ลูกร้องไห้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นบ่อยกับทารก เนื่องจากลูกน้อยยังไม่สามารถสื่อสารแสดงความต้องการหรือความรู้สึก เช่น หิว ไม่สบายตัว มีไข้ ออกมาเป็นคำพูดได้ จึงแสดงออกมาเป็นการร้องไห้แทนแต่หากสังเกตว่า ลูกร้องไม่หยุด และร้องเป็นเวลานาน หรือที่เรียกว่าอาการโคลิค แต่มักจะเกิดในเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาถึงวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการเบื้องต้น หรือขอคำแนะนำจากคุณหมอเพิ่มเติม
[embed-health-tool-vaccination-tool]
ลูกร้องไม่หยุด เกิดจากอะไร
การที่ทารกร้องไห้ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นการส่งสัญญาณบอกคุณแม่เมื่อรู้สึกหิว ปวดท้อง เจ็บป่วย ไม่สบายตัวจากผ้าอ้อมเปียกชื้น ทารกมักร้องไห้ 2-3 ชั่วโมง/วัน สำหรับทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน อาจจะร้องไห้บ่อยช่วงบ่ายและหัวค่ำ และจะค่อย ๆ เลิกร้องไห้บ่อยได้เองเมื่อเติบโตขึ้น
แต่หากทารกมีอาการร้องไห้ไม่หยุด ร้องไห้โดยไม่ทราบสาเหตุ และร้องไห้อย่างหนักบ่อยครั้ง หรือที่เรียกว่าอาการโคลิค อาจเกิดจากปัจจัยหลายประการ ดังต่อไปนี้
- มีแก๊สในกระเพาะอาหารมากเกินไป ทารกอาจสูดหายใจรับอากาศลงช่องท้องมากเกินไประหว่างการกินนมหรือการร้องไห้ ทำให้มีแก๊สในกระเพาะอาหารมากเกินไป และอาจทำให้ทารกรู้สึกจุดเสียด ปวดท้อง จนร้องไห้ไม่หยุด
- แพ้โปรตีนในนม หรือแพ้สารอาหารบางอย่างที่อยู่ในนมแม่ เช่น ไข่ ถั่ว ข้าวสาลี อาจทำให้ทารกมีอาการไม่สบายท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย เพื่อบรรเทาอาการแพ้นมควรให้ทารกเปลี่ยนมากินนมสูตรโมเลกุลเล็ก ย่อยง่ายเป็นเวลา 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ คุณแม่ที่ให้นมลูกควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้
- อยู่ในช่วงปรับตัวกับโลกภายนอก เนื่องจากทารกแรกเกิดอาจยังไม่คุ้นเคยกับเสียง แสง และสิ่งแวดล้อมภายนอกครรภ์มารดา ทำให้เมื่อถูกกระตุ้นด้วยเสียงดังและแสงจ้า จึงอาจแสดงอาการร้องไห้ออกมาไม่หยุด
- ควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดี เพราะระบบประสาทของทารกแรกเกิดอาจยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้อาจควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดี ส่งผลให้มีอาการร้องไห้ไม่หยุด ร้องไห้นาน อย่างไรก็ตาม อาการนี้อาจดีขึ้นเมื่อทารกเติบโตขึ้น
วิธีทำให้ลูกน้อยหยุดร้องไห้
เมื่อมีปัญหา ลูกร้องไม่หยุด คุณพ่อคุณแม่อาจทำให้ลูกหยุดร้องไห้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ห่อตัวทารกด้วยผ้าอ้อมหรือผ้าห่มบาง ๆ และโอบกอดหรืออุ้มทารก เพื่อให้ทารกรู้สึกปลอดภัย โดยควรเว้นช่วงศีรษะเพื่อป้องกันไม่ให้ทารกหายใจไม่ออก
- อุ้มลูกน้อยหรือใส่รถเข็นเด็กพาออกเดินเล่นนอกบ้าน
- อุ้มทารกนอนในเปลและแกว่งอย่างช้า ๆ
- หากผ้าอ้อมเปียกชื้น ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ทารก เพราะอาจทำให้ทารกไม่สบายตัว
- อาบน้ำอุ่นให้ทารก เพื่อเพิ่มความผ่อนคลาย และอาจนวดเบา ๆ ตามลำตัว หน้าท้อง และหลัง
- ให้ทารกดูดจุกนมหลอกหรือให้กินนมแม่เมื่อร้องไห้ เพราะทารกอาจจะกำลังหิวอยู่
- ลดการกระตุ้นอารมณ์ของทารกด้วยการหรี่ไฟ ปิดไฟ และเบาเสียง
- ปรับตำแหน่งการนอนของทารก ควรให้ทารกนอนหงาย เพื่อให้ทารกหายใจได้สะดวก นอนหลับสบาย และไม่ควรให้นอนคว่ำเพราะอาจทำให้ทารกหายใจลำบาก เสี่ยงเสียชีวิตกะทันหัน
- เบี่ยงเบนความสนใจด้วยการเปิดเสียงเพลง ร้องเพลง ชี้ให้ดูของเล่นที่มีรูปร่างและสีสันสะดุดตา
- สื่อสารและเล่นกับทารก เช่น ผิวปาก ทำหน้าตลก เล่นจ๊ะเอ๋กับทารก ทำเสียงตลก เต้นให้ทารกดู โอบกอดทารก หอมแก้ม จูบเบา ๆ ที่มือและแขน หรือเป่าท้องเบา ๆ
เมื่อไหร่ควรพาทารกไปพบคุณหมอ
หากทารกยังคงร้องไห้ไม่หยุดแม้ว่าจะพยายามปลอบแล้ว อาจเป็นไปได้ว่าทารกกำลังเจ็บป่วย ไม่สบาย ซึ่งควรพาเข้าพบคุณหมอทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและทำการรักษาอย่างรวดเร็ว โดยคุณหมออาจตรวจร่างกายโดยการวัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนัก วัดเส้นรอบวงศีรษะของทารก และประเมินปฏิกิริยาที่ไวต่อการสัมผัส พร้อมมองหาสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเจ็บป่วย เช่น ผื่น ภูมิแพ้ การติดเชื้อ การมีไข้ แต่หากยังไม่ทราบผลลัพธ์ที่ชัดเจน คุณหมออาจตรวจด้วยการเอกซเรย์เพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของเด็กด้วย