฟันผุและเหงือกอักเสบ นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ฟันหน้าล่าง 2 ซี่ห่างออกจากกันได้ด้วย
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัย Tongue Tie
คุณหมอสามารถวินิจฉัยภาวะลิ้นติดในทารกได้ตั้งแต่แรกเกิด ด้วยการตรวจร่างกายเพื่อประเมินลักษณะและการเคลื่อนไหวของลิ้น แต่ในบางกรณีหากลิ้นติดไม่มากหรือประเมินความรุนแรงจากการตรวจร่างกายหลังคลอดได้ยากจะต้องอาศัยการสังเกตของคุณพ่อคุณแม่ในภายหลัง
การรักษา Tongue Tie
ทารกที่มีปัญหาลิ้นติดมากจนไปถึงปลายลิ้นสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด โดยปัจจุบันคุณหมออาจเลือกวิธีการให้ยาชาเฉพาะที่กับทารกแทนการดมยาสลบ จากนั้นจะทำการผ่าตัดเพื่อตกแต่งพังผืดใต้ลิ้นให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อให้ทารกสามารถเคลื่อนไหวลิ้นได้ดีมากขึ้น และหลังจากผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยทารกสามารถกลับบ้านได้ทันทีโดยไม่ต้องพักฟื้น
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับ Tongue Tie
หลังการผ่าตัดพังผืดใต้ลิ้นคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลทารก ดังนี้
- คุณแม่สามารถให้ทารกดูดนมได้ทันที โดยควรทำความสะอาดหัวนมก่อนให้ทารกดูด
- สังเกตอาการผิดปกติของทารก เช่น เลือดออก มีไข้ ติดเชื้อ ลิ้นหรือต่อมสร้างน้ำลายเสียหาย หากพบอาการดังกล่าวควรเข้าพบคุณหมอทันที
- สังเกตพฤติกรรมการดูดนมของทารก หากทารกดูดนมได้ดี ไม่กัดหัวนม แลบลิ้นได้ตามปกติ แสดงว่าอาการของทารกเป็นปกติดี
- หากคุณหมอนัดหมายดูอาการ ควรเข้าพบคุณหมอตามนัดหมายเสมอ