backup og meta

ที่ดูดน้ำมูกทารก วิธีใช้และการทำความสะอาด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    ที่ดูดน้ำมูกทารก วิธีใช้และการทำความสะอาด

    ที่ดูดน้ำมูกทารก มักใช้เมื่อทารกมีน้ำมูกหรือเสมหะมากในช่วงเช้าหลังตื่นนอนและช่วงก่อนนอน นอกจากนี้ ยังใช้เมื่อทารกมีอาการเจ็บป่วย เช่น คัดจมูก ไข้หวัด โรคปอดบวม ไวรัสทางเดินหายใจ เพื่อช่วยดูดเอาเมือกส่วนเกินทั้งในจมูก ปากและลำคอออกมา ทำให้ทารกหายใจสะดวกและสบายตัวมากขึ้น

    ที่ดูดน้ำมูกทารก ใช้เพื่ออะไร

    ที่ดูดน้ำมูกทารก ใช้เพื่อดูดน้ำมูกในจมูกหรือเสมหะในลำคอของทารก เนื่องจากทารกยังไม่สามารถสั่งน้ำมูกหรือบ้วนเสมหะออกมาได้เอง ทั้งยังช่วยให้ทารกหายใจสะดวกขึ้น ลดอาการร้องไห้งอแงเนื่องจากความไม่สบายตัวและช่วยลดการผลิตสารคัดหลั่งในร่างกายมากจนเกินไปในขณะที่ทารกมีอาการป่วยจากโรคเหล่านี้

  • ไข้หวัด คัดจมูก หรือไข้หวัดใหญ่
  • ไวรัสระบบทางเดินหายใจ (RSV)
  • โรคปอดบวม
  • หลอดลมฝอยอักเสบ
  • นอกจากนี้ การดูดน้ำมูกทารกอาจจำเป็น หากทารกมีภาวะความเจ็บป่วยอื่น ๆ เช่น

    • การไอของทารกเนื่องจากมีเสมหะมาก จำเป็นต้องใช้ที่ดูดเสมหะเพื่อบรรเทาอาการไอ
    • ความเจ็บป่วยหรืออาการบาดเจ็บบางอย่างที่อาจส่งผลต่อเส้นประสาทและสมอง อาจทำให้ความสามารถในการไอลดลง ทำให้น้ำมูกหรือเสมหะสะสมที่ด้านหลังลำคอ จมูกและปาก จึงจำเป็นต้องใช้ที่ดูดน้ำมูกช่วยดูดออกมา

    วิธีใช้ที่ดูดน้ำมูกทารก

    การดูดน้ำมูกทารก จะใช้น้ำเกลือหยดเข้าไปในจมูกเพื่อให้เสมหะหรือขี้มูกนิ่ม ก่อนเริ่มการดูดน้ำมูกทารก คุณแม่จึงควรอุ่นน้ำเกลือก่อนเสมอ โดยนำขวดน้ำเกลือไปแช่ลงในน้ำเดือดประมาณ 5 นาที และก่อนนำน้ำเกลือมาใช้ล้างจมูกทารก ควรทดสอบอุณหภูมิโดยการหยดน้ำเกลือที่หลังมือก่อนเสมอให้แน่ใจว่าไม่ร้อนจนเกินไป

    วิธีใช้ที่ดูดน้ำมูกทารกสามารถทำได้ ดังนี้

    • ควรใช้ผ้าห่อตัวทารกหากทารกดิ้น เพื่อช่วยให้การล้างจมูกง่ายขึ้นและไม่เกิดการบาดเจ็บ
    • จับทารกให้นอนในท่าศีรษะสูงเพื่อป้องกันการสำลัก
    • ใช้ที่ดูดน้ำมูกดูดน้ำเกลือจนเต็ม
    • ค่อย ๆ หยดน้ำเกลือครั้งละ 2 –3 หยด เข้าไปในรูจมูกของทารก
    • ใช้ที่ดูดน้ำมูกค่อย ๆ สอดเข้าไปในรูจมูกลึกประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร แล้วค่อย ๆ ปล่อยมือที่บีบออกช้า ๆ เพื่อดูดน้ำมูก จากนั้นบีบน้ำมูกที่ได้ทิ้งลงกระดาษทิชชู่
    • ทำซ้ำทั้งสองข้างหลาย ๆ ครั้งจนไม่มีน้ำมูก

    หากมีเสมหะในลำคอ ให้สอดที่ดูดเข้าทางปากเพื่อดูดเสมหะในลำคอออก หรือถ้าต้องการให้ทารกไอเอาเสมหะออก ให้สอดที่ดูดลึกประมาณโคนลิ้นเพื่อกระตุ้นให้ไอและทำการดูดเสมหะออก

    แนะนำให้ล้างจมูกทารกก่อนกินอาหารหรือหลังจากกินอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันอาการอาเจียนและสำลัก และล้างจมูกให้ทารกอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ช่วงตื่นนอนตอนเช้าและก่อนเข้านอนตอนกลางคืน หรือเมื่อทารกมีอาการแน่นจมูก หายใจไม่สะดวก น้ำมูกมาก หรือก่อนใช้ยาหยอดจมูก

    การทำความสะอาดที่ดูดน้ำมูกทารก

    หลังจากใช้งานที่ดูดจมูกทารกทุกครั้ง ควรทำความสะอาด ดังนี้

    • บีบปลายหลอดในน้ำเกลือ น้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน เพื่อดูดน้ำเข้าและทำความสะอาดด้านในด้วยการเขย่า จากนั้นบีบน้ำสบู่ออกทั้งหมดแล้วทำความความสะอาดด้วยน้ำอุ่นหลาย ๆ ครั้งด้วยการดูดน้ำเข้าไปในที่ดูดจมูกและเขย่า
    • เมื่อล้างจนสะอาด ควรนำที่ดูดจมูกทารกไปต้มในน้ำเดือดวันละครั้ง โดยดูดน้ำเดือดเข้าด้านใน และต้มประมาณ 5 นาที จากนั้นบีบน้ำที่ค้างด้านในออกจนหมด
    • เมื่อเสร็จแล้วให้คว่ำปลายลงเพื่อให้น้ำด้านในไหลออกมาจนหมด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา