backup og meta

สบู่เด็ก ควรเลือกแบบไหน ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 17/03/2023

    สบู่เด็ก ควรเลือกแบบไหน ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

    สบู่เด็ก ที่ดีควรมีส่วนผสมที่ไม่รุนแรงต่อผิวบอบบางของเด็ก ให้ความชุ่มชื้นและควรมีสารอาหารที่ช่วยบำรุงให้ผิวแข็งแรง เพื่อป้องกันปัญหาผิวในเด็ก เช่น ระคายเคืองผิว ผิวแดง ผดผื่น อาการแพ้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรอ่านฉลากสบู่เด็กก่อนเลือกซื้อทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยต่อผิวของเด็ก

    สบู่เด็ก ควรเป็นอย่างไร

    สบู่เด็ก ควรเป็นสบู่ที่ไม่มีสารเคมีรุนแรง ไม่มีฟอง อ่อนโยน ให้ความชุ่มชื้นกันผิวและควรเป็นส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติ เช่น โปรตีนนม วิตามินอี น้ำผึ้ง กลีเซอรีน อัลมอนด์ น้ำมันมะกอก ซึ่งเป็นสารอาหารที่ช่วยบำรุงผิว ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น อ่อนนุ่มและเรียบเนียนดูสุขภาพดี ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดความระคายเคืองอีกด้วย

    อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงสบู่เด็กที่มีส่วนผสมบางชนิดที่รุนแรงต่อผิวเด็ก เช่น

    • เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol)
    • โพรพิลีนไกลคอล (Propylene Glycol)
    • โซเดียมลอเรทซัลเฟต (Sodium Laureth Sulfate หรือ SLS)
    • โคคามิโดโพรพิลบีเทน (Cocamidopropyl Betaine)
    • โคโคนัทไดเอทาโนลาไมด์ (Coconut Diethanolamide หรือ CDE)
    • โพรพิลพาราเบน (Propylparaben)
    • ไทรโคลซาน (Triclosan)

    เนื่องจากส่วนผสมเหล่านี้หากใช้เป็นเวลานานอาจทำร้ายผิวของเด็ก ทำให้ผิวเกิดความระคายเคืองได้ง่าย และอาจมีสารตกค้างที่เป็นพิษต่อร่างกายเด็ก นอกจากนี้ สบู่เด็กบางชนิดอาจมีส่วนผสมของน้ำหอมที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่ทำให้เกิดความระคายเคืองต่อผิว โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาผิวบอบบางแพ้ง่าย ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพเด็กในระยะยาวได้

    สำหรับเด็กกลุ่มที่มีปัญหาผื่นผิวหนัง ผื่นแพ้เรื้อรังทุกชนิด แนะนำหลีกเลี่ยงสบู่ที่มีส่วนผสมจากอาหารทุกชนิด เนื่องจากการได้รับส่วนประกอบของอาหารผ่านช่องทางอื่นนอกเหนือไปจากการรับประทานจะเสี่ยงต่อการเกิดภูมิแพ้ต่อสารนั้นๆในอนาคตมากขึ้น

    ควรใช้สบู่เด็กอาบน้ำได้เมื่อไหร่

    สบู่เด็ก ควรเริ่มใช้เพื่อทำความสะอาดผิวเมื่อเด็กมีอายุประมาณ 1 ปี ซึ่งควรเลือกสบู่เด็กสูตรอ่อนโยนต่อผิว ไม่มีฟอง และมีส่วนผสมที่ให้ความชุ่มชื้น เพื่อป้องกันการระคายเคืองที่อาจเกิดขึ้นกับผิวของเด็ก

    สำหรับเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี อาจไม่จำเป็นต้องใช้สบู่เด็กในการทำความสะอาดร่างกาย สามารถอาบน้ำให้เด็กด้วยน้ำเปล่าอุณหภูมิปกติ เว้นแต่การทำความสะอาดบริเวณก้นและรอยพับตามผิวหนัง หรือบริเวณผิวหนังที่เปื้อนสิ่งสกปรก

    นอกจากนี้ แนะนำให้อาบน้ำเด็กไม่เกิน 3 ครั้ง/สัปดาห์ในช่วงปีแรก เนื่องจากการอาบน้ำบ่อย ๆ อาจทำให้เด็กผิวแห้ง โดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศแห้งและหนาวเย็น และไม่ควรให้เด็กแช่น้ำในอ่างอาบน้ำเป็นเวลานาน เพราะอาจเสี่ยงทำให้ท่อปัสสาวะระคายเคืองและเสี่ยงติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง

    วิธีอาบน้ำให้กับเด็ก

    วิธีอาบน้ำเด็กอาจทำได้ ดังนี้

    • ควรอาบน้ำให้เด็กโดยใช้น้ำอุณหภูมิปกติ หรือไม่เกิน 24 องศาเซลเซียส
    • วางเด็กไว้บนเบาะรองอาบน้ำหรือผ้าขนหนูหนา ๆ บนพื้นผิวที่สะดวกต่อการอาบน้ำให้เด็ก
    • เริ่มทำความสะอาดใบหน้าของเด็ก ด้วยการใช้ผ้าขนหนูขนนุ่มชุบน้ำสะอาดหรือสำลีเช็ดตาแต่ละข้าง โดยเริ่มเช็ดจากสันจมูกแล้วเช็ดออกไปจนถึงมุมตา
    • ล้างหน้าส่วนที่เหลือด้วยผ้าขนหนูขนนุ่มชุบน้ำหมาด ๆ โดยไม่ต้องใช้สบู่
    • เช็ดทำความสะอาดส่วนพับของหูด้านนอกด้วยผ้าขนหนูขนนุ่ม แต่ห้ามสอดก้านสำลีเข้าไปในช่องหูของเด็ก เพราะอาจเสี่ยงทำให้แก้วหูได้รับบาดเจ็บ
    • สามารถใช้สบู่เด็กในปริมาณเล็กน้อยเติมลงในน้ำหรือผ้าขนหนูขนนุ่ม จากนั้นค่อย ๆ อาบน้ำให้เด็กจากบริเวณคอลงมา และล้างออกด้วยผ้าชุบน้ำสะอาดหรือน้ำสะอาดเล็กน้อย แต่ระวังอย่าให้สายสะดือเปียก
    • ในระหว่างอาบน้ำไม่จำเป็นต้องขัดถู แต่ให้ใช้การนวดแขนและขาด้วยการลูบเบา ๆ ระหว่างอาบน้ำ
    • ใช้เวลาอาบต่อครั้งนานประมาณ 5-10 นาที
    • หลังจากอาบน้ำสามารถห่อตัวเด็กด้วยผ้าขนหนูก่อนสระผม จากนั้นสระผมด้วยแชมพูสำหรับเด็กในปริมาณเล็กน้อย ล้างออกด้วยน้ำสะอาดอย่างระมัดระวังอย่าให้น้ำไหลเข้าหน้าหรือตาของเด็ก

    เมื่ออาบน้ำและสระผมให้เด็กเสร็จเรียบร้อย ควรห่อตัวเด็กด้วยผ้าขนหนู ทาครีมบำรุงผิวสำหรับเด็กเพื่อรักษาความชุ่มชื้นบนผิวหนัง และสามารถทาแป้งในบริเวณข้อพับต่าง ๆ เพื่อป้องกันความอับชื้น แต่ควรเทแป้งลงบนมือและทาให้ทั่วผิวเด็ก พยายามอย่าให้แป้งฟุ้งกระจายเพราะฝุ่นแป้งอาจส่งผลเสียต่อปอดและระบบทางเดินหายใจของเด็กได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 17/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา