การ ล้างจมูกทารก เป็นวิธีที่ช่วยให้ทารกที่มีอาการคัดจมูกหรือจมูกตันจากไข้หวัดสามารถหายใจได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะในช่วงให้นมและขณะนอนหลับ วิธีล้างจมูกทารกอย่างปลอดภัย โดยทั่วไปสามารถทำได้ด้วยการใช้หลอดหยด (Dropper) ดูดน้ำเกลือ จากนั้นค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือเข้าไปในรูจมูกของทารก เมื่อจมูกชุ่มชื้นเพียงพอจึงสอดปลายลูกยางแดงขนาดเล็กเข้าไปในรูจมูกแล้วดูดน้ำมูกออกมา ทั้งนี้ ควรล้างมือให้สะอาดก่อนล้างจมูกทารกเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และหลังล้างจมูกทารกทุกครั้ง ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ล้างจมูก ตากให้แห้ง แล้วเก็บไว้ในภาชนะสะอาด
[embed-health-tool-vaccination-tool]
ล้างจมูกทารก ช่วยเรื่องอะไร
บางครั้งเมื่อทารกเป็นหวัด มีไข้ หรือไม่สบายจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ อาจทำให้มีน้ำมูกหรือคราบมูกเหนียวค้างอยู่ในจมูกจนคัดจมูก หายใจไม่สะดวก และส่งผลให้ทารกงอแงในตอนกลางคืนหรือนอนไม่หลับ และหากป่วยนานเกินสัปดาห์หรือภูมิแพ้กำเริบบ่อย ๆ อาจทำให้เกิดโรคไซนัสอักเสบในทารก (Sinusitis) เนื่องจากเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ เพราะมีของเหลวคั่งค้างอยู่ภายในโพรงไซนัสเรื้อรัง ทำให้มีอาการคัดจมูก มีน้ำมูกสีเขียวหรือสีเหลือง จมูกไม่รับกลิ่น ไอแบบมีเสมหะ เป็นต้น การล้างจมูกทารกด้วยน้ำเกลือจึงอาจช่วยกำจัดน้ำมูกที่เหนียวข้นหรือแห้งกรังออกจากช่องจมูก ช่วยให้ทารกหายใจได้สะดวกขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจล้างจมูกให้ทารกก่อนให้นมและก่อนนอนประมาณ 15 นาที เพื่อช่วยให้ทารกหายใจได้สะดวกขณะกินนม และสามารถหลับสนิทได้ในช่วงงีบระหว่างวันและตอนกลางคืน
ล้างจมูกทารกอันตรายไหม
การล้างจมูกทารก คือ การทำความสะอาดช่องจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อขจัดมูกเหนียว คราบมูกที่แห้งกรัง หรือหนองบริเวณโพรงจมูก ซึ่งจะช่วยให้ทารกหายใจได้สะดวกขึ้น หากล้างจมูกอย่างถูกวิธีจะไม่ทำให้ทารกสำลักหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นคนล้างจมูกให้ทารกควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่และหลีกเลี่ยงการสัมผัสวัตถุอื่น ๆ ก่อนล้างจมูกให้ทารก เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะติดเชื้อระหว่างล้างจมูก
วิธีล้างจมูกทารกอย่างปลอดภัย
วิธีล้างจมูกทารกอย่างปลอดภัยด้วยอุปกรณ์ล้างจมูก อาจทำได้ดังนี้
การล้างจมูกด้วยหลอดหยด
หลอดหยดเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะสำหรับการล้างจมูกเด็กที่ยังเล็กมาก โดยเฉพาะทารก วิธีนี้จะช่วยให้ช่องจมูกของเด็กชุ่มชื้นขึ้นและลดคราบมูกที่แห้งกรังภายในโพรงจมูก และช่วยให้เด็กคุ้นชินกับกับการล้างจมูกด้วยอุปกรณ์อื่น ๆ ต่อไปเมื่อโตขึ้น เช่น กระบอกฉีดยาหรือไซริงค์ อย่างไรก็ตาม การล้างจมูกด้วยหลอดหยดอาจไม่เหมาะกับทารกที่น้ำมูกไหลหรือคัดจมูกรุนแรง
- ล้างมือด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาด จากนั้นเช็ดมือให้แห้ง
- เทน้ำเกลือลงในชามขนาดเล็ก ใช้หลอดหยดดูดน้ำเกลือขึ้นมา
- ค่อย ๆ หยดน้ำเกลือประมาณ 3-4 หยดลงไปในรูจมูกแต่ละข้างเพื่อคลายเมือกหรือมูกเหนียวภายในจมูก
- ให้ทารกนอนยกศีรษะยกสูงพอสมควร เพื่อให้น้ำเกลือไหลเข้าไปในช่องจมูกได้สะดวก จากนั้นให้เด็กค้างอยู่ในท่าเดิมประมาณ 1 นาทีเพื่อให้เวลาน้ำเกลือในการละลายเมือก
- บีบลูกยางแดงค้างเอาไว้แล้วสอดเข้าไปในรูจมูกประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร จากนั้นคลายนิ้วที่บีบลูกยางช้า ๆ เพื่อดูดน้ำมูกเข้าไปในลูกยาง แล้วบีบน้ำมูกทิ้งในกระดาษทิชชู
- ทำซ้ำจนกว่าจะไม่มีน้ำมูกเหลืออยู่ในจมูก
- ทิ้งกระดาษทิชชูที่เลอะน้ำมูกในถังขยะที่ปิดมิดชิด
- หลังล้างจมูกทารกแล้ว ควรล้างหยอดหยดและลูกยางแดงให้สะอาด ตากให้แห้งสนิท แล้วเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด